“นายกฯ” ขอ รบ.อยู่ในบทบาทที่เหมาะสม เรื่องร่าง รธน.อย่าสร้างขัดแย้งอีก หนุน คปป. แจง จำเป็นต้องมี เพื่อแก้วิกฤติประเทศติดล็อก สานต่อ ปรองดอง-ปฏิรูป ป้องกันปฏิวัติอีก ย้ำ ไม่มีอำนาจซ้อนรัฐบาล ลั่น ปฏิรูปศึกษา สอนเด็กมีวิสัยทัศน์

วันที่ 1 ก.ย. เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลัง การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้ชี้แจงที่ประชุมครม. เกี่ยวกับเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ตนและรัฐบาลต้องอยู่ในบทบาทที่เหมาะสม เพราะมีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ไม่ใช่เอาเป็นความขัดแย้งแล้วมาต่อต้านกันอีก เพราะส่วนหนึ่งต้องการประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีกพวก ต้องการให้มีมาตรการแก้ไขปัญหา เพราะความขัดแย้งเกิดมา 8 ปี มีการประท้วงมา 700 กว่าวัน และก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57 มีความรุนแรง มีคนตาย บาดเจ็บ แต่ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากนี้ มีปัญหาเจอการประท้วง แก้ปัญหาไม่ได้ เลือกตั้งไม่ได้ จะทำอย่างไร นี่คือส่วนหนึ่งของเหตุผลที่มีความจำเป็น ต้องมีอะไรเข้ามากำกับดูแล เรื่องเช่นนี้ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ถ้ามีได้ก็มีไป แต่ถ้ามีไม่ได้แล้วเกิดสถานการณ์ที่ประเทศติดล็อกเดินหน้าไม่ได้ รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณไม่ได้ ลาออกก็ไม่ลาออกอย่างที่ผ่านมา จะทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องกำหนดกติกาขึ้นมา

“ผมไม่ได้หมายความว่า เขาจะให้รัฐบาลต้องอยู่ต่อ หรือไม่อยู่ต่อ ไม่มันเกี่ยวกับผม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับประชามติ ผมจะไปชี้ชัดอะไรมากไม่ได้ เพราะมอบหมายความรับผิดชอบให้เขาไปแล้ว ผมมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย เดินหน้าประเทศวางพื้นฐานประเทศ และคิดว่า จะปฏิรูปประเทศอย่างไรในระยะยาว ซึ่งถ้าเลือกตั้งแล้วมั่นใจว่า ไม่มีปัญหาก็ทำไป แต่ถ้าไม่ไว้ใจก็รับฟังข้อเสนอมา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การสร้างความเข้มแข็งเชิงโครงสร้างให้กับประเทศ ต้องทำต่อในช่วงของการปฏิรูปหากรัฐบาลใหม่รับรองว่า จะทำการปฏิรูป แต่เวลานี้ตนกลับยังไม่ได้ยินใครพูดเรื่องการปฏิรูป และเขายังไม่รู้เลยว่า การปฏิรูป คือ อะไร สื่อมวลชนต้องไปถามว่า ถ้าจะอาสาสมัครมาดูแลประชาชนต้องพูดว่า จะปฏิรูปอย่างไร มีแผนหรือไม่ และสิ่งที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำวันนี้มีแผนการทั้งหมด แต่ไม่ได้เขียนกรอบระยะเวลา ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหน้าต้องไปทำแผนมา ไม่ใช่ตน และถ้ามี คปป. ก็มีหน้าที่จะดูว่าการปฏิรูปนั้นว่า เป็นไปตามแผนหรือไม่ และประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่า พึงพอใจหรือไม่ มิเช่นนั้นจะไม่มีการประเมิน หากทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็ป รัฐบาลหน้าต้องมาสายงานต่อที่ตนได้ทำไว้ ซึ่งอยู่ที่ว่า วันนี้เราได้กำหนดกฎเกณฑ์อะไรไว้บ้าง

...

