พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ และยื่นข้อเสนอหลายประการในทันที หลังจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นพรรคเพื่อไทยเสนอให้รัฐธรรมนูญมีเป้าหมายที่ชัดเจน ให้ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ท้วงติงว่าเงื่อนไข 10 ข้อในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แม้พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกเงื่อนไขที่เรียกว่า “บัญญัติ 10 ประการ” แต่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ยังยืนยันในหลักการเดิมแสดงว่าการร่างรัฐธรรมนูญยกใหม่จะต้องทำตามเงื่อนไขมาก นอกจากเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว อาจมีเงื่อนไขของ คสช.อีกด้วย ตามคำกล่าวที่ว่า “ลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ”
น่าสงสัยว่าทำไมพรรคเพื่อไทย จึงไม่ชอบมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งตั้งเงื่อนไขในการร่างรัฐธรรมนูญไว้ เพราะส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นหลักการปกติ เช่น ประเทศไทยต้องปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นต้น
แต่เงื่อนไขบางอย่างอาจเป็นของแสลงใจ เช่น ห้ามผู้ที่เคยถูกศาลพิพากษาว่าทุจริตหรือผู้ที่เคยโกงการเลือกตั้ง ไม่ให้ดำรงตำแหน่งการเมืองอย่างเด็ดขาด กลายเป็นผู้ถูกสาปทางการเมืองตลอดชาติ เพราะถือว่าทำความผิดทางการเมืองร้ายแรง ถึงขั้นที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า “อนันตริยกรรม”เป็นบาปสุดสุด ห้ามสวรรค์ห้ามนิพพาน มีทางไปทางเดียวคือนรก
สังคมไทยอาจยังเห็นต่างกัน ในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน บางฝ่ายอาจถือเป็นเรื่องปกติ แม้แต่ประชาชนทั่วไปมิใช่น้อย ก็มีความเห็นเช่นนั้น (จากผลการสำรวจหรือโพล) แต่บางฝ่ายเห็นต่าง ชัดเจนที่สุดคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี กล่าวย้ำอีกครั้ง เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ว่าการทุจริตคือศัตรูหมายเลข 1 ของชาติ เป็นการปล้นชาติและปล้นคนไทยทุกคน
...
นายธานินท์ กรัยวิเชียร องคมนตรี มีจดหมายส่วนตัวถึงนายกรัฐมนตรี ระบุว่า สาเหตุที่การแก้ปัญหาทุจริต ขาดประสิทธิภาพ เพราะให้โอกาสแก่นักการเมืองที่เคยโกงกินกลับมามีอำนาจอีก หลังจากพ้น 5 ปี จึงสมควรตัดไฟแต่ต้นลม ห้ามไม่ให้คนโกงกลับมาทำผิดซ้ำ สอดคล้องกับรัฐธรรม-นูญชั่วคราว ที่บังคับไว้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่ ต้องให้นักการเมืองโกงเป็นผู้ต้องห้าม
การทุจริตไม่ใช่เรื่องจินตนาการ แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจริง ข้อมูลล่าสุดของ ป.ป.ช.ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2558 มี คดีทุจริตเข้าสู่การพิจารณาของ ป.ป.ช. 193 คดี ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ปี 2556 มี 34 คดี ปี 2557 มี 63 คดี ส่วนปี 2558 มี 96 คดี แสดงว่าแม้แต่ในยุค คสช.ที่มีอำนาจเด็ดขาด แต่ก็ยังมีคนกล้าล้วงคองูเห่าตามปกติ.