ซีอีโอ–แฟ้มภาพ มาร์ติน วินเทอร์คอร์น (ซ้าย) ซีอีโอของ บ.โฟล์กสวาเกน เอจี กับแมทเทียส มุลเลอร์ ซีอีโอของ บ.พอร์ช เอจี (ขวา) นั่งคู่กันในรถพอร์ช 911 ก่อนที่วินเทอร์คอร์นจะลาออก เซ่นพิษ คดีโกงตรวจวัดค่าไอเสียรถยนต์ดีเซลอื้อฉาว (เอเอฟพี)
วงการอุตสาหกรรมรถยนต์โลก เกิดเรื่องอื้อฉาวที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เมื่อ “โฟล์กสวาเกน เอจี” บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติเยอรมนี ยอมรับว่า “เล่นไม่ซื่อ” แอบติดตั้งซอฟต์แวร์พิเศษ ซึ่งเรียก กันว่า “Defeat Device” (อุปกรณ์เอาชนะ) เพื่อโกงผลการตรวจสอบวัดค่าไอเสียรถยนต์ดีเซลหลายรุ่น
สำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (อีพีเอ) ของสหรัฐฯ ตรวจพบเรื่องนี้ ส่งผลให้โฟล์กสวาเกนถูกสั่งให้เรียกคืนรถยนต์ดีเซลถึง 482,000 คันในสหรัฐฯ คือรุ่นเจ็ตตา, บีเทิล, กอล์ฟ, พัสสาต และออดี้ เอ 3 โฟล์กสวาเกนยังเผยว่า มีรถยนต์ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ดังกล่าวในเครื่องยนต์ดีเซล “Type EA 189” ถึง 11 ล้านคันทั่วโลก
เมื่อเข้ารับการตรวจวัดค่าไอเสีย ซอฟต์แวร์ตัวนี้จะสั่งการให้เครื่อง ยนต์เข้าสู่โหมดนิรภัย ปล่อยไอเสียออกมาในระดับต่ำไม่เกินมาตรฐาน แต่เมื่อรถยนต์ออกวิ่งบนท้องถนนตามปกติ โหมดนิรภัยจะถูกยกเลิก ปล่อยก๊าซไอเสีย “ไนโตรเจนออกไซด์” สูงกว่าระดับมาตรฐานถึง 10-40 เท่า!
หลังถูกเปิดโปง โฟล์กสวาเกน ซึ่งมีอายุเก่าแก่ 78 ปี และเพิ่งครองแชมป์ขายรถยนต์มากที่สุดในโลกใน 6 เดือนแรกของปีนี้ ประกาศจัดสรรงบประมาณไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ถึง 6,500 ล้านยูโร (ราว 255,500 ล้านบาท) เพื่อครอบคลุมค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่นั่นอาจเป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะอีพีเอมีอำนาจสั่งปรับรถยนต์ที่ละเมิดมาตรฐานถึงคันละ 37,000 ดอลลาร์ เมื่อคิดรวมทั้งหมด 482,000 คัน ค่าปรับจะสูงถึง 18,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 630,000 ล้าน บาท) สูงกว่ากำไรจากการปฏิบัติการทั้งปีของโฟล์กสวาเกน!
...
