ดีเอสไอแจงถอนหมายจับ-วิษณุทาบมีชัย
เดินหน้าเต็มที่ไม่มีกั๊ก “วิษณุ” ออกปากจะไปทาบทาม “มีชัย” มานั่งประธาน กรธ.ด้วยตัวเอง ชี้ถ้าไม่สำเร็จอาจเดือด ร้อนต้องเป็นเอง ระบุได้ตัว กรธ.ครบ 21 คน สิ้นเดือนนี้ “บิ๊กป๊อก” แย้มเห็นชื่อแล้วแต่บอกไม่ได้ 2 พรรคใหญ่ตามถล่ม “วิษณุ” พท.โต้สูตรโรดแม็ปเขียน ก.ม.ลูก 3 เดือนทำได้จริง เหน็บหัวเสียเพราะร่าง รธน.คว่ำไม่เป็นท่า “อภิสิทธิ์” แนะเลิกพล่ามหันไปดูเนื้อหาสาระดีกว่า ส่ง “กษิต-ถวิล” ร่วมเป็น สปท. “ประยุทธ์” ไข้หวัดดีขึ้นไม่มีปัญหาบินร่วมประชุมเวทีสหประชาชาติ เผยมีคิวพูด 2 รอบ พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อนอก มท.1 วอนคนไทยอย่าเอาความขัดแย้งภายในไปโชว์ชาวโลก “จิตภัสร์” เตรียมแถลงข่าวเปิดใจ 24 ก.ย. ปมสมัครเป็นตำรวจ ผบ.ตร.ยันยังไม่ถอนใบสมัคร ขณะที่ดีเอสไอแจงหมายจับ “ตั๊น” ถูกเพิกถอนไปแล้ว
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองยังคงอยู่ในช่วงของการสรรหาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อเดินหน้ายกร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง รวมทั้งสานต่อการปฏิรูปประเทศของ คสช. แต่ที่จับตากันมากที่สุดคือตัวประธาน กรธ.ที่มีกระแสข่าวต่อเนื่องว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. จะมารับตำแหน่งดังกล่าว ล่าสุดนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่าจะไปทาบทามด้วยตัวเอง
ตั้งทีมวิเคราะห์ร่าง รธน.ถูกคว่ำ
เมื่อเวลา 14.10 น. วันที่ 23 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558 ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คว่ำไป เพื่อนำผลสรุปเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นระยะ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะทำงานตลอดระยะเวลาโรดแม็ป เบื้องต้นได้รับรายงานมาบ้างแล้วว่าเหตุผลของคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะอะไร เช่น พวกที่อะไรๆก็ไม่ชอบ พวกที่ไม่ชอบนายกฯคนนอก ไม่ชอบเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) อีกประเภทเป็นพวกที่ชอบทั้งหมด แต่ไม่อยากให้เลือกตั้งเร็ว อยากให้เลือกตั้งช้าหน่อย เพื่อจะได้มีเวลาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม เป็นต้น และจะมีการประเมินจากการไปสัมภาษณ์ สอบถาม เพราะถ้าจะให้แม่นต้องไปสอบถามจากอดีต สปช.ทั้ง 247 คน
...
“วิษณุ” ทาบ “มีชัย” นั่งประธาน กรธ.
ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. ปฏิเสธรับตำแหน่งประธานกรธ. นายวิษณุตอบว่า ยังไม่ทราบว่าปฏิเสธ และไม่แน่ใจว่ารับ เมื่อถามว่า เฟซบุ๊กนายมีชัยออกมาตอบเรื่องนี้ในลักษณะไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ นายวิษณุตอบว่า เห็นในหนังสือพิมพ์มีคำถามไปว่าจะรับหรือไม่ ซึ่งท่านตอบว่าคิดดูก่อน อีกข้อหนึ่งขอทราบเหตุผลถ้ารับเพราะอะไร และถ้าไม่รับเพราะอะไร ก็เท่านั้นเองไม่เห็นมีอะไร และจากคำตอบ ตนก็จะจำไว้ใช้บ้างเวลามีคนถาม จะได้ตอบว่า ต้องแสดงเหตุผลด้วยหรือ และถ้าสื่อเจอตัวท่านก็ถามเลย เพราะตนก็อยากรู้เหมือนกัน เมื่อถามว่า จะหาโอกาสพบกับนายมีชัยหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า “จำเป็นต้องพบกันอยู่ดี ดูท่านจะว่าอย่างไร ยังมีเวลา แต่ก็กลัวเหมือนกันว่าท่านจะถามผม อย่างที่ใครไปถามท่านว่าเพราะอะไรท่านถึงต้องรับ ที่จริงเหตุผลมีง่ายๆ ท่านต้องรับ เพราะถ้าท่านไม่รับเดี๋ยวมาโดนที่ผม”
ได้ กรธ.ครบ 21 คน สิ้นเดือน ก.ย.
เมื่อถามว่า จะเริ่มเดินสายทาบทามคนที่จะมาเป็น กรธ.เมื่อไร นายวิษณุตอบว่า สื่อเฝ้าให้ดี บางทีตนไม่ต้องไปเดิน นั่งอยู่ตรงนี้เรียกเข้ามาก็ได้ เห็นใครแปลกๆเข้ามาก็นั่นแหละ วิธีนัดคนมันมีหลายวิธี ไม่ต้องลึกลับซับซ้อนมาก บางทีก็มีเรื่องต้องเจอกันอยู่แล้ว ก็ถือโอกาสนั้นทาบทาม เบื้องต้นได้ทาบทามไปหลายท่าน ส่วนใหญ่บอกว่าขอคิดก่อน เพราะยังมีเวลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก– รัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ไปต่างประเทศ ไม่มีใครคาดคั้น และไม่รู้จะรีบตอบไปทำไม แต่หากว่านายกฯไม่ได้ไปต่างประเทศก็ต้องให้คำตอบแล้ว เมื่อถามว่า ถ้าเจอนายมีชัยครั้งต่อไปจะเป็นการทาบทามใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า “ก็ใช่สิ จะทักทายอะไรกันทุกวัน จะไปทาบทามแล้ว” เมื่อถามว่า สิ้นเดือน ก.ย.จะได้ชื่อกรธ.ครบทั้ง 21 คนเลยหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า แน่นอน ไม่อย่างนั้นจะเลยเวลา
“บิ๊กป๊อก” เผยเห็นชื่อแล้วบางส่วน
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่นายกฯให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเสนอรายชื่อบุคคลที่จะมาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเสนอชื่อให้กับนายกฯ โดยจะเป็นข้าราชการ อดีตข้าราชการที่มีความรู้ด้านกฎหมาย ส่วนรายชื่อ กรธ.ได้เห็นบ้างแล้วบางส่วน แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องรอให้มีการเสนอนายกฯพิจารณาก่อน
“อ๋อย” โต้ “วิษณุ” 3 เดือนทำได้จริง
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถึงกรอบเวลาโรดแม็ป โดยเฉพาะขั้นตอนการเขียนกฎหมายลูกว่า 3 เดือน ทำไมจะทำไม่ได้ ประเด็นต่างๆก็รู้หมดแล้ว ร่างกันมาเป็นปี ข้อมูลก็เยอะแยะ ยิ่งร่างแบบไม่ให้ใครเสนอความเห็นเดือนเดียวก็เสร็จ 3 เดือน คือเผื่อแล้วด้วยซ้ำ พอร่างรัฐธรรมนูญใกล้เสร็จ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เตรียมร่างกฎหมายลูกไว้ได้เลย ส่วนพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหม่ก็ให้เตรียมการได้ตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จหรือเมื่อผ่านการลงประชามติ ไม่จำเป็นต้องรอให้กฎหมายลูกเสร็จก่อน ถ้ากฎหมายลูกออกมาแล้วพรรคการเมืองต้องแก้ไขอะไรก็ปรับกันไป ลองนึกถึงวันประชุม ครม.แต่ละครั้ง พอประชุมเสร็จ ครม.ก็กินข้าวกันเลย ไม่เห็นต้องเริ่มหุงข้าวหาปลาหลังการประชุม คนทำกับข้าวก็ทำของเขาไปได้เลย ไม่ต้องรอประชุมเสร็จเรื่องโรดแม็ปก็คล้ายกัน
ชี้หัวเสีย รธน.ถูกคว่ำ–แนะใจเย็นๆ
“รู้จักนายวิษณุมานาน เห็นว่าเป็นคนพูดจาฉลาดหลักแหลม รู้จักวิธีอธิบายเรื่องต่างๆโดยไม่ใช้อารมณ์ แต่ช่วงนี้คงกำลังหัวเสียมาจากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ อยากให้ใจเย็นๆลงหน่อย อย่างไรก็ตาม โรดแม็ปจะเป็น 6-4, 6-4 หรือ 3-3, 3-2 ไม่สำคัญเท่ากับว่าเวลาร่างจะร่างแบบปิดหรือเปิด ประชาชนจะมีส่วนร่วมหรือไม่ และถ้าร่างแล้วแย่มากๆอีก อยากให้ผ่านก็จะไม่ผ่านประชามติ หรือหากจงใจร่างเพื่อไม่ให้ผ่านประชามติจะทำอย่างไร จะร่างกันไปไม่รู้จบหรือ นายวิษณุควรจะตอบเรื่องเหล่านี้มากกว่า ที่แนะนำให้นวดเท้าก่อนค่อยคิดนั้น ผมคงไม่กล้าทำตาม เพราะคนที่เพิ่งทำตามคำแนะนำของคุณวิษณุอย่างไม่ลืมหูลืมตา เพิ่งเสียผู้เสียคนไป เช่น คุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผมไม่อยากตกอยู่ในสภาพอย่างนั้นอีกคน” นายจาตุรนต์ระบุ
“มาร์ค” จี้ “วิษณุ” หยุดจ้อ–แนะดูสาระ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตอบโต้ระหว่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กับนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับกรอบเวลาของโรดแม็ปว่า เคยพูดหลายครั้งแล้วว่า ควรมุ่งที่สาระของรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อหยิบเรื่องลอยๆมาพูด จะทำให้เกิดประเด็นขัดแย้งโดยไม่จำเป็น ตอนนี้ยังไม่ทราบว่า กรธ. 21 คนจะเป็นใคร แต่กลับมาพูดแทนได้อย่างไรว่าจะต้องเสร็จกี่เดือน ส่วนสูตร 6-4, 6-4 คือกรอบของกฎหมายว่า อย่าเกิน ส่วนจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ อยู่ที่วิธีการทำงานในแต่ละขั้นตอนของ กรธ. อาจเห็นว่าฉบับเดิมส่วนใหญ่ดีแล้ว ทำ 2 วันอาจได้ร้อยกว่ามาตราก็ได้ ไม่จำเป็นต้อง 6 เดือน แต่ถ้าเริ่มต้นใหม่หมดอาจต้อง 6 เดือน
ไม่ปฏิเสธอำนาจพิเศษแก้วิกฤติ
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กรณีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ยังเป็นปัญหาที่สำคัญ ที่ต้องดูรูปแบบ อำนาจหน้าที่ว่าเป็นอย่างไร ตนเป็นคนหนึ่งที่ค้าน คปป. แต่ไม่ปฏิเสธแนวคิดที่จะมีกลไกตรวจสอบคือ สามารถระงับยับยั้ง หรือถ่วงดุลไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจในทางที่ผิด เหลวไหล แต่คนที่จะมาทำจะต้องมีที่มาที่ไปรับกันได้ คือ มีความรับผิดชอบต่อประชาชน หรือมีกลไกที่ทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีความเป็นกลางเป็นที่ยอมรับ และตนไม่ปฏิเสธว่า ในสถานการณ์คับขันอาจจะต้องมีการใช้อำนาจพิเศษบางอย่างเพื่อระงับยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหาย แต่ต้องไม่ใช่การทำกลไกถาวรในลักษณะรัฐซ้อนรัฐ
“ขอให้ กรธ.มีความอิสระในการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะที่สุดต้องให้ประชาชนเห็นชอบ หากไม่ผ่านประชามติ ทุกอย่างก็สูญเปล่าและไม่เป็นประโยชน์กับใคร ดังนั้น การจะไปตามใจหรือให้ใครกำหนดธงอย่างไร ขอให้ดูความเจ็บปวดของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ กรธ.ที่จะเข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญต้องรับผิดชอบ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ส่งชื่อ “กษิต-ถวิล” เข้าร่วม สปท.
