"วิษณุ" เผย สเปกประธาน กรรมร่าง รธน. ควรเป็น นักกฎหมายเพราะคุมเกมได้ ชี้สงบเร็วเลือกตั้งเร็ว อาจไม่ต้องรอถึง 20 เดือน แพลม หากจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวอีกรอบ

วันที่ 10 ก.ย. เมื่อเวลา 09.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคุณสมบัติ ผู้ที่จะมาทำหน้าที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ว่าต้องเอาตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.บอก เพราะท่านเป็นคนหา ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เห็นเหมือน คสช. แต่คงไม่เลือกเอาคนที่เห็นขัดแย้ง ส่วน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา จะเข้ามาเป็นโดยตำแหน่งหรือไม่ ตนไม่ทราบ อยู่ที่เขาจะยอมให้มี กมธ.ยกร่างฯ ชุดเก่า เข้ามาหรือไม่ และได้พบกับ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ท่านบอกว่าไม่ได้ขอว่าต้องมี สนช. มาเป็นคณะกรรมการร่างฯ เพียงแต่น่าจะมี 1–2 คน ถ้าไม่มีเลยก็ไม่เป็นไร

ทั้งนี้ ตัวประธานคณะกรรมการร่างฯ ไม่มีที่ไหนเขียนเอาไว้ว่า ต้องเป็นนักกฎหมาย ในอดีตเคยมีนักรัฐศาสตร์ แต่ถ้าเป็นนักกฎหมายจะดี เพราะประธานเป็นคนคุมเกม บริหารจัดการประชุมได้ง่าย อย่างไรก็ตาม นายกฯ เอง รู้จักคนมาก ยิ่งเคยคัดคน เป็นอะไรต่อมิอะไรมาหลายหนแล้ว สังเกตจากการแต่งตั้งข้าราชการ บางทีเอ่ยชื่อมาท่านจะบอกเลยว่า คนๆ นั้น เคยดำรงตำแหน่งอะไร เมื่อไร

นายวิษณุ กล่าวว่า เจตนารมณ์ของ คสช.ในการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือ 1. มีการบริหารราชการแผ่นดิน 2. มีการปฏิรูป และ 3. มีปรองดองเกิดขึ้น เรื่องปรองดองเป็นเรื่องใหญ่ เพราะนายกฯ พูดหลายครั้ง ท่านนำไปผูกกับเหตุการณ์ด้วย ว่า โรดแม็ป 6+4+6+4 หรือ 20 เดือนนั้น มีโอกาสจะสั้นลงมาเป็น 10 เดือน 15 เดือนได้ หากสถานการณ์บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย มีความปรองดอง สามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ ตนอยากยกสุภาษิตฝรั่งที่เขาบอกว่า เมื่อแดดออกให้เอาหญ้าไปตาก เพราะเมื่อถึงฤดูหนาวหิมะตก จะไม่มีหญ้าให้วัวกิน หากบัดนี้แดดออกต้องเอาหญ้าไปตาก แต่ถ้าฟ้ามืดครึ้มต้องเก็บหญ้า ดังนั้น หากบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ก็เร่งเลือกตั้งเสีย แต่ถ้ายังตะลุมบอนตีกันอยู่ มีระเบิด ผู้คนยังไม่สามัคคี ด่าทอกัน จ้องเลือกตั้งเข้ามาเพื่อล้างแค้นกัน อย่างนั้น ยากที่จะไปเร่งรัด

...

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า เรื่องปรองดองนายกฯ พูดเองว่า วิธีในการจัดความปรองดอง คือ 1.สิ่งใดที่สามารถเยียวยาให้เขาได้จะต้องเยียวยา 2.สิ่งใดที่สามารถให้อภัยได้ควรจะทำ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ต้องมีความรับผิด เกิดขึ้นก่อน 3.การทำให้ทุกอย่างมีมาตรฐานเดียวกัน อย่ามีสองมาตรฐาน ลำเอียง หรือ เลือกปฏิบัติ 4.สร้างการรับรู้ความเข้าใจ พัฒนาให้ลืมตาอ้าปาก ไม่เหลื่อมล้ำ เขาจะรู้สึกว่า พร้อมจะปรองดอง ซึ่งเป็นมติ ครม.ไปแล้ว โดยกลไกของรัฐทั้งหมดจะเป็นผู้ผลักดัน สนช.จำเป็นต้องช่วยถ้าจำเป็นต้องออกกฎหมาย และสภาขับเคลื่อนปฏิรูปจะต้องช่วยทำความเข้าใจกับประชาชน เมื่อข่าวถามว่า หากครั้งนี้ไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า มีการปรารภกัน แต่คิดว่ามันยังอีกระยะยาว หากมีความจำเป็นอาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอีก แต่ยังไม่ในช่วงนี้ ต้องอีกระยะหนึ่ง.