ถ้าลองย้อนกลับไปสมัยก่อน จะพบว่าผมเป็นเด็กประเภทที่พ่อแม่ชอบพาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ เที่ยวสวนสัตว์ มากกว่าเข้าสวนสนุกครับ รถไฟเหาะตีลังกา ม้าหมุนนี่อะไร ไม่รู้จัก อย่าเอาคำนี้มาพูดกับพ่อ เหตุผลง่ายๆ ของท่านคือ เข้าสวนสนุก มันไม่ได้คุยกัน ก็ดูสิ มีโซนไหนแหย่ขาไปแล้วพูดกันรู้เรื่องบ้าง สวนน้ำ ทอร์นาโด เฮอริเคน สกายโคสเตอร์ ไวกิ้ง กรี๊ดเป็นผีสิงแทบทั้งสิ้น (ก็สวนสนุกนี่ฮะ)

ด้วยความที่ธรรมดาป๋ากับแม่งานยุ่ง ยุ่งเป็นปกติจนลูกชายสองคนเลิกสงสัยนานละว่ายุ่งอะไรนักหนา แต่พอมีเวลา ป๋ามักจะชดเชยโดยการพาไปเดินพิพิธภัณฑ์เสมอ มีตั้งแต่ประวัติศาสตร์บ้านเมืองจนถึงของเล่นจุกจิก ที่ฮิตสุด ไปบ่อยสุดก็ต้องท้องฟ้าจำลอง บางทีก็ทัวร์สวนสัตว์ ระหว่างนี้ทั้งคู่จะสนุกสนานกับการชี้ชวนพาดูนั่นนี่ อธิบายบ้าง ถามบ้าง แอบสืบความเป็นอยู่ของลูกแบบเนียนๆ บ้าง (เพิ่งมารู้ตอนโต) ปนกันไป เรียกว่าคงไม่มีที่ไหนให้เราได้เดินคุยกันเพลินๆ สี่ชั่วโมงไม่รู้ตัวเท่าที่นี่แล้ว

สารภาพว่ามิวเซียมบางแห่งผมก็ไม่ค่อยอิน ตามประสาเด็ก ถ้ามีแต่ป้าย ตัวหนังสือ และของเก่าล่ะก็ แอบเดินตามหลังพ่อแม่แบบหาวๆ ไม่รู้เรื่องเลยก็มี ทวารวดีคืออะไรวะ แต่ยังยินดีจะเดินดู ไม่งอแง ถ้านั่นหมายถึงได้ใช้เวลากับพ่อแม่ แม้พิพิธภัณฑ์ไม่ค่อยสนุก แต่ก็ไม่เป็นไร

พอมาปัจจุบัน ผมเองก็ไม่แน่ใจว่ามิวเซียมกลายเป็นที่เที่ยวสุดโปรดของตัวเองตั้งแต่เมื่อไหร่

เวลาไปต่างจังหวัด ต่างประเทศ นอกจากกินกับหลงทาง หากจะมีกิจกรรมอะไรเป็นกิจจะลักษณะสุด คงต้องยกให้การเดินพิพิธภัณฑ์นี่แหละครับ (ซึมมาแบบไม่รู้ตัวสินะ)

ถ้าไม่นับว่าชอบเพราะเป็นความทรงจำที่ดีในวัยเด็ก อีกส่วนยังชอบบรรยากาศเวลาเห็นคนอื่นๆ เข้ามาเยี่ยมชมมันด้วย หลายครั้งเราได้เจอวิทยากรยืนบรรยายข้อมูลให้ผู้เข้าชมฟังเป็นกลุ่มๆ เจอครูพานักเรียนมาทัศนศึกษา ครูพี่เลี้ยงคอยอธิบายเนื้อหา ได้ยินเด็กเล็กๆ ยิงคำถามประหลาดใส่บ้าง ก็ตลกดี มนุษย์ยุคหินไม่ใส่กางเกงในแล้วทรายไม่เข้าก้นเหรอคะครูขา เออ ก็จริง ลุงไม่เคยคิดถึงจุดนี้เลยว่ะ
สถานที่รวมสารพัดเรื่องเล่า ที่แต่ละวันมีคนอยากเล่ากับคนอยากรู้มาอยู่รวมกัน พอครบองค์ประกอบ เมื่อนั้นโลกก็เหมือนถูกหยิบยื่นต่อสู่คนรุ่นใหม่อย่างง่ายดายในระยะเวลาสั้นๆ

...

ใครสักคนเคยพูด ว่าเรื่องเล่าดีๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์เหมือนกันนะ สำคัญพอๆ กับดินฟ้าอากาศเลยด้วยซ้ำ อาจฟังดูเว่อร์ไปหน่อย แต่นึกภาพสิครับ พอเรื่องราวมากมายถูกถ่ายทอดให้รับรู้ โลกก็มีอะไรน่าจดจำขึ้น ชีวิตดูมีความหมาย มีที่มาที่ไปมากกว่าเกิดและอาศัยอยู่ไปวันๆ

เราถูกหล่อหลอมตัวตนขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ก็ด้วยสิ่งที่บอกเล่าจากครอบครัว ซึ่งคงไม่มีวิธีไหนจะได้ผลกว่าการ “คุย” กันอีกแล้ว

คำว่า “คุย” ของสมัยนี้มีหลายแบบ หลายช่องทาง แต่น้อยนักที่จะเรียกว่าเป็นการคุยจริงๆ เพื่อเรียนรู้กันและกัน

เราส่งข้อความสั้นๆ เพื่อถามเพื่อนว่าอยู่ไหน ทำอะไร จะไปไหน พ่อแม่ไลน์หาลูกว่าเรียนเสร็จยัง ให้ไปรับกี่โมง หรือเจอกันที่ร้านเลยนะ ไปกินข้าวกัน นั่นคือการสื่อสาร (ซึ่งพอเจอหน้ากันจริง ทุกคนก็ควักจอส่วนตัวขึ้นมาคนละจอ ลูกนั่งยิ้มคนเดียว ส่วนแม่สไลด์หารูปดอกไม้สีตามวันในอัลบั้มอย่างร่าเริง แม่งไม่ได้คุยกันอีก จบ) เป็นปัจจุบันที่ช่วยให้รู้ว่าฝ่ายโน้นอยู่ในอาการไหน แต่ไม่ใช่ปฏิสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

สิ่งที่เครื่องมือช่วยคุยยุคนี้ไม่มี คือเรื่องราวยาวๆ ความเป็นมาของชีวิตที่มันทดแทนไม่ได้ และเชื่อว่าสุดท้าย การสื่อสารที่จะมีอิทธิพลต่อผู้คนมากสุด ก็ยังคงเป็นการพูดจาเพื่อแลกเปลี่ยนวันเวลาต่อกันแบบซึ่งหน้าอยู่ดี ปู่ย่าตายายเล่าปูมหลังให้หลานฟัง พ่อแม่ที่คอยหยิบยกเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในอดีตมาบอกต่อ

พื้นเพบ้านปู่นะ ย้ายหนีระเบิดจากสงครามโลกไปอยู่บ้านสวนที่ต่างจังหวัด ดึกๆ จะออกจากบ้านต้องจุดคบ จุดไต้ (ไต้คืออะไรฮะ – บรรยายไปอีกแปดวรรค) เดินตามทางรถไฟเพราะไม่มีถนน พ่อเคยงมกุ้งที่ท่าน้ำหลังบ้าน ยิงนกตกปลาเล่น กินก๋วยเตี๋ยวชามละสลึง รู้ไหม เงินยี่สิบบาทอยู่ได้ทั้งอาทิตย์ เคยไปตามหมอตำแยตอนตีสามมาทำคลอดอาคนที่ห้าของลูก แม่เล่าให้ลูกสาวฟังว่าตอนเด็กยังไม่มีผ้าอนามัยสำเร็จรูปใช้นะ ต้องทำเองจากเศษผ้าถุง เข้าเมืองมาเรียนหนังสือยังไง พบรักกับพ่อตอนไหน ยังไม่นับพวกประวัติเทือกเถาเหล่ากออีกล่ะ ที่คนรุ่นใหม่สมควรได้รู้จากครอบครัว (ซึ่งมันเกิดขึ้นยากทุกที)

ว่ากันว่ากาลเวลาที่ยาวนาน ถูกจับย่อให้สั้นลงจนมาชิดกันได้ เพราะเราได้คุยกัน

ไม่ใช่คุยที่หมายถึงต้องตั้งอกตั้งใจมานั่งจับเข่าปรึกษาปัญหาชีวิต ม่ะ! ลูก ทุกข์ใจอะไรบอกป๋าได้ ยังงี้