“แต่ก็ไม่ไว้วางใจกันทั้งผมและ คสช. ผมไม่อยากให้คำพูดว่าไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านแล้ว คสช.จะได้ประโยชน์ และที่ว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านก็มี คปป.อีก ถามว่า คปป.ให้ประโยชน์ตรงไหน ผมอยากจะรู้ว่า ประโยชน์ที่ว่ากันนั้นคืออะไร หากประโยชน์ คือ อำนาจและผลประโยชน์ ผมไม่มีผลประโยชน์ และอำนาจ ผมก็ไม่ได้อยากได้ แต่เมื่อประชาชนเดือดร้อน ผมจึงเข้ามา เรื่องของคปป.นั้น อำนาจไม่ได้ทับซ้อนกับรัฐบาล และไม่ได้มีอำนาจทางนิติบัญญัติ คปป.จะมีอำนาจต่อเมื่อเกิดสถานการณ์ และเข้ามาแก้ปัญหาความรุนแรง เพราะถ้าไม่มี ถ้าเจ้าหน้าที่ทำอะไรลงไปอาจจะติดคุกได้ เช่นเดียวกับ ที่ผมเข้ามาโดยต้องมีอำนาจตามกฎอัยการศึก จะได้ไม่ถูกไล่ล่า เพราะวันนี้ที่เข้ามาไม่ได้ต้องการอะไร มีเพียงกฎอัยการศึกอย่างเดียว ที่จะให้ผมเข้ามาหยุดความรุนแรงและเดินหน้าประเทศได้ ขณะเดียวกัน สื่อโจมตีว่า ผมทำรัฐประหาร ขอถามว่า ผมทำในสิ่งที่ดีกว่า หรือไม่ แต่ไม่ได้บอกว่าอะไรดีกว่ากัน เพราะอย่างไรเสีย ประชาธิปไตยต้องดีกว่าอยู่แล้ว แต่ควรจะเป็นแค่ไหน ระยะเวลาใดควรมีใครมากำกับดูแลหรือไม่ โดยไม่ทับอำนาจรัฐบาล รัฐบาลจะมีอำนาจเต็มจนกว่าจะเกิดวิกฤติ ถ้าไม่เช่นนั้นใครจะมาแก้ จะให้ทหารปฏิวัติอีกหรือ ตรงนี้ที่เขาทำมา คือ ไม่ต้องการให้มีการปฏิวัติอีก สิ่งเหล่านี้ต้องให้ประชาชนเข้าใจ ว่า เขาตั้งใจเขียนถึงอำนาจ คปป.ไว้เช่นไร

ที่ผ่านมา นักการเมืองชี้นำไปเรื่อย ในจุดที่เขาไม่เห็นด้วย โดยจะให้ประชาชนไม่เห็นด้วยตามไปด้วย ถ้ารัฐบาลในอนาคตสามารถทำได้ตามที่สัญญาไว้ผมก็ไม่ได้อยากเกี่ยวข้อง เพียงแต่ห่วงว่า วันหน้าจะมีปัญหาเหมือนเดิมขึ้นมาอีกไหม ถ้าคิดว่า ปัญหาไม่เกิดก็เป็นเรื่องของคน เลือกตั้งได้ก็เลือกไป แต่ถ้าไม่มั่นใจจำเป็นต้องดูแล หรือไม่ นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ขอให้สื่อฯที่นำเสนอเรื่อง คปป.แล้ว ขอให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ในหมวดอื่นๆ ด้วย ในทุกมาตรา ตนกลุ้มใจที่ผลสำรวจออกมาว่า ประชาชนไม่รู้จัก สปช. สนช. ว่า มีหน้าที่ทำอะไรกัน ซึ่งตรงนี้สื่อฯจะช่วยได้มาก อย่าเขียนแต่เรื่องเดิมๆ ที่เป็นความขัดแย้ง เช่นตั้งทหาร ตำรวจ มีพรรคมีพวก ตนไม่ได้ต้องการพวก มีแต่จะต้องทำงานร่วมกันให้ได้ ไม่แสวงหาผลประโยชน์ จะเอาอะไรกันนักหนา ถามว่าคนที่มีเงินหมื่นล้าน แสนล้านได้ใช้เงินกันบ้างหรือไม่

