วันเสาร์สบายๆวันนี้ไปคุยเรื่องช็อกโลกอีกเรื่องกันดีกว่านะครับ เมื่อ สำนักงานปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (USEPA) แถลงเมื่อวันศุกร์ว่า รถยนต์ดีเซลโฟล์คสวาเกน ของเยอรมันที่ขายในสหรัฐฯเกือบ 500,000 คัน ได้ติดตั้งซอฟต์แวร์ที่สามารถโกงตัวเลขการปล่อยมลพิษสู่อากาศได้ เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบริษัทโฟล์ค ยอมรับว่า ได้ติดตั้งซอฟต์แวร์ขี้โกงตัวนี้ในรถยนต์ราว 11 ล้านคันที่ส่งออกไปขายทั่วโลก หลังจากที่ถูกนายกฯเยอรมันกดดันให้แถลงความจริง

ซอฟต์แวร์ขี้โกงตัวนี้ฉลาดมาก ตั้งใจเขียนมาให้โกงโดยเฉพาะ เมื่อรถยนต์ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการปล่อยมลพิษทางท่อไอเสีย โปรแกรมในรถยนต์จะ “เปลี่ยนโหมดเครื่องยนต์” เป็น “พลังงานสะอาด” ทันที แต่เมื่อรถยนต์คันนั้นพ้นจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่แล้วโปรแกรมตัวนี้ก็จะ “เปลี่ยนโหมดเครื่องยนต์กลับไปสู่การขับขี่ปกติ” ซึ่งจะ ปล่อยมลพิษสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานตามกฎหมายถึง 40 เท่า

ไม่มีใครคาดคิดว่าบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง โฟล์คสวาเกน จะกล้าทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายเช่นนี้ แถลงการณ์โฟล์คยอมรับว่า ซอฟต์แวร์ตัวนี้ได้ติดตั้งในเครื่องยนต์แบบ EA 189 ที่ใช้ในรถยนต์โฟล์คกว่า 11 ล้านคันทั่วโลก และติดตั้งในเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นอื่นด้วย

USEPA แถลงว่า โฟล์คสวาเกนจงใจติดตั้งซอฟต์แวร์ในรถยนต์ดีเซลเกือบ 500,000 คัน เพื่อให้ดูเหมือนว่ามีการปล่อยไอเสียน้อยกว่าความเป็นจริง แต่เครื่องยนต์ดีเซลที่ติดตั้ง สามารถปล่อยมลพิษเกินกว่ากำหนดไว้ได้ถึง 40 เท่า

เมื่อพิสูจน์ชัดว่าโฟล์คผิดจริง จะถูกทางการสหรัฐฯ ปรับคันละ 37,500 ดอลลาร์ รวมเป็นเงินกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์ ราว 650,000 ล้านบาท ยังไม่นับในประเทศ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สวีเดน ญี่ปุ่น ที่กำลังเริ่มสอบสวนคดีนี้ โดยขอความร่วมมือจาก สำนักงานปกป้อง สิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ ให้ส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อนำไปประเมินหลักการโกงและจับการโกงให้ได้

...

นายโบโด ไซเพิร์ต ผู้เชี่ยวชาญซอฟต์แวร์รถยนต์ในสหรัฐฯ บอกว่า ซอฟต์แวร์รถยนต์รุ่นใหม่อาจมีคำสั่งยาวถึง 20 ล้านบรรทัด มากกว่าซอฟต์แวร์เครื่องบินเสียอีก สามารถควบคุมทุกอย่าง ตั้งแต่ การขับเคลื่อนเครื่องยนต์ กล่องเกียร์ การตรวจสอบสิ่งผิดปกติ ไปจนถึง ช่วยควบคุมการปล่อยก๊าซเสียของรถยนต์ ด้วยการตรวจระดับ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้ในเครื่องยนต์ดีเซล

นายเกร็ก ชโรเดอร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยรถยนต์สหรัฐฯในมิชิแกน ให้ความเห็นว่า ซอฟต์แวร์จะช่วยตัดสินใจว่า ควรดักจับก๊าซเหล่านี้หรือแปลงสภาพให้เป็นสสารอื่นเพื่อให้ก๊าซเสียที่ปล่อยออกไปไม่เกินระดับมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด แม้เครื่องยนต์ดีเซลจะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มากนัก แต่ก็ทำให้เกิด ก๊าซไนโตร-เจนออกไซด์ ค่อนข้างมาก ก๊าซนี้จะทำให้เกิด “ฝนกรด” สหรัฐฯจึงตั้งมาตรฐานก๊าซชนิดนี้เข้มงวดกว่ายุโรป

ดังนั้น รถยนต์ดีเซลจึงต้องมีระบบเซ็นเซอร์ที่ซับซ้อน ซอฟต์แวร์ที่จัดการเครื่องยนต์ก็อัจฉริยะมาก สามารถกำหนดปริมาณก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ที่เกิดขึ้นระหว่างการเผาไหม้ได้ ด้วยการควบคุมปริมาณน้ำมันดีเซลและก๊าซออกซิเจนที่ใช้ในกระบวนการนี้ รถยนต์ดีเซลยังมีตัวดักจับและตัวเร่งปฏิกิริยาก๊าซไนโตรเจนออกไซด์เพื่อคอยทำความสะอาดไอเสียที่ปล่อยออกมา เพื่อให้ตรงกับมาตรฐานที่กำหนดด้วย

เห็นความอัจฉริยะของซอฟต์แวร์ตัวนี้หรือยัง

เขียนเรื่องนี้แล้วผมก็นึกถึง โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และ กระทรวงพลังงาน ถามคนไทยว่า “กลัวอะไร” โดยอ้างว่า มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถลดการปล่อยก๊าซพิษต่างๆได้ กรณีของ ซอฟต์แวร์ขี้โกงรถยนต์ดีเซลโฟล์ค คงจะเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดี ข้อมูลจากเทคโนโลยี ข้อมูลจากคน บางทีก็เชื่อถือไม่ได้เหมือนกัน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”