ก่อนที่การประชุม “ความร่วมมือลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง” ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศทั้งจากไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีน ซึ่งจะมีขึ้นเป็นครั้งแรก วันที่ 12 พ.ย. ที่เมืองจิ่นหง หรือเชียงรุ่ง สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน โดยรัฐบาลไทย-จีน เป็นประธานร่วมกันนั้น
มร.จาง จิ่วหวน อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย มาเผยถึงข้อมูลเบื้องต้นความร่วมมือดังกล่าวที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เมื่อไม่กี่วันก่อน หลังมีการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงครั้งที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่จังหวัดเชียงราย
ซึ่งก่อนนี้ มร.หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน พบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก 6 ประเทศที่กรุงปักกิ่ง โดยระบุว่า ประเทศตามลุ่มแม่น้ำโขงต่างเป็นพันธมิตรร่วมสำคัญของจีนในการสร้างประชาคมที่มีชะตาร่วมกัน ความร่วมมือตามลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงนี้นั้นจะอำนวยสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กันบนพื้นฐานความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ดี ทั้ง 6 ประเทศจึงต้องกุมโอกาสนี้ไว้ให้ดี ประสานความร่วมมือ และบรรลุชัยชนะสร้างประชาคมลุ่มแม่น้ำล้านช้าง และแม่น้ำโขงด้วยกัน
ขณะที่ มร.จาง อธิบายถึงกลไกความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเป็นแนวคิดของไทย จุดประสงค์หลักคือ กระตุ้นพัฒนา สร้างความเท่าเทียม ผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีขอบเขต 3 หลักใหญ่ 1.ด้านการเมือง ซึ่งต้องไว้เนื้อเชื่อใจกัน 2.ด้านความปลอดภัยทางลำน้ำ รวมยาเสพติด การค้ามนุษย์ ค้าของเถื่อน โจรสลัด นับแต่เกิดคดีปล้นเรือขนส่งสินค้าของจีนและฆ่าลูกเรือ 13 ศพ ที่แม่น้ำโขงเมื่อปี 2554 และ 3. เป็นเรื่องสังคมมนุษย์ รวมถึงคุณภาพน้ำ สิ่งแวดล้อม กระตุ้นไปมาหาสู่และเชื่อมความรู้ความเข้าใจระหว่างประชาชน
สำหรับความช่วยเหลือทางการเงิน มาจากรัฐบาลทั้ง 6 ประเทศ ซึ่งรัฐบาลจีนจะใช้เงินสนับสนุนของกองทุนและเงินกู้ดอกเบี้ยพิเศษ รวมถึงกองทุนต่างๆ ทั้ง กองทุนความร่วมมือของอาเซียน-จีน (ACCF) กองทุนอนามัยจีน-อาเซียน กองทุนความร่วมมือทางทะเลจีน-อาเซียน (China-ASEAN Maritime Coo-peration Fund) กองทุนความร่วมมือด้านการลงทุนจีน-อาเซียน (China-ASEAN Investment Cooperation Fund) ทั้งหมดจะมีบทบาทผลักดันประชาคมอาเซียนเติบโตก้าวหน้า ให้แต่ละประเทศที่ยังด้อยพัฒนามีการพัฒนาดีและมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนมากขึ้น
...
ความแตกต่างระหว่าง GMS ซึ่งมีธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB : Asian Development Bank) ให้การสนับสนุนหลัก มร.จางมองว่า ที่ผ่านมาถือว่ายังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการ 6 ประเทศได้อย่างจริงจังและเต็มที่ ขณะที่โครงการนี้จะช่วยเสริมหรือพัฒนาร่วมกับ GMS เพราะมีการเปิดกว้างอย่างแท้จริงและไม่ถือว่าเป็นการทำงานที่ทับซ้อนแต่อย่างใด...
ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