เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด พาสื่อมวลชนหัวยักษ์ 4 ฉบับร่วมเดินทางพร้อมกับครอบครัวผู้โชคดีจำนวน 20 ครอบครัว ในทริปพิเศษ “Enfagrow A+ Non-Stop Learning Trip” เพื่อสัมผัสประสบการณ์ เคล็ดลับในการกระตุ้นสมองที่หลากหลายในประเทศญี่ปุ่น
พัชชา นิมมานนิตย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับเซลล์สมองแสนล้านเซลล์เท่ากัน แต่การที่เด็กแต่ละคนจะเรียนรู้และมีพัฒนาการไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการเชื่อมต่อของเซลล์สมอง ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการพาเด็กไปสู่โลกของการเรียนรู้ตั้งแต่การไปชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะกลางแจ้งฮาโกเน่ เพื่อกระตุ้นการเชื่อมต่อของเซลล์สมองในส่วนที่เกี่ยวกับจินตนาการ อารมณ์ ต่อด้วยการเรียนรู้เทคนิคการใช้สมองทั้ง 2 ซีก จากสถาบันพัฒนาศักยภาพสมองด้านขวาจากญี่ปุ่น HEGL Henmi Educational General Laboratory (เฮกุรุ) ซึ่งมี ประสบการณ์กว่า 30 ปี ในการพัฒนาโปรแกรมสำหรับการเปิดศักยภาพสมองทั้ง 2 ด้านโดยเฉพาะสมองด้านขวา หลังพบว่าการศึกษาส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นระบบของสมองด้านซ้ายซึ่งทำงานด้านภาษา ตรรกะและเหตุผล ซึ่งถ้าเด็กได้รับการพัฒนาสมองด้านขวา จะส่งผลให้การใช้สมองด้านซ้ายและการเชื่อมโยงของสมองทั้งสองด้านของเด็กดีขึ้นอย่างมาก และสถานที่ต่างๆอีกหลายแห่งที่ช่วยเชื่อมต่อแสนล้านเซลล์สมองของเด็กผ่านการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง
ด้าน รศ.พญ.ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงการทำงานของสมองเด็ก ว่า คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมว่าทำไมลูกชอบถามซ้ำๆ ชอบอ่านนิทานเล่มเดิมๆ หรือเล่นของเล่นชิ้นเดิมๆ ทั้งหมดนี้เกิดจากความต้องการที่จะเรียนรู้โลกใบนี้ของสมองนั่นเอง สมองต้องการเข้าใจเหตุและผล รวมถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับตัวเขาและสิ่งต่างๆ เพื่อสั่งสมเป็นประสบการณ์ ความรู้และความชำนาญทั้งหมดเพื่อการใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้อย่างมีความสุขและมั่นคง
...
“เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับหนึ่งแสนล้านเซลล์สมองซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายวงจรและสามารถเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้เรื่อยๆ เมื่อมีการกระตุ้นสมองให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเราเรียกกระบวนการเชื่อมต่อของสมองนี้ว่า ไซแนปส์ การเชื่อมต่อของไซแนปส์สามารถเกิดได้สูงถึง 1,000 ล้านล้านครั้งในระยะเวลา 1-5 ปีแรก ดังนั้น ช่วงวัยนี้จึงเป็นระยะเวลาที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ เพราะสมองของเด็กจะพัฒนาถึง 85% เทียบเท่าสมองของผู้ใหญ่” คุณหมอทิพวรรณ บอก
หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังบอกด้วยว่า ทุก 1 วินาที เซลล์สมองของเด็กจะมีการเชื่อมต่อ สูงถึง 700 เซลล์ ซึ่งหมายความว่า สมองของลูกน้อยเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เมื่อพ้นช่วงวัยนี้ไปแล้ว จะไม่มีการเพิ่มเซลล์สมองแต่เป็นการพัฒนาโครงข่าย ส่วนเซลล์สมองที่ไม่ได้รับการกระตุ้นก็จะเสื่อมสลายไป ดังนั้น การสร้างทุกนาทีให้เป็นการเรียนรู้ของลูก (Non-Stop Learning) จึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องช่วยกันส่งเสริมในโอกาสทองนี้
“วิธีการหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาสมอง คือ การสัมผัสและการหัวเราะ จากการสำรวจพบว่าเด็กที่ไม่ค่อยได้เล่น หรือไม่ค่อยได้รับการสัมผัสโอบกอด จะมีสมองขนาดเล็กกว่าเด็กปกติ 20-30% นอกจากนี้ยังพบว่า การกอดลูกแน่นๆ หรือการโยกตัวลูกเบาๆ รวมถึงการสัมผัสสบตา และพูดคุยกับลูกมากเท่าไหร่ จะยิ่งช่วยเพิ่มสารออกซิโตซินและเอนดอร์ฟินในสมองของลูกให้มากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะช่วงแรกเกิดเป็นช่วงที่เส้นใยประสาทของลูกกำลังก่อตัว ถ้าทำให้ลูกหัวเราะ สมองของเขาจะพัฒนาได้เร็ว” กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก บอก
นอกจากการกระตุ้นแล้ว การเลียนแบบก็เป็นอีกวิธีการหนึ่ง คุณหมอทิพวรรณ บอกว่า ในสมองของ
มนุษย์มีเซลล์ชนิด หนึ่งเรียกว่า Mirror Neuron หรือ “เซลล์สมองกระจกเงา” ซึ่งเป็นเซลล์ที่สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ต่างๆของมนุษย์ ผ่านการเรียนรู้ การสังเกต และเลียนแบบผู้อื่น กระจกเงาการเรียนรู้ของเด็กที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่เป็นคนใฝ่รู้ ชอบค้นคว้า ชอบอ่านหนังสือ ภาพเหล่านี้ก็สะท้อนเข้าไปในสมองเด็ก แต่ถ้ามีลักษณะตรงกันข้าม ไม่มีเหตุผล ประพฤติตนไม่เหมาะสม ภาพเหล่านี้ก็สะท้อนเข้าไปในสมองเด็ก และแสดงออกมาในลักษณะเดียวกัน
ทั้งนี้ มีงานวิจัยมากมายที่บอก ว่า แม้แต่อารมณ์เองก็มีผลต่อศักยภาพในการเรียนรู้ หากเด็กมีแรงกดดันมาก มีความเครียดสูง หรือมีอารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งเป็นอารมณ์เชิงลบก็จะส่งผลต่อสารเคมีที่จะทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ของสมองลดลง แต่หากเด็กมีความสุข มีความมั่นคงทางอารมณ์ ร่างกายก็จะหลั่งสารเคมีที่ดีมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ได้เร็วและจดจำได้ดี นั่นหมายความว่า เด็กที่อารมณ์ดีพร้อมที่จะเรียนรู้ได้ดีกว่าเด็กที่อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดบ่อยๆ
...
คุณหมอทิพวรรณ ยังบอกอีกว่า แม้แต่การเล่นก็มีผลต่อการพัฒนาสมองโดยตรง ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเล่นไม่ว่าจะเป็นการหยิบจับ สัมผัส จะช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กในด้านต่างๆ รวมถึงส่งเสริมให้สมองมีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น
“เซลล์สมองจะเชื่อมต่อได้ดีและแตกแขนงออกไปเมื่อได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมผ่านการเรียนรู้และฝึกใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ โดยเฉพาะทางตาและทางหู การอ่านหนังสือเป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่มีอิทธิพลในการกระตุ้นเซลล์สมองที่สำคัญช่วยให้เส้นใยสมองเพิ่มมากขึ้น เชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นสายใยมากขึ้น ส่งผลให้เด็กฉลาดยิ่งขึ้น” กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก บอก และว่าเด็กมีสมองเหมือนกันแต่ฉลาดต่างกัน จุดสำคัญที่ทำให้เด็กฉลาดแตกต่างกันก็คือปริมาณการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง ซึ่งเกิดจากโภชนาการที่เหมาะสม การสัมผัสโอบกอดด้วยความรัก การเลี้ยงดูที่เหมาะสมตามวัย ฯลฯ
ทั้งนี้ คุณหมอทิพวรรณ ทิ้งท้าย ว่า การเข้าใจเรื่องการทำงานสมองจะช่วยให้พ่อแม่สามารถสร้างโอกาสในการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดแก่เด็กได้.