รองโฆษกเพื่อไทย ควง อดีตรมว.ไอซีที แสดงจุดยืน ต่อต้าน 'ซิงเกิล เกตเวย์' ระบุ เกิดผลเสียมากกว่าผลดี สุ่มเสี่ยงละเมิดสิทธิ์ ผู้ลงทุนขาดความมั่นใจ-เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อการใช้งาน ...

วันที่ 1 ต.ค. 58 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงจุดยืนของพรรคไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งซิงเกิล เกตเวย์ เพราะหากปล่อยให้มีการดำเนินการโครงการต่อไป เชื่อว่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะการควบคุมข้อมูลต่างๆของรัฐ มีความสุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงมีและควรได้รับการคุ้มครองโดยปราศจากเงื่อนไขตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันเป็นสากล

ทั้งนี้ แม้ว่าโครงการดังกล่าวภาครัฐจะสามารถควบคุมดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จ สามารถคัดกรองข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และปิดกั้นข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชน รวมถึงสามารถใช้คุณลักษณะของระบบเพื่อควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมได้อย่างสะดวก แต่โครงการดังกล่าวหากดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง เชื่อได้ว่าจะส่งผลกระทบด้านลบอื่นๆ ตามมาหลายประการเช่นกัน เพราะจากข้อเท็จจริงที่ผู้เชี่ยวชาญด้าน IT จำนวนมากได้แสดงความเห็นพบว่าเมื่อประเทศไทยเปลี่ยนวิธีการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศจากหลายช่องทางเป็นช่องทางเดียว ข้อมูลจำนวนมากย่อมไหลเข้าออกในช่องทางเดียว

“เมื่อไรก็ตามที่ปริมาณข้อมูลมีจำนวนมาก เมื่อนั้นย่อมส่งผลให้ความเร็วในการให้บริการอินเทอร์เน็ตลดลง และเมื่อไรก็ตามที่ช่องทางสื่อสารช่องทางเดียวเกิดปัญหาทางเทคนิค หรือเกตเวย์ ล่มใช้งานไม่ได้ ความผิดพลาดดังกล่าวอาจส่งผลให้ระบบอินเทอร์เน็ตล่มทั้งประเทศ และถ้าเป็นเช่นนั้น เหตุการณ์ในลักษณะนี้ย่อมส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อภาคธุรกิจ ผู้ลงทุนทั้งหลายทั้งในและนอกประเทศย่อมขาดความมั่นใจและเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการใช้บริการระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย”

...

นอกจากนั้น จะส่งผลให้ประเทศไทยอาจขาดโอกาสที่จะยกระดับขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งหากผู้มีอำนาจ ดำเนินการควบคุมข้อมูลต่างๆ อย่างไม่เป็นระบบและขาดมาตรฐานที่ชัดเจน การดำเนินการดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในความเป็นส่วนตัวของประชาชน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ในระบบการสื่อสารช่องทางเดียวนี้ หากผู้มีอำนาจมีความประสงค์จะตรวจสอบหรือปิดกั้นข้อมูลต่างๆ ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และ social media ในประเทศไทย ก็สามารถดำเนินการได้อย่างไม่มีข้อจำกัด