การรับน้องจำเป็นจะต้องสร้างสรรค์มากกว่านี้ ต้อง 'เปลี่ยนการรับน้องให้เป็นการรักน้อง' เพราะเด็กสมัยนี้มีความคิดเปิดกว้าง จะไปจำกัดสิทธิ์และเสรีภาพของน้องไม่ได้แล้ว...

'กิจกรรมรับน้อง' เป็นกิจกรรมที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่ละสถาบันจะมีธรรมเนียมและรูปแบบการจัดกิจกรรมที่ต่างกันออกไป เพื่อต้อนรับ นักศึกษา ชั้นปีที่ 1 เข้ามาสู่รั้วมหาวิทยาลัย เราจะเห็นภาพบรรยากาศการรับน้องอย่างต่อเนื่องทางสื่อสังคมต่างๆ ภาพที่ออกมามีทั้งกิจกรรมที่สร้างสรรค์และไม่สร้างสรรค์ จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมอย่างรุนแรง ตัวอย่าง กิจกรรมรับน้องของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ ที่มีการแชร์คลิปวิดีโอเต้นท่ายั่วยุ ส่อไปในทางอนาจาร ออกสู่สังคมภายนอก ทำให้ทางมหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียง จนต้องมีมาตรการคุมเข้มนักศึกษาและลงโทษนักศึกษาที่มีส่วนร่วมกับกิจกรรมดังกล่าว

ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมรับน้องในอดีต นายศาสตรา โสภา อดีตประธานจัดกิจกรรมรับน้อง มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ให้ความเห็นกับกิจกรรมรับน้องในปัจจุบัน ว่า ตอนที่พี่เข้ารับน้องปี 1 รู้สึกเลยว่าไม่ชอบ ที่ มหาวิทยาลัยของพี่ มีระบบรุ่นพี่ถูกเสมอ พี่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ เรื่องสนุกมันก็มีนะ แต่ที่พี่ไม่ชอบ คือ ทำไมต้องตะโกน มันทำให้ไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรม แต่ส่วนตัวพี่เข้าตลอด เพราะมันสนุก ทำให้มีเพื่อน มันไม่ได้สอนให้เรารู้สึกสามัคคีอะไรเลย แต่พอขึ้นมาปี 2 พี่รู้สึกว่า ระบบพวกนี้ไม่ควรใช้ในมหาวิทยาลัย เพราะเรามองว่า เราสามารถพูดคุยกันดีๆ ได้ การทำโทษแบบนี้พี่ก็ไม่เห็นด้วย จริงๆ น้องไม่รู้เรื่องอะไรเลย พี่มองว่า 'รุ่นน้องต้องถูกเสมอ' เพราะเขาเพิ่งเข้ามา จากนั้นพี่ก็เปลี่ยนแปลงระบบรับน้องทุกอย่าง ต่างไปจากเดิม แต่บางอย่างก็ยังคงไว้

...

การรับน้องในปัจจุบันต่างกับอดีตมาก ถ้ามองในความคิดของพี่ คือ สิ่งที่พี่สอน มันหายไปหมดแล้ว อย่างตอนพี่ยกเลิกรับน้องแค่เอกเดียว ก็มีแค่นั่งคุยกัน เปิดเพลงทำกิจกรรม หรือพาน้องไปทัศนศึกษา แต่เด็กรุ่นใหม่เห็นแล้วคิดแค่ว่า สนุก ไม่คิดถึงถึงผลที่ตามมา สังคมตอนสมัยพี่ กับตอนนี้มันต่างกันมาก สมัยนี้จะเรียกประชุมรุ่นหรือประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ ก็ต้องลงใน facebook

อยากจะฝากถึงรุ่นพี่ที่จัดกิจกรรมรับน้องในปัจจุบัน ว่า น้องปี 1 ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ 'เปรียบเหมือนน้องสาวหรือน้องชายของคุณ' คุณต้องรักน้อง พี่เห็นด้วยกับกิจกรรมรับน้อง แต่ไม่เห็นด้วยที่จะต้องมีการตะโกนใส่กันหรือบังคับให้ทำกิจกรรมเพื่อความบันเทิงมากกว่าประโยชน์ที่น้องจะได้รับ พี่คิดว่าระบบคำสั่งตรงใช้กับบางมหาวิทยาลัยไม่ได้ น้องเพิ่งจบจาก ม. 6 มาใหม่ เป็นเด็กใสๆ อยากเจอกิจกรรมสนุกๆ ไม่ต้องการให้มาตะโกนใส่กัน