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงการเสนอชื่อ นายถวิล ไพรสณฑ์ และนายกษิต ภิรมย์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่า ยังไม่ทราบว่าทั้งสองจะได้รับคัดเลือกหรือไม่ ที่ตนแนะนำไปเพราะเห็นว่ามีคุณสมบัติในเรื่องการปฏิรูป โดยนายกษิตกว้างขวางในเกือบทุกประเด็น นายถวิลเชี่ยวชาญด้านการกระจายอำนาจและปฏิรูปตำรวจ รวมถึงการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ส่วนกรณีนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีชื่อจะไปเป็นสภาขับเคลื่อนในนาม กปปส.นั้น ไม่เกี่ยวกับพรรค และนายอรรถวิชช์ก็ต้องรู้กติกาของพรรคว่าเป็นอย่างไร
“กษิต” แยกทาง “เทือก” คืนรัง ปชป.
ด้านนายกษิต ภิรมย์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นที่ปรึกษามูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) แล้วเมื่อ 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา เนื่องจากมีแนวคิดทางการเมืองที่ต่างจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิฯ เพราะตนมองว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ สปช.คว่ำไปมีปัญหา ไม่สามารถรับได้ โดยเฉพาะ คปป.ที่มีลักษณะบริหารแบบรัฐซ้อนรัฐเหมือนโปลิตบูโร หลังการแลกเปลี่ยนทรรศนะเรื่องนี้กับนายสุเทพ ถึง 3 วัน 3 คืน ในที่สุดจึงขอลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายการต่างประเทศของ มปท. ขณะนี้ได้กลับมาช่วยงานพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดิม
ย้ำมีธงสลายพรรคการเมืองใหญ่
นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯชงสูตรพิสดารให้พรรคการเมืองต้องจดทะเบียนใหม่นั้น นักวิชาการผู้ใกล้ชิดทหารบอกตนนานแล้วว่า เขาต้องการทำพรรคการเมืองให้เล็กลง ต่อไปพรรคขนาดใหญ่ไม่มีแล้ว ธงในการร่างรัฐธรรมนูญก็ออกมาแบบนั้น แล้วนายวิษณุจะปฏิเสธว่าไม่ได้ชี้ช่องได้อย่างไร ทั้งที่รู้ทั้งหมดว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพียงแต่จะพูดหรือไม่เท่านั้น กล้าสาบานเรื่องนี้กลางสายฝนหรือไม่
แนะ คสช.เลือกคนพร้อมปฏิรูป
นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวว่า ประเทศไทยไม่เคยสงบและมีความสุขมานานแล้ว โดยเกิดจากคนเพียงไม่กี่กลุ่มและจากคนไม่กี่คนปั่นหัวประชาชน จึงขอร้องไปถึงผู้มีอำนาจทั้งหลาย ทั้ง คสช. รัฐบาล โปรดใช้อำนาจและกฎหมายที่มีอยู่จัดการประเทศอย่างเที่ยงธรรม และได้โปรดใช้คนที่ใช่สักที อย่าใช้แต่พวกหน้าเดิมเข้ามาเป็นสภาขับเคลื่อนฯ และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยมีคนดีและพร้อมเสียสละทั้งความคิดและเวลา เพื่อชาติบ้านเมือง ขอเพียงให้มีกระบวนการคัดเลือกอย่างตรงไปตรงมา ไม่เลือกจากชื่อเสียงอันจอมปลอมที่เป็นภาพลวงตาถูกสร้างขึ้นมา ขอให้กำลังใจและเอาใจช่วยรัฐบาลและ คสช.ทำการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขสำหรับลูกหลานของคนไทย
“บิ๊กตู่” ทำงานปกติก่อนบินไปสหรัฐฯ
สำหรับความเคลื่อนไหวของนายกรัฐมนตรีที่จะเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23 ก.ย.-1 ต.ค.นั้น เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ โดยมี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. เดินทางเข้าพบและหารือประมาณ 30 นาที นอกจากนั้นยังมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ และ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.ทหารสูงสุด เข้าพบหารือข้อราชการ
แพทย์เช็กอาการไข้หวัดดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอาการป่วยเจ็บคอ ด้วยโรคไข้หวัดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องให้แพทย์มาฉีดยาและให้ยากินเพื่อบรรเทาอาการเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น ช่วงบ่ายวันเดียวกัน แพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ได้เดินทางเข้าตรวจอาการนายกฯอีกครั้ง ที่ตึกไทยคู่ฟ้า โดยแพทย์เปิดเผยเพียงสั้นๆว่า อาการของนายกฯดีขึ้นกว่าวันที่ 22 ก.ย. ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ไม่มีผลต่อการเดินทางไปต่างประเทศ