ศาสตราจารย์นายแพทย์วชิร คชการ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

สัปดาห์ที่ผ่านมาศุกร์สุขภาพได้เสนอความรู้เกี่ยวกับภาวะฉี่กัดคุณยาย สำหรับศุกร์นี้ ขอนำเสนอการดูแลที่ถูกวิธี ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ การดูแลป้องกันไม่ให้ผิวหนังบริเวณใต้ผ้าอ้อมเกิด ปัญหา ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งพอสรุปได้ ดังนี้

1. ทำความสะอาดโดยน้ำอุ่น (ไม่ใช้น้ำร้อน) ใช้สบู่ที่มีความเป็นกรดด่างเหมาะกับผิวบางๆ ไม่เป็นกรดหรือด่างมากจนเกินไป เลือกสบู่ที่ระบุว่าสามารถใช้กับเด็กได้ ไม่ควรปล่อย ให้ใต้ผ้าอ้อมหมักหมมนานไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการปนเปื้อนกับอุจจาระ เมื่อมี อุจจาระปนควรต้องทำความสะอาดทันที แต่ถ้าลำพังเพียงปัสสาวะอาจจะรอได้บ