สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รัก ไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้บอกตรงๆ เลย ว่าคุณครูลิลลี่เปิดปฏิทินวันสำคัญเพื่อหาเรื่องที่จะมาเขียนในครั้งนี้โดยเฉพาะ ทันทีที่เปิดพบว่าวันที่ 15 กันยายนที่จะถึงนี้เป็น “วันศิลป์ พีระศรี” ก็ตั้งใจทันทีว่าจะหยิบยกเอาเรื่องราวของท่านมาเขียนให้ได้อ่านกัน เพราะท่านเปรียบเสมือนบิดาแห่งวงการศิลปะ และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ว่ากันว่า ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี คือผู้สร้างความเป็นปึกแผ่นแก่วงการศิลปะไทยให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าตลอดมาจนถึงปัจจุบันค่ะ

เมื่อเราเอ่ยชื่อของท่าน คุณผู้อ่านอาจจะคิดว่าท่านเป็นคนไทย เชื้อชาติไทย สายเลือดไทย แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่นะคะ ท่านศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เดิมชื่อ CORRADO FEROCI เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2435 ที่ประเทศอิตาลีเข้าศึกษาทางด้านศิลปะใน โรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะ แห่งนครฟลอเรนซ์ จนจบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปี และได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ในขณะที่มีอายุเพียงแค่ 23 ปีเท่านั้น

ทีนี้เรามาดูกันว่าท่านมาเกี่ยวพันกับประเทศไทยเราได้อย่างไร

ในปี 2466 ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป ซึ่งผลการประกวดครั้งนี้เองที่ทำให้ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ได้เดินทางมารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กระทั่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศอิตาลียอมพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้ชาวอิตาเลียนที่อาศัยอยู่ภายในประเทศไทยตกเป็นเชลย แต่รัฐบาลไทยได้ขอดูแลตัวศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ไว้เอง ก่อนที่จะดำเนินการขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "นายศิลป์ พีระศรี" เพื่อป้องกันมิให้ต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นเชลยศึกนั่นเองค่ะ

...

สำหรับทางด้านการศึกษาท่านได้จัดตั้ง "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม" ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง" และในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ยกฐานะเป็น "มหาวิทยาลัยศิลปากร" สืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันค่ะ

เขียนถึงท่านมามากมายดูเหมือนว่า คุณครูลิลลี่จะยังไม่ได้สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยให้คุณๆ ได้อ่านกันเลย ความรู้ภาษาไทยที่นำมาฝากในวันนี้เกี่ยวกับชื่อของท่านโดยตรงเลยค่ะ คำว่า “ศิลป์” ที่เราได้อ่าน ได้เขียน หรือได้พูดกันอยู่บ่อยๆ จริงๆ แล้ว ไม่ได้มีแต่ความหมายว่า ฝีมือ ฝีมือทางการช่าง การทำให้วิจิตรพิสดาร แต่เพียงอย่างเดียวนะคะ

คำว่า “ศิลป์” ที่นำมาบอกกล่าวไว้เป็นความรู้ในไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้ยังมีอีกหนึ่งความหมายค่ะ นั่นคือ คำว่า ศิลป์ ที่ใช้ในกลอน และมีหมายความว่า “ศร” ลองดูกลอนบทจากเรื่องอิเหนานะคะ “งามเนตรดังเนตรมฤคมาศ งานขนงวงวาดดังคันศิลป์” อันนี้ก็คือ “คันศร” นั่นเอง หรือจากเรื่องรามเกียรติ์ที่บอกว่า “พิศพักตร์ผ่องพักตร์ดั่งจันทร พิศขนงก่งงอนดั่งคันศิลป์” ก็เช่นกันค่ะ

ปิดท้ายไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้ คุณครูลิลลี่ไปค้นมาได้ว่า ท่านศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ไม่ได้มีเพียงผลงานทางด้านศิลปะเพียงอย่างเดียวที่กลายเป็นที่จดจำของเหล่าลูกศิษย์ แต่ยังมีคำสอนดีๆ ที่ท่านจะหยิบยกมาสอนอยู่เสมอ เช่นประโยคที่ว่า "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่า ชีวิตของมนุษย์ช่างแสนสั้นนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการยืนยงคงอยู่ของศิลปกรรม ที่จะยืนยงคงอยู่ยาวนานนับร้อยนับพันปี คุณครูลิลลี่ก็ขออนุญาตเสริมไว้ตรงนี้เลยนะคะ ชีวิตสั้นนัก หมั่นทำความดีกันไว้นะคะ เจอกันใหม่ครั้งหน้า สวัสดีค่ะ

instagram : kru_lilly , facebook : ครูลิลลี่