"เงินทอง" ถือเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใคร ขนาดเพื่อนซี้มนุษย์เงินเดือน หากรู้ว่าใครมีเงินเดือนมากกว่าแม้แต่บาทเดียว ก็ทำให้ทะเลาะหรือเสียเพื่อนกันได้ นับประสาอะไรกับเงินมหาศาลนับพันนับหมื่นล้าน จะทำให้ญาติพี่น้องกลายเป็นศัตรูกันได้ ทั้งนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้รวบรวมคดีฟ้องร้องชิง "มรดก" ที่ถูกจารึกเป็นประวัติศาสตร์ให้ได้ติดตาม...

2 ทายาทตระกูล 'รังสิต' ชนะคดีบันลือโลก เงินมรดกหมื่นล้าน

เรียกว่าเป็นข่าวใหญ่ และบันลือโลก สำหรับคดีฟ้องร้องเรียกคืนมรดกกว่า 7,000-14,000 หมื่นล้าน ของ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ธิดาคนเล็กของ ม.จ.ปิยะรังสิต รังสิต กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต สายพระโลหิตในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในฐานะอดีตพระชายาของ มหาราชจกัต ซิงห์ แห่งราชวงศ์ชัยปุระ ในรัฐราชสถานของอินเดีย ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปเมื่อปี 2540 โดยศาลฎีกาตัดสินให้นายเทพราช ซิงห์ และ น.ส.ลลิตยา กุมารี สองพี่น้องผู้เป็นทายาทของมหาราชจกัต ซิงห์ กับอดีตพระชายาราชนิกุลไทย ได้รับชัยชนะในการยื่นคัดค้านพินัยกรรมของมหารานี คยาตรี เทวี พระชายาองค์ที่ 3 ในมหาราชาสวัย มัน ซิงห์ ที่ 2 แห่งราชวงศ์ชัยปุระ พระราชมารดาในมหาราชจกัต ซิงห์ ผู้ทรงเป็นท่านย่าของนายเทพราชและ น.ส.ลลิตยา เมื่อวันที่ 23 ก.ย.

...

เนื้อหาในพินัยกรรมของมหารานี คยาตรี เทวี ได้มอบสิทธิ ในการจัดการสมบัติของมหาราชจกัต ซิงห์ ให้แก่คณะกรรมการบริหารบริษัทราม-บักห์ พาเลซ โฮเต็ล พีวีที จำกัด รวมถึงบริษัทอื่นๆ รับหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สมบัติที่สืบทอดมาจากมหาราชาสวัย มัน ซิงห์ ที่ 2 ขณะที่นายเทพราช และ น.ส.ลลิตยา ซึ่งยื่นฟ้องร่วมกัน ระบุว่ามหารานี คยาตรี เทวี ทรงทำพินัยกรรมในขณะที่ทรงมีพระชนมายุมาก ทั้งยังมีสุขภาพอ่อนแอ จนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการพูด จึงอาจถูกแทรกแซง โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายอื่นๆ

ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ซึ่งอยู่ที่ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับ นสพ.ไทยรัฐว่า รู้ว่าศาลจะตัดสินคดีนี้ในวันที่ 24 ก.ย. และรู้สึกโล่งใจมากที่ศาลฎีกาอินเดียยืนคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และสั่งยกฟ้องคำอุทธรณ์ของอีกฝ่าย ทำให้เทพราชและลลิตยาเป็นฝ่ายชนะคดีแบบขาดลอย ต่อจากนี้ไปก็จะเป็นเรื่องของการบังคับคดี ซึ่งยังมีอีกหลายขั้นตอนและต้องเดินทางไปๆ มาๆ อินเดียอีกหลายครั้ง เพื่อตามเรื่องการโอนหุ้นให้ลูกทั้ง 2 คน และจัดการเรื่องบัญชีต่างๆ นานา ทั้งนี้ เรื่องหุ้นที่มีจำนวน 99 เปอร์เซ็นต์แต่ถูกยักยอกไปจนเหลือเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ก็ต้องสะสางกัน

ศึกบ้านใหญ่-บ้านเล็ก ชิงมรดก 'บิ๊กจอด' ร่วม 4 พันล้าน!

"ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน" คติธรรม 3 อย่างของ "บิ๊กจ๊อด" หรือ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีต ผบ.สส. อดีตประธานสภารักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ผู้มีบทบาทสำคัญในการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจมาจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2534

2 สิงหาคม 2542 พล.อ.สุนทร ถึงแก่อนิจกรรม จากนั้น 15 กันยนยน 2542 นางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร ภรรยาคนที่ 2 ของ "บิ๊กจ๊อด" ได้ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ต่อมา พ.อ.(หญิง) คุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ ภรรยาหลวงและบุตรชายทั้งสอง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางอัมพาพันธ์ หรือ ยุ้ย และบุคคลอื่นร่วมเป็นจำเลย 12 คน ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อขอให้แบ่งทรัพย์สิน ซึ่งมีมูลค่า 4 พันล้านบาท!!