เมื่อถามต่อถึงกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ออกมาระบุว่า การปฏิรูปน้อยไป โดยเฉพาะเรื่อง ตำรวจ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนรับทราบเรื่องดังกล่าว แต่ต้องมีการขับเคลื่อนกันต่อ ให้ทำทีเดียวจะสำเร็จหรือไม่ เราไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาสั้น เพราะมีความขัดแย้ง ถ้าบ้านเมืองสงบก็ทำได้เร็ว ทุกอย่างต้องเริ่มที่วุฒิภาวะ ของคนก็ต้องเริ่มที่การศึกษา การจะเอาคนไปเป็น ทหารตำรวจ ต้องมีจิตสำนึก

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึง เรื่อง นโยบายปฏิรูปการศึกษา ว่า ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 จึงต้องลงรายละเอียดว่า เด็กนักเรียนจะเรียนหนังสืออย่างไร โดยที่ความรู้ไม่น้อยไปกว่าเดิม แต่มีความสุขมากกว่าเดิม ไม่ใช่ว่าเรียนมากแล้วรู้มาก บางทีเรียนมากเกินไปก็ไม่ดี น้อยเกินไปก็ไม่ได้ ตน ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ ไปพิจารณาให้เกิดความชัดเจนขึ้น อย่าให้เป็นอย่างที่เขาเรียกร้องมาว่า ลดเวลาเรียนลง แล้วลูกเขาจะโง่ลง หรือเปล่า จะสอบมหาวิทยาลัยไม่ได้ ซึ่งต้องมีการสร้างความเข้าใจ ซึ่งการลดเวลานั้นต้องเอาหลักสูตรมาดูว่า ที่เรียนกัน 8 สาระวิชา กี่ชั่วโมง อันไหน จำเป็น ไม่จำเป็น บางวิชาไม่ต้องเรียนตอนประถม เอาไปเรียนตอนมัธยมก็ได้ หรือ จะเรียนให้น้อยลง เพราะด้วยความเจริญวัยของคน สมองมีแค่นั้น เด็กก็เรียนได้แค่นั้น แต่ไอ้ที่มันใช้สอบแข่งขันก็ลดไม่ได้

นายกฯ กล่าวต่อว่า วันนี้ต้องทำให้คนทุกคนอย่าติดกับดักตัวเอง ติดอยู่กับใบปริญญา เรียนให้จบ แต่ไม่ได้มองว่าจะหากินกับอาชีพไหน มันไม่ได้เพราะฉะนั้นต้องเรียนรู้ด้วย เอาเวลาที่เหลือมาวันละ 2 ชั่วโมง มาเติมในส่วนนี้เข้าไป เพื่อให้เขาเรียนรู้ว่าเขาจะมีความเข้มแข็งอย่างไรในสังคม มีภูมิคุ้มกันอย่างไร เรียนรู้ในเรื่องของโลกภายนอก วิธีการทำงานเมื่อเขาโตขึ้น วันนี้เรื่องที่ประเทศไทยขาด คือ คณิตคิดในใจ เรียงความย่อความ การคิดที่เป็นวิสัยทัศน์ ขาดนักค้นคว้า นักวิจัย ขาดเรื่องอาชีพ กีฬา ซึ่งหากเราสามารถใส่ในส่วนนี้ได้ จะทำให้เด็กมีทางเลือก จัดกลุ่มวิชาขึ้นมา อาจจะ 5 อย่าง 10 อย่าง วนสอนไปและต้องหาครูที่มีคุณภาพ ไม่ใช่พอว่าง 2 ชั่วโมง แล้วครูบอกให้อ่านหนังสือเอา ครูต้องสอนวิชาเหล่านี้แล้วนับเป็นหน่วยกิตเหมือนกัน แต่อาจไม่ต้องเน้นเรื่องการสอบ แต่เน้นที่การให้การเรียนรู้ เอาภาพต่างประเทศมาให้เขาดู วันนี้โลกโซเชียลมีเดียนั้นรวดเร็ว มีทั้งประโยชน์และโทษ อาจจะเอาตรงนี้มาสอนกันว่า เราจะมีวินัยกันอย่างไร การเคารพกฎหมาย อย่าทำให้ตัวเองมันซ้ายหรือขวาจนสุด เพราะทุกคนต้องอยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมายที่เท่าเทียม

“สมัยก่อน พ่อแม่สอนได้ แต่วันนี้พ่อแม่ไม่มีเวลา ต้องหาเงินเลี้ยงลูกมากกว่าเก่า ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น ลูกบางทีก็คิดนอกกรอบ โรงเรียนก็สอนให้ไปทางนี้ทางเดียว หากเป็นอย่างนี้ประเทศเราก็พัฒนาไม่ได้ การเป็นประชาธิปไตยที่เหมาะสมเป็นระบบที่ดีที่สุด แต่อย่าลืมว่าเราแก้ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมไม่ได้ เพราะมันต้องมีการลงทุน มาก-น้อยภายใต้การแข่งขันเสรี ไม่ใช่เฉลี่ยเท่าเทียมกัน แต่ทำอย่างไรให้คนทุกคนไม่มีความเหลื่อมล้ำ ก็ต้องใช้กฎหมาย สอนให้คนเคารพกฎหมาย” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

เมื่อถามว่า ขอให้นายกฯอธิบายแนวทางการปฏิรูปการศึกษา นายกฯกล่าวว่า ไปดูว่า ที่ผ่านมามีรัฐมนตรีกี่คน นโยบายชัดเจนและมีความต่อเนื่องหรือไม่ ประชาชน ผู้ปกครองร่วมมือหรือไม่ สภาพสังคมทำให้เกิดความสับสนหรือเปล่า ซึ่งการปฏิรูปการศึกษานั้นต้องมี 2 อย่าง คือ 1.เรียนเพื่อปริญญา ซึ่งห้ามไม่ได้ ทุกคนอยากมีหมด 2. เราจะเข้มแข็งได้อย่างไร ทำงานอย่างไร ตนเองมีศักยภาพตรงไหน ที่ผ่านมา มีเด็กนักเรียนมาหาตนหลายคนบอกว่า อยากเป็นครู เป็นแพทย์ พยาบาล ซึ่งพวกนี้เรียนหนังสือเก่ง อีกพวกหนึ่งก็อยากเป็นครูบ้าง แต่เรียนหนังสือไม่ดี เขาก็ต้องมีทางเลือกของเขา ปริญญาเอาเมื่อไหร่ก็ได้ หากพ่อแม่ไม่มีเงิน หรือ ต้องเรียนต่อแล้วใช้เงินเยอะ ทำให้พ่อแม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ก็หางานทำก่อนก็ได้ หากอยากเป็นครูก็ต้องไปเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ มีแนวคิดในการพัฒนา แต่ถ้าหัวเราไม่ดี พยายามไปสอบแข่งกับคนพวกนี้มันก็ไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้น อย่างไรคนผิดหวังก็ต้องมากกว่าคนสมหวัง เข้ามหาวิทยาลัยรัฐ เพราะเกรดมันสูง ก็ต้องไปหาทางเลือกโดยเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน แต่หากเรียนแล้วมันแพงเกินไป ไม่มีเงินเรียนก็กลายเป็นเด็กแว้น เรื่อยเปื่อยไปอีก ซึ่งนี่คือภาระสังคม

“ต้องให้ประชาชนรู้จักตนเองก่อน หากสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ก็ต้องไปหางานทำ ไม่ก็ไปเรียนวิชาชีพ ช่าง วิศวกรรถไฟ วิศวกรราง ที่รัฐกำลังขาดอยู่ ต้องเร่งตรงนี้ หากทำอย่างนี้มหาวิทยาลัยเอกชนจะมีคนไปเรียนเยอะขึ้น เพราะจะมีการรับรองว่าจบมาจะได้รายได้เท่าไหร่ ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว