ใบบัวบก หรือผักแว่น เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กที่ขึ้นบนดิน แต่มีลักษณะใบคล้ายกับใบบัว ซึ่งหลายคนคงรู้จักใบบัวบกกันดีว่า น้ำของใบบัวบกมีสรรพคุณสามารถช่วยแก้ช้ำใน และยังมีสรรพคุณอื่นๆ เช่น มีฤทธิ์สมานแผล ลดการอักเสบ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา และแบคทีเรีย เป็นต้น
ใบบัวบก นิยมรับประทานทั้งใบแบบสดๆ หรือนำไปแปรรูปทำเป็นน้ำใบบัวบก หรือนำไปบดทำเป็นผงเพื่อนำไปทำยา แม้ใบบัวบกมีสรรพคุณและประโยชน์มากมาย แต่อาจมีอันตรายอย่างอื่นแอบแฝงมากับใบบัวบกด้วย อย่างเช่น สารกำจัดแมลงและศัตรูพืช หรือที่เรียกกันติดปากว่า ยาฆ่าแมลง
ยาฆ่าแมลงที่ใช้ในทางการเกษตรในปัจจุบันนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต กลุ่มคาร์บาเมต และกลุ่มไพรีทรัมและสารสังเคราะห์
ไพรีทรอยด์ เมื่อร่างกายได้รับสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดอันตรายที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกลุ่มของยาฆ่าแมลงและปริมาณที่ได้รับซึ่งจะมีอาการแตกต่างกันไป เช่น กลุ่มออร์กาโนคลอรีน เมื่อสารกลุ่มนี้ เข้าสู่ร่างกายจะไปสะสมอยู่ในไขมันตามส่วนต่างๆของร่างกาย จะทำให้เกิดอาการเป็นพิษทั้งแบบเรื้อรัง และแบบเฉียบพลัน
อาการพิษแบบเรื้อรัง จะมีอาการผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหาร มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด เหน็ดเหนื่อย และเมื่อยล้าตามร่างกาย
อาการพิษแบบเฉียบพลัน อาการจะปรากฏภายใน 2-3 ชั่วโมง ได้แก่ ปวดศีรษะ ความคิดสับสน อาจอาเจียน มีอาการทางระบบประสาท สั่นกระตุกที่หนังตา ใบหน้า และลำคอ มีอาการชักและหมดสติ มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่ำ
วันนี้สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างใบบัวบก 5 ตัวอย่าง จากย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อนำมาวิเคราะห์หายาฆ่าแมลงตกค้างทั้ง 4 กลุ่มข้างต้น รวมทั้งหมด 58 รายการ
...
ปรากฏว่ามีใบบัวบก 4 ตัวอย่างที่ตรวจพบยาฆ่าแมลงตกค้าง กลุ่มออร์กาโนคลอรีน 1 รายการ คือ เอนโดซัลแฟน และกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต 2 รายการ คือ คลอร์ไพริฟอส และไตรอะโซฟอส
เห็นอย่างนี้แล้ว ขอแนะว่าก่อนรับประทานหรือนำใบบัวบกไปแปรรูปทุกครั้งควรล้างน้ำให้สะอาดโดยล้างให้น้ำไหลผ่าน สามารถช่วยลดปริมาณการตกค้างของสารเคมีได้.