จากพินัยกรรมของ พล.อ.สุนทร ได้จัดทำขึ้น 2 ฉบับ ในช่วงเวลาต่างกัน โดยฉบับที่เขียนด้วยลายมือ ระบุวันที่ 21 ก.ค.2536 ว่า เมื่อเสียชีวิตไปแล้วให้ยกทรัพย์สินที่ทำธุรกิจร่วมกับนางอัมพาพันธ์ เป็นกรรมสิทธิ์ของนางอัมพาพันธ์เพียงผู้เดียว ส่วนฉบับตีพิมพ์ดีด ระบุทำพินัยกรรม วันที่ 25 พ.ย.2536 ให้แบ่งเงินสดหรือเงินในบัญชีธนาคารให้นางอัมพาพันธ์ พ.ต.อ.อภิรัชด์ คงสมพงษ์ และ ร.ท.ณัฐพร คงสมพงษ์ ในสัดส่วน 50:25:25 พินัยกรรมนี้จึงนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่าง พ.อ.(หญิง)อรชร กับ นางอัมพาพันธ์ เนื่องจากเนื้อหาในพินัยกรรมไม่มีการอ้างถึงการยกกรรมสิทธิ์แก่ พ.อ.(หญิง)อรชร

...

เปิดทรัพย์สิน บิ๊กจ๊อด กับสิ่งที่สังคมเคลือบแคลง

ทรัพย์มรดก พล.อ.สุนทร ที่ พ.อ.(หญิง) คุณหญิงอรชร และบุตร 2 คนฟ้องร้องเรียกทรัพย์สินสมรส มรดก มูลค่า 3,916,229,456 บาท ประกอบด้วยบ้านและที่ดินย่านสุขุมวิท มูลค่า 400 ล้านบาท เงินสดในบัญชีธนาคารพาณิชย์ในประเทศ 2,755 ล้านบาท ธุรกิจปั๊มน้ำมันและรถบรรทุก 280 ล้านบาท เงินค่าขายบ้านที่กรุงลอนดอน 58 ล้านบาท เงินฝากในธนาคารกรุงลอนดอน 57 ล้านบาท ฯลฯ ขณะที่นางอัมพาพันธ์ยืนยันว่า ทรัพย์สินเหล่านั้นได้มาอย่างสุจริต โดยมีทรัพย์สินในกองมรดกของ พล.อ.สุนทร เพียง 59 ล้านบาท คือ เงินฝากในธนาคาร ที่กรุงลอนดอน 57 ล้านบาท หุ้นล้านบาทเศษ และปืนออโตเมติก 9 มม. อีก 1 กระบอก

การฟ้องร้องครั้งนี้ กลายเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ เพราะมีประเด็นเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ชาติ เพราะสงสัยว่า ข้าราชการทหารอาชีพ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ จะร่ำรวยมีทรัพย์สินเกือบ 4 พันล้านได้อย่างไร ตอนนั้นจึงมีกระแสให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตรวจสอบการเสียภาษีและการได้มาซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว โดยแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. หรือการออกกฎหมายพิเศษเพื่อตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน โดยหากพบว่าได้มาโดยมิชอบก็ให้ยึดเป็นของแผ่นดิน

...

"รู้สึกแปลกใจที่เห็นทรัพย์สินของ พล.อ.สุนทร มากมายขนาดนี้ เชื่อว่าน่าจะได้มาช่วง รสช. มากกว่าเป็นนายทหาร ควรจะมีการตรวจสอบ เริ่มจากดูบัญชีเงินสดว่าได้มาอย่างไร หรือตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ซึ่งในหลายประเทศมีการตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติ" นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ว.นครราชสีมา กล่าวเมื่อวันที่ 20 มี.ค.
2544

ขณะที่ นายปรีชา สุวรรณทัต อดีตกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) กล่าวถึงข้อเสนอพิเศษว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ใช่การยึดทรัพย์ แต่เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของทรัพย์สิน และจะเป็นการช่วยอุดช่องว่างกฎหมาย ป.ป.ช. ด้วย เพราะในอนาคตกรณีนี้อาจเกิดขึ้นอีก ส่วนอีกวิธีที่เสนอคือการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง โดยให้กรมสรรพากรเข้าตรวจสอบ เนื่องจากอายุความไม่ถึง 10 ปี ถือว่าเรื่องยังไม่จบ

ส่วนในภาคประชาชนนั้น ก็มีตัวแทนจากสมาพันธ์ประชาธิปไตย และ องค์กรประชาชน นำโดย นพ.เหวง โตจิราการ กรรมการฯ ได้ยื่นหนังสือถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ขอให้ดำเนินการตรวจสอบภาษี เช่นเดียวกับ นายสุริยะใส กตะศิลา รองเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้ยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสรรพากร

ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กล่าวถึงการเรียกร้องของภาคประชาชนให้ออกกฎหมายเรื่องมรดก พล.อ.สุนทร ว่า ขณะนี้ กำลังหารือภายในว่าจะหาทางออกที่ดีที่สุดว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรแค่ไหน ส่วนการออกกฎหมายพิเศษนั้นต้องคิดให้ดี ไม่ใช่จะเสนอกฎหมายเรื่องอะไรก็ได้ ต้องมีเหตุผล โดยเฉพาะการออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลัง ในหลักสากลแล้วทำไม่ได้

จากเรื่องในบ้านไปสู่ศาล ขยายวงไปสู่รัฐสภา

จากนั้น ครม.มีมติ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบนักการเมืองและข้าราชการร่ำรวยผิดปกติ โดยมีนายปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รมว.มหาดไทย เป็นประธาน รมว.ยุติธรรมเป็น รองประธาน มีกรรมการประกอบด้วย ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รมช.คลัง, เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), อธิบดีกรมสรรพพากร เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และ ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดูแลเรื่องการเสียภาษี การทำผิดกฎหมาย และถ้าเป็นเรื่องร่ำรวยผิดปกติ ก็จะส่งเรื่องให้กับ ป.ป.ช.

...

"ผมกับ พล.อ.สุนทร มีความสัมพันธ์ปกติธรรมดา ระหว่างคนที่รู้จักกัน ไม่มีความลึกซึ้งใดๆ โดยเฉพาะการได้สัมปทานสถานีดาวเทียมไทยคม ขณะนั้นผู้ให้ความเห็นชอบโดยรัฐบาลที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุนทร ไม่มีอำนาจในการพิจารณาเลย" พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2544

เรื่องนี้วุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ ขึ้นมาตรวจสอบทรัพย์สินของ พล.อ.สุนทร กระทั่งวันที่ 4 พ.ค.2548 มีการประชุมวุฒิสภา เพื่อรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ติดตามการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของอดีตประธาน รสช. นายทองใบ ทองเปาด์ ส.ว.มหาสารคาม ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ได้แบ่งการพิจารณาเป็น 3 ประเด็นคือ 1. ทรัพย์สินของ พล.อ.สุนทรและบุคคลใกล้ชิดตามที่ตกเป็นข่าวจากการฟ้องร้องแบ่งมรดกนั้น มีอยู่จริงหรือไม่ 2. ทรัพย์สินเหล่านั้นได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และ 3. ทรัพย์สินเหล่านั้นเสียภาษีเงินได้หรือไม่

บทสรุป ไม่ร่ำรวยผิดปกติ!  

จากการตรวจสอบพบว่ารายการทรัพย์สินที่เป็นรูปธรรมของ พล.อ.สุนทร มีจำนวนไม่มาก และไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินเกินฐานะความเป็นอยู่ หรือเกินกว่าตำแหน่งหน้าที่ในราชการ คณะกรรมาธิการฯ จึงมีข้อสันนิษฐานพอเชื่อได้ว่า พล.อ.สุนทร มิได้มีทรัพย์สินร่ำรวยเกินฐานะหรือผิดปกติแต่อย่างใด ในส่วนของนางอัมพาพันธ์ธเนศเดชสุนทร ที่ใช้ชีวิตร่วมกับ พล.อ.สุนทร นานกว่า 20 ปี มีประวัติเคยเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ไม่ได้ประกอบธุรกิจและกิจการค้าเป็นรูปธรรม ไม่ได้ประกอบการงานใดเป็นหลักแหล่ง คณะกรรมาธิการฯ ได้ขอให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบการได้มาซึ่งทรัพย์สิน รวมถึงการฝาก-ถอนเงินแต่ไม่พบว่าเข้าข่ายมูลฐานความผิดกฎหมายฟอกเงิน จึงไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ ปปง. จึงประสานไปยังกรมสรรพากรให้ตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไป
       
ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า จากการตรวจสอบการเสียภาษีย้อนหลังของนางอัมพาพันธ์ ระหว่างปี 2534-2543 ของกรมสรรพากร โดยนำยอดเงินฝากทั้งหมด 29 บัญชี มาพิจารณามีข้อสรุปว่า นางอัมพาพันธ์ สามารถชี้แจงแหล่งที่มาของเงินได้ประมาณ 400 ล้านบาท แต่ไม่สามารถชี้แจงและพิสูจน์แหล่งที่มาของเงินสด 100 ล้านบาทได้ กรมสรรพากรจึงถือว่าเงินได้ 100 ล้านบาท ต้องนำมาคำนวณเสียภาษีพร้อมค่าปรับเป็นยอดเงิน 75 ล้านบาท

คณะกรรมการฯ ได้สรุปผลการตรวจสอบว่า ในทางปฏิบัติคณะกรรมการไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ทรัพย์สินส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับหน่วยราชการจึงไม่ได้รับความร่วมมือด้านข้อมูล รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินภาคเอกชนห้ามเปิดเผยข้อมูลลูกค้าต่อสาธารณชนด้วย รวมถึงควรมีช่องทางตรวจสอบข้อมูลในธนาคารหรือสถาบันการเงินในต่างประเทศได้ เพื่อป้องกันมิให้การลักลอบนำเงินหรือทรัพย์สินไปฝากในธนาคารต่างประเทศ และคงจะมีคำตอบให้สังคมได้ว่า “เป็นทหารรับใช้ชาติมา 30-40 ปี ทำไมถึงมีทรัพย์สินมากมายขนาดนี้”

ด้าน พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ส.ว. กทม. รองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ได้ตรวจสอบบัญชีที่เกี่ยวข้องกับนางอัมพาพันธ์ จำนวน 15 บัญชี พบว่ามีเงินไหลเข้าออกรวม 2,750 ล้านบาท แต่ละครั้งมียอดเงินเข้าออกคราวละ 70-80 ล้านบาท ซึ่ง ปปง. ไม่สามารถตรวจสอบยอดเงินดังกล่าวได้ว่านำไปทำอะไร เมื่อ ปปง. ขอเอกสารไปก็มีการบ่ายเบี่ยงตลอด นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบบัญชีของ พล.อ.สุนทร ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีเงินฝาก 60 ล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า พล.อ.สุนทร ไปเปิดบัญชีไว้จริงหรือไม่ หรือมีคนอื่นแอบอ้างชื่อทำให้ท่านต้องเสียหาย นางอัมพาพันธ์ อยู่กับ พล.อ.สุนทร มานาน ถ้าไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปของทรัพย์สินได้สังคมย่อมตั้งข้อครหา และที่ตนติดใจมากคือ เมื่อ พล.อ.สุนทร เสียชีวิต ทำไมผู้จัดการมรดกถึงนำบัญชีมาจัดสรรปันส่วนไม่ได้

ในที่สุด ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติให้ความเห็นชอบส่งรายงานฉบับนั้น พร้อมข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ไปให้คณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการพิจารณาต่อไป
       
อย่างไรก็ดี 18 พ.ย.2545 การฟ้องร้องระหว่างบ้านใหญ่และบ้านเล็กก็จบลง ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ หลังจากทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ ยอมความกันที่ห้องไกล่เกลี่ย และได้ทำสัญญาประนีประนอมต่อหน้าศาลก่อนที่ศาลจะอ่านคำสั่งในคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกว่า

นางอัมพาพันธ์ อยู่กินเป็นสามีภรรยากับเจ้ามรดกจนกระทั่งเสียชีวิต ผู้ตายทำพินัยกรรม 2 ฉบับ มอบให้นางอัมพาพันธ์ และ พล.อ.สมโภชน์ เป็นผู้จัดการมรดกและดำเนินการจัดพิธีศพ เมื่อศาลวินิจฉัยพินัยกรรม 2 ฉบับ แล้วเห็นว่าถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้ง ผู้คัดค้านทั้ง 3 ไม่ติดใจในกรณีพินัยกรรมปลอม เห็นว่าคดีตกลงกันได้ด้วยดีตามที่ศาลไกล่เกลี่ย ส่วน พล.อ.สมโภชน์ ผู้ร้องที่ 2 ขอถอนตัวจากผู้จัดการมรดก พิเคราะห์แล้วพิพากษาตั้งนางอัมพาพันธ์ ผู้ร้องคนที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียว
  
หลังยุติคดีได้ นางอัมพาพันธ์ ได้เซ็นเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 21 ล้านบาท ให้ พ.อ.หญิงคุณหญิงอรชร ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะลงนามรับทราบสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาล ท่ามกลางบรรยากาศชื่นมื่น

 


ศึกมรดกเลือด "ธรรมวัฒนะ" ยืดเยื้อ 14 ปี จบลงด้วยเจรจา

อีก 1 คดี มรดก ที่เป็นที่โจษขานจนถึงปัจจุบัน คือ คดีมรดกเลือดตระกูลธรรมวัฒนะ หลังจากวันที่ 6 กันยายน 2542 เสียงปืนดังสนั่นออกมาจากบ้านย่านสะพานใหม่ เมื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบว่า นายห้างทอง ธรรมวัฒนะ พี่ชายคนโตของบ้านเสียชีวิต ก่อนจะมีการตั้งข้อสงสัยต่างๆ นานา

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในตระกูลนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะหากไล่ย้อนกลับไปก่อนหน้านายห้างทองจะเสียชีวิต พบว่า พ่อ แม่ พี่น้องของนายห้างทอง ก็ถูกอุ้มฆ่าและลอบสังหารมาแล้วหลายราย โดยเริ่มจากคดีแรก

พ.ศ.2509 นายอาคม ฉัตรชัยยันต์ สามีคนที่สอง ของนางสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ ผู้ที่สร้างตลาดยิ่งเจริญ และเป็นที่มาของมรดกจำนวนมหาศาล ถูกลอบยิงเสียชีวิต

พ.ศ.2522 นางสุวพีร์ เอง ก็ถูกลอบยิง บาดเจ็บจนเป็นอัมพาต

พ.ศ.2525 น.ส.กุสุมา บุตรคนที่ 3 ของนางสุวพีร์ ถูกจ่อยิงขณะเดินตรวจตลาด

พ.ศ.2533 นางนัยนา ตามประกอบ บุตรคนที่ 6 ถูกอุ้มไปฆ่าอย่างทารุณ​

พ.ศ.2534 นายเทอดชัย ธรรมวัฒนะ พี่ชายคนโตถูกอุ้มหายตัวไป

สุดท้ายก็เป็นนายห้างทอง ที่เสียชีวิตภายในบ้านพัก เมื่อปี พ.ศ.2542 จากนั้นเป็นต้นมา ก็มีการฟ้องร้องกันมาโดยตลอดระยะเวลา 14 ปี กระทั่งปี 29 กรกฎาคม 2557 ศึกชิงมรดกกว่าหมื่นล้านที่ยืดเยื้อมานานก็จบลง ปิดตำนานศึกมรดกเลือด เมื่อญาติๆ ได้รวมตัวกันที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก และใช้เวลาไกล่เกลี่ยประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

นายปริญญา ธรรมวัฒนะ กล่าวภายหลังการประนอมข้อพิพาทว่า ขอขอบคุณศาลที่แนะนำให้ทางครอบครัวมาไกล่เกลี่ยคดีกัน จนได้ข้อตกลงที่ดีสำหรับทั้งสองฝ่าย สำหรับคดีความเกิดขึ้นตั้งแต่นายห้างทอง ธรรมวัฒนะ พี่ชายเสียชีวิต ก็เป็นเวลากว่า 14 ปีแล้ว จนเกิดคดีความฟ้องร้องกันขึ้นในครอบครัวทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา รวมถึงคดีที่ฟ้องร้องกับนายนพดล ธรรมวัฒนะ พี่ชายด้วย รวมทั้งสิ้น 48 คดี และในวันนี้ทุกฝ่ายก็สามารถตกลงและไกล่เกลี่ยกันได้

"ผมจะขายหุ้นและกิจการทั้งหมดให้กับนางนฤมล พี่สาว เพื่อบริหารกิจการต่อ ส่วนแนวทางการบริหารธุรกิจตลาดยิ่งเจริญจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับนางนฤมล และนางคนึงนิตย์ต่อไป โดยส่วนตัวไม่คิดว่าจะมีวันนี้ ซึ่งสามารถเคลียร์เรื่องและถอนฟ้องคดีทั้งหมดได้ หลังจากนี้ตนก็จะวางมือและใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ส่วนเรื่องธุรกิจให้ถือเป็นหน้าที่ของรุ่นลูกต่อไป สำหรับการประนีประนอมในวันนี้ถือว่าเป็นการปิดตำนานคดีที่ต่อสู้คดีความกันมายาวนานกว่า 14 ปี ส่วนมูลค่าซื้อขายหุ้นที่ตกลงกันได้นั้น ผมไม่ขอเปิดเผยตัวเลข แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือครอบครัวสงบสุข" นายปริญญา กล่าว.