"วิษณุ" เตรียมแจงโรดแม็ปสูตร 6-4 6-4 ให้ครม.รับทราบพรุ่งนี้ หลังร่างรธน. 36 มหาปราชญ์โดนคว่ำเสียขบวนเมื่อวาน พร้อมกำหนดสเปคคร่าวๆ คณะกรรมการร่างฯ ชุดใหม่ เชื่อมีการมองตัวบุคคลสานงานต่อแล้ว แต่ยังไม่ทาบทาม ปัดแสดงความเห็นเหตุ สปช.คว่ำร่างฯ...

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 58 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญว่า การตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของ คสช. เข้าใจว่าขณะนี้ยังไม่มีการเตรียมการอะไร เพราะมีเวลา 30 วัน และไม่ใช่อะไรที่หาง่าย ส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดเก่า บางคนจะเข้ามาด้วยหรือไม่นั้นไม่ทราบ รู้ว่า คสช. ยังไม่ได้หารือเพราะยังเร็วไป ในการประชุม ครม. วันที่ 8 ก.ย. นี้ ตนจะสรุปและชี้แจงโรดแม็ปต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมการร่างฯ 21 คน การตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 200 คน และการบริหารเวลาจากนี้ โดยจะใช้สูตร 6-4 6-4 คือ คณะกรรมการร่างฯ ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน ทำประชามติ 4 เดือน หากประชามติผ่านจะใช้เวลาทำกฎหมายลูกและให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา 6 เดือน ต่อจากนั้นอีก 4 เดือนสำหรับการเลือกตั้ง รวมแล้ว 20 เดือน นับจากที่มีคณะกรรมการร่างฯ บางเรื่องสามารถทำให้สั้นลงได้

เมื่อถามว่า หากทำประชามติแล้วไม่ผ่านจะทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า วันนี้ไม่คิดแง่ร้าย แต่หากถึงจุดหนึ่งต้องคิดเตรียมไว้ เมื่อถามถึงคุณสมบัติของคณะกรรมการร่างฯ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องมีความรู้ในการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย แต่ต้องเข้าใจเรื่องการเมืองและสภาพเมืองไทยในหลายมิติ ส่วนจะเอาคนที่มีแนวคิดเดียวกับ คสช. หรือไม่นั้น เขาคงไม่ถึงกับเอาคนที่มีแนวคิดตรงข้ามรัฐบาล เพียงแต่จะหาคนที่มีแนวคิดเดียวกับรัฐบาลยาก เข้าใจว่าคนที่มีหน้าที่มีการมองไว้บ้างแล้ว แต่ยังไม่ถึงกับทาบทาม พอถึงเวลา คสช.ทั้งคณะต้องคุยกัน ต้องดูว่าเขาพร้อมจะมาหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องตั้ง 21 คน เพราะประธาน 1 กรรมการไม่เกิน 20 คน

...

เมื่อถามว่า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะหยิบยกเนื้อหาเดิมมาพิจารณาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แล้วแต่ คณะกรรมการร่างฯ อาจเอาเนื้อหาของร่างที่ถูกคว่ำไปมาพิจารณาเพราะมีทั้งข้อดีข้อเสีย หรือเอาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 40 หรือปี 50 มาพิจารณาก็สามารถเสนอเข้ามาได้ เมื่อถามว่า ประเด็นที่คนไม่พอใจอย่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) จะกลับมาได้อีกหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า จะกลับมาหรือไม่ไม่ทราบ แต่คนที่เป็นคณะกรรมการร่างฯ ต้องคิด ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ถ้าไม่เอาตัวนี้แล้วปัญหามีอยู่จะทำอย่างไร เพราะเรื่องนี้ กมธ.ยกร่างฯ ชุดที่แล้ว เขาดูที่ปัญหาแล้วหามาตรการรองรับ เมื่อคนไม่ชอบมาตรการที่รองรับ ปัญหาที่กลัวว่าจะเกิดยังกลัวอยู่หรือไม่ ถ้าไม่กลัวก็ไม่ต้องมีมาตรการ แต่ถ้ากลัวอยู่ก็ต้องคิดมาตรการอื่น

นายวิษณุ กล่าต่อว่า ต่อไปถ้ามีรัฐธรรมนูญใหม่ มาตรา 44 จะหมดไป การร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างฯชุดที่ผ่านมา จึงคิด คปป. ขึ้นมาแทน ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน แต่ให้คณะกรรมการเป็นพระเอก เพื่อทำให้เห็นว่าไม่มีการสร้างกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจคสช. ครม. นอกจากนี้นักการเมืองต้องแสดงให้เห็นว่าจะไม่สืบทอดภารกิจ ลักษณะความประพฤติแบบเก่าที่เคยทำ จึงจะทำให้สังคมเกิดความไว้วางใจ ถ้าต่างฝ่ายต่างลดราวาศอก ยอมรับว่าประเทศบอบช้ำมามาก ควรตั้งใจทำอะไรให้ดี หันหน้าเข้าหากัน ปรองดองกัน แต่วันนี้ดูกั๊กๆ กันอยู่ ส่วนเหตุผลที่ สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญคงมีหลายสาเหตุ ไม่สามารถยกตัวอย่างได้ เพราะไม่รู้จริง จากนี้คงมีคนออกมาพูดถึงสาเหตุ และขณะนี้ตนยังไม่ได้พูดคุยกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