นายวีระกิจ จรเกตุ หรือ เกมส์ อดีตผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมรับน้อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับ ความแตกต่างของบทบาทพี่วินัยในอดีตกับปัจจุบัน ว่า สมัยก่อนเราใช้ระบบโซตัสแล้วมันได้ผล เพราะว่า เด็กส่วนใหญ่อยู่หอพัก ไม่ทราบข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆ จึงอยู่ในกฎระเบียบ มีความรัก สามัคคีกัน ระบบนี้จึงประสบความสำเร็จอย่างมากในอดีต ไม่มีใครรู้ว่าเข้ามาจะต้องเจออะไรบ้าง และสิ่งที่ทำกันในยุคก่อนเป็นสิ่งที่ดี หล่อหลอมให้มีความรัก ความภาคภูมิใจในสถาบัน รักกันในรุ่น รักกันในพี่น้อง แต่เมื่อเทียบกับสมัยนี้ พี่ก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้สนับสนุนการรับน้องแบบในอดีตแล้ว เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไป เด็กสามารถรับรู้ข่าวสาร ฉะนั้นการรับน้องจำเป็นจะต้องสร้างสรรค์มากกว่านี้ ต้อง 'เปลี่ยนการรับน้องให้เป็นการรักน้อง' เพราะเด็กสมัยนี้มีความคิดเปิดกว้าง จะไปจำกัดสิทธิ์และเสรีภาพของน้องไม่ได้แล้ว

คิดว่าจุดประสงค์ของการรับน้องปัจจุบันกับอดีตต่างกันไหม? จุดประสงค์หลักๆ ไม่ได้เปลี่ยนไป แต่จะไม่เห็นแก่นแท้เหมือนสมัยก่อน ที่มีจุดประสงค์แน่นอน โดยการรับน้องเข้ามาเป็นรุ่น เป็นพี่น้องกัน มีความหวงแหน และรักในสถาบันของตน แต่สมัยนี้มันเบาบางลงไป ไม่ว่าจะตัวรุ่นพี่เอง หรือ การหล่อหลอม ไม่เคร่งครัดเหมือนเดิม และมันก็จะเบาบางลงไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย

...

ทุกวันนี้การรับน้องที่ถูกเสนอผ่านสื่อออนไลน์ นำเสนอกิจกรรมรับน้องทั้ง 2 รูปแบบ คือ แบบรุนแรง ที่ส่อไปในทางอนาจาร ทั้งการดื่มสุราต่างๆ และอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การรับน้องที่สร้างสรรค์ ไม่รุนแรง เหมาะกับยุคสมัยนี้มากกว่า เช่น คณะประมง ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่วิทยาเขตกำแพงแสน มีการรับน้องในรูปแบบของเขา ซึ่งเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เนื่องจากในการจัดกิจกรรม จะต้องมีคณะกรรมการนิสิต คณาจารย์ที่ปรึกษา ในขณะที่บางมหาวิทยาลัยอาจจะไม่มีกิจกรรมเหล่านี้อยู่เลย สุดท้ายแล้วจะตอบโจทย์หรือไม่ มันอยู่ที่เราได้อะไรกลับคืนมาบ้าง แต่ถ้าน้องรู้สึกอึดอัด มันก็ไม่ตรงตามจุดประสงค์ของการรับน้อง

อยากจะฝาก หรือ แนะนำอะไรถึงการรับน้องในปัจจุบัน? โดยส่วนใหญ่รุ่นพี่มักคิดว่า ต้องสร้างความน่าเกรงขาม จึงอยากให้ปรับทัศนคติในตรงนี้ก่อน โดยรุ่นพี่ต้องเอาความรักเข้าไป เนื่องจากที่ผ่านมาดูรุนแรง หวังให้รุ่นน้องยำเกรงและกลัว ถ้ารุ่นพี่มีความรักให้กับน้อง พี่เชื่อว่า น้องก็ต้องเกรงใจและให้ความเคารพกลับมา วัตถุประสงค์ของการรับน้องมันไม่ได้แลกมาด้วยความรุนแรงเสมอ อยากให้รุ่นพี่เปลี่ยน เช่น ลดความรุนแรงลง ต้องคิดโจทย์ ว่า จะทำยังเพื่อที่จะแลกความรักกับน้อง ไม่ใช่รูปแบบอย่างในสมัยก่อน

...