ไม่ใช่ เยาวชนที่ไหนเจอเข้าก็คงดิ้นหนีปั้ดๆ แน่นอน แต่เป็นการคุยเพื่อแบ่งปันเรื่องเล่าดีๆ เพื่อสร้างความรู้สึกดีๆ ต่างหาก

เด็กสมัยนี้มีเวลาคุยกับครอบครัวน้อยลง ด้วยความจำเป็นอะไรก็ตามที่พาไปนั้นเราเข้าใจ ซึ่งนั่นเองที่น่าเสียดาย โอกาสที่ผู้ปกครองจะได้ถ่ายทอดเอกลักษณ์ทางความคิด นิสัยใจคอ ความรู้รอบตัวให้ก็น้อยลง วัดจากเรื่องง่ายๆ หลายอย่างที่น่าจะรู้ เด็กก็ไม่รู้ เช่น ในตู้เย็น ไข่เป็ดกับไข่ไก่ไม่เหมือนกันนะ ไหนหอมไหนกระเทียม หรือบางคนไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าพ่อเรียนจบอะไร บ้านเกิดอยู่ที่ไหน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตอนเด็กๆ แม่ชอบเล่นขายข้าวเหนียวสังขยานะเออ

คนรู้จักของผมมากมายเคยเล่าว่าที่บ้านไม่ค่อยพูดกัน ชวนคุยเรื่องสัพเพเหระนี่ไม่เคยเลย ลูกกลับจากโรงเรียนมาถึงก็เดินผ่านแม่ที่ยืนรดน้ำต้นไม้ตรงหน้าบ้านไปซะเฉยๆ พอถามว่าทำไม ก็ตะลึงใจไปห้าวิ ไม่รู้สิ ก็ไม่มีเรื่องให้คุยนี่ นอกจากถามว่าจะกินอะไร เอาผ้าในตะกร้าไปซักด้วย ทำการบ้านรึยัง ที่เหลือก็หมดประเด็นให้พูด (อยู่ด้วยกันยังไงครับเนี่ย)

ไม่จริงหรอก วัยอยากรู้ กับวัยที่ผ่านโลกมาครึ่งชีวิต เราเชื่อว่ายังไงมันก็ต้องมีเรื่องให้คุย แค่ยังไม่เจอวิธีการเริ่มต้นที่ดี

ที่บ้านผมเป็นมนุษย์ชอบคุยครับ อันนี้ก็ไม่เคยมีความพอดี บางทีแย่งกันพูดจนต้องเบรก ยังไงช่วยมีใครสักคนเป็นผู้ฟังหน่อยไหม ท้องอืดมาจากไหน พ่อชอบอธิบาย ถามสิบตอบร้อย แม่เป็นพวกล้านเจ็ดท็อปปิค (ผลจากการดูข่าวเยอะ) ลูกแต่ละคนก็มีสิ่งที่อยากเล่าของตัวเอง ผมได้รู้จักโลกของพ่อแม่ รู้เรื่องที่ไม่ได้อยู่ในช่วงอายุ ความเป็นมาของทุกอย่างก็มาจากทั้งคู่

...

เมื่อเรามีชีวิตอยู่ด้วยเรื่องเล่า…


สิ่งเหล่านี้มันอาจไม่สำคัญกับวิถีชีวิตโดยตรง แต่มันช่วยเสริมสร้างแนวคิดให้เด็กโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่กลวง ไม่ไร้รากในอนาคตได้ ไม่ใช่เหมือนคอมพิวเตอร์ที่มีแต่ฮาร์ดดิสโล่งๆ ไม่มีข้อมูลในอดีตให้ดึงออกมาใช้เลย นอกจากเรื่องของตัวเอง

โลกนี้มีช่องทางส่งต่อความเป็นมาจากอดีตสู่ปัจจุบันให้คนรุ่นหลังเรียนรู้หลายแบบ ศิลาจารึก สมุดจดบันทึก โบราณวัตถุ จดหมายเหตุ แต่ที่สะดวก น่าจดจำ ใกล้ชิดที่สุดก็คือเรื่องเล่าจากปาก มันช่วยบ่งบอกความเป็นตัวเรา

ลองดูสิครับ มนุษย์พ่อมนุษย์แม่เนี่ย มีสตอรี่รอให้วิจัยคุ้ยแคะอีกเยอะ

น้าเน็ก & น้องเนิฟ