นอกจากนี้ บรรดาผู้บริโภคและผู้ถือหุ้นของโฟล์กสวาเกนอาจยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเพิ่ม ขณะที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ สั่งสอบสวนคดีอาญา ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้บริหารของโฟล์กสวาเกนอาจมีความผิด
ส่วนอีกหลายประเทศ รวมทั้งอิตาลี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ ไปจนถึงอัยการรัฐของเยอรมนีเอง ก็สั่งสอบสวนเรื่องนี้เช่นกัน ฝรั่งเศสและอังกฤษยังเรียกร้องให้มีการสอบสวนทั่วยุโรป เพื่อความกระจ่างว่ามีการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้หรือไม่
ผลกระทบจากเรื่องนี้ยังทำให้ราคาหุ้นของโฟล์กสวาเกนตกวูบกว่า 30% ภายใน 2 วัน ส่งผล ให้มูลค่าบริษัทในตลาดหายวับไปถึง 25,000 ล้านยูโร (ราว 1 ล้านล้านบาท) ส่วนนายมาร์ติน วินเทอร์คอร์น ซีอีโอของโฟล์กสวาเกน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองวูล์ฟเบิร์ก ต้องลาออก หลังครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2550 คาดว่านายแมทเทียส มุลเลอร์ ซีอีโอของ “พอร์ช เอจี” บ.ผู้ผลิตรถยนต์สปอร์ตของโฟล์กสวาเกนจะเข้ามารับตำแหน่งแทน
ก่อนจะไขก๊อก วินเทอร์คอร์นแถลงขอโทษ และยอมรับว่า โฟล์กสวาเกนได้ “ทำลายความเชื่อถือของลูกค้าและสาธารณชน” จนย่อยยับ ส่วนไมเคิล ฮอร์น หัวหน้าสาขาโฟล์กสวาเกนใน สหรัฐฯ แถลงว่า “เราทำผิดพลาดโดยสิ้นเชิง” โฟล์กสวาเกนยังเปิดการสอบสวนภายใน เพื่อไล่เบี้ยหาผู้รับผิดชอบ ขณะที่หาทางฟื้นฟูภาพลักษณ์ เรียกความเชื่อมั่นของบริษัทกลับคืนมา
พิษจากคดีฉาวนี้ ซึ่งถูกตั้งฉายาว่า “Diesel Dupe” ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทรถยนต์อื่นๆของยุโรป รวมทั้งฟอร์ด,บีเอ็มดับบลิว, เดมส์เลอร์ และเรโนลด์-นิสสัน ร่วงตามไปด้วย แม้ค่ายรถยนต์เหล่านี้จะปฏิเสธว่าไม่ได้ติดตั้งซอฟต์แวร์ “Defeat Device” นี้ในรถยนต์ของตนก็ตาม
จะว่าไปแล้ว เจ้าหน้าที่สหรัฐฯเริ่มสงสัยกลโกงของโฟล์กสวาเกนตั้งแต่ปี 2557 เมื่อตรวจ พบว่า ค่าไอเสียของรถยนต์ดีเซลขณะวิ่งสูงกว่ามาตรฐานมาก แต่ทางโฟล์กสวาเกนอ้างว่านั่นเป็น “เรื่องทางเทคนิค” และ “สภาวะในโลกความจริงที่ไม่คาดหมาย” ดังนั้น ถ้าระดับผู้บริหารและผู้จัดการของโฟล์กสวาเกนรู้เรื่องนี้และจงใจปกปิดตั้งแต่แรก ก็ยากจะปฏิเสธความรับผิดชอบ และอาจต้องรับโทษทางอาญากันระนาว
นักวิเคราะห์ชี้ว่า คดี “Diesel Dupe” อาจส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการเมืองของเยอรมนี ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปถึงฐานราก อาจรุนแรงกว่าผลกระทบจากวิกฤติหนี้กรีซ ขณะที่ยุโรปรวมทั้งเยอรมนีได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอยู่แล้ว จนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีในปีนี้จะโตแค่ 1.8%
เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหนึ่งในเสาหลักของเยอรมนี ในปี 2557 มีผู้ทำงานในภาครถยนต์ราว 775,000 คน หรือเกือบ 2%ของแรงงานทั้งหมด ส่วนโฟล์กสวาเกนก็เป็นบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุด มีคนงานในเยอรมนีถึง 270,000 คน ไม่รวมคนงานของ บ. ซัพพลายเออร์ต่างๆ ขณะที่รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ก็เป็นภาคส่งออกที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเยอรมนี มีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านยูโร หรือเกือบ 1 ใน 5 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
...
ปีที่แล้ว โฟล์กสวาเกนขายรถยนต์ในสหรัฐฯได้เกือบ 6 แสนคัน จากยอดขายทั่วโลกราว 9.5 ล้านคัน ถ้ายอดขายในอเมริกาเหนือตกวูบ และต้องปลดพนักงานจำนวนมาก เพราะต้องรัดเข็มขัด เนื่องจากต้องจ่ายค่าปรับค่าเสียหายเพียบแล้ว นอกจากจะกระทบโฟล์กสวาเกนเอง ยังกระทบต่อเศรษฐกิจเยอรมนีโดยรวมด้วย
ดังนั้น ผลพวงจากคดี Diesel Dupe จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าความเชื่อมั่นใน “คุณภาพ” รถยนต์ของโฟล์กสวาเกนและบริษัทรถยนต์ค่ายอื่นๆของยุโรปจะลดลงอย่างฮวบฮาบ
ผลกระทบระยะสั้นต้องหนักแน่ ส่วนระยะยาวต้องรอดูกัน ทางที่ดีที่สุดที่โฟล์กสวาเกนทำได้ตอนนี้คือยอมรับผิดชอบ เปิดเผยความจริงอย่างโปร่งใส แล้วเร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็วที่สุด!
บวร โทศรีแก้ว