คำสอนที่เราได้พูดกับน้อง เมื่อจบออกไป สำหรับพี่ได้ใช้สิ่งเหล่านั้นจริงๆ เช่น การมีความเคารพต่อผู้ใหญ่และผู้บังคับบัญชา โดยกิจกรรมรับน้องจะสอนในเรื่องของความอดทน ความเสียสละ เห็นได้จากการที่สิ่งที่เราต้องแลกเพื่อให้ได้รุ่นมา เพราะฉะนั้นหลายๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในการรับน้อง สำหรับตัวผม ผมคิดว่าได้ใช้

นายสินา วิทยวิโรจน์ อดีตผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมรับน้อง แสดงความเห็นว่า ทุกวันนี้กิจกรรมรับน้องยังเปลี่ยนแปลงไม่มาก อาจมีรายละเอียดเล็กน้อยเปลี่ยนแปลงไป เช่น การให้อำนาจรุ่นพี่สั่งรุ่นน้อง ส่วนคณะที่ผมเรียนก็ทำตรงเป้าหมายของการรับน้องโดยตลอด เช่น ความสามัคคี แต่ก็ไม่ใช่ทั้ง 100% และบางคนถึงขั้นรักสถาบันมาก จนทำลายตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง หมายความว่า การรับน้อง คือ การบังคับให้คุณทำตามกฎระเบียบ ซึ่งรุ่นพี่บางคนใช้ประโยชน์จากการรับน้องเข้าไปแกล้ง หรือ เข้าไปทำให้กิจกรรมดูเป็นแง่ลบ ผมเข้าใจว่า หลายคนหวังดีกับน้อง แต่มันก็เป็นการให้อำนาจกับพี่มากเกินไป จนใช้อำนาจในทางที่ผิด โดยการให้ทำในสิ่งที่ดูเป็นการอนาจาร หรือ ลิดรอนสิทธิของน้อง

...

คิดว่า การรับน้องตอบโจทย์ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพี่-น้องมั้ย? ผมมองว่า ไม่ มันคือการพยายามทำให้คนคิดเหมือนกัน ทั้งๆ ที่แต่ละคน มีความคิดไม่เหมือนกัน แต่ตัวระบบนี้มันต้องการทำให้เรารักกัน ทุกคนชอบกัน ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น ในระดับอุดมศึกษาสอนให้เป็นตัวของตัวเอง ใฝ่รู้ เพื่อที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ตามที่ตัวเองต้องการ แต่ระบบรับน้องมันไม่ได้เอื้อหรือพัฒนาในส่วนนั้น ส่วนคนที่คิดไม่เหมือนกัน จะถูกกันออกไป เช่น คนที่ไม่เข้ารับน้อง

คิดเห็นอย่างไรกับการรับน้องในปัจจุบันที่ส่อไปในทางไม่ถูกไม่ควร? คิดว่า ควรมีทางเลือกให้ นศ.เข้าใหม่ เช่น ต้องไม่ลิดรอนสิทธิ์น้อง ไม่ควรให้อำนาจรุ่นพี่มากเกินไป น้องควรมีสิทธิ์เลือกว่าจะเข้ากิจกรรมรับน้องหรือไม่ ผมคิดว่า มันเป็นการพัฒนากิจกรรมให้มีทางเลือกที่หลากหลายมากกว่าการบังคับให้ทุกคนต้องทำ เพื่อจะสนับสนุนความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า เช่น การรับน้อง และกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งควรกลับมาคิดหาวิธีอื่น ที่ทำให้คนรู้จักกันมากขึ้น โดยถ้าเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง มันมีหลายวิธีมาก ทั้งนี้ การรับน้องก็ควรคิดถึงสาธารณะด้วย

ฝากถึงการรับน้องในปัจจุบัน อยากให้เป็นกิจกรรมที่เปิดกว้าง ผมว่าทุกๆ คนควรปรับความคิดใหม่ สร้างความเข้าใจใหม่ ว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบที่เคยทำกันมา เราอาจจะต้องเปลี่ยนทั้งหมดเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย เพราะการรับน้องก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถ้าไม่เปลี่ยนมีการแปลง มันก็จะถูกมองในแง่ลบลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ในยุคที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลกับการใช้ชีวิตของคนในสังคม สิ่งเหล่านั้นจะถูกเผยแพร่และถ่ายทอดไปอย่างรวดเร็ว บางสิ่งบางอย่างหรือกิจกรรมบางอย่างที่เราอาจจะยึดปฏิบัติมายาวนาน อาจจะดูไม่เหมาะสมเมื่อมีการเผยแพร่ออกไป ในขณะที่สังคมเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ในทางเดียวกันกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมรับน้องก็ควรจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามความรับรู้ของคนในยุคสมัยต่างๆ เพื่อการรับน้องที่มีประสิทธิภาพ และอาจเป็นผลพวงทำให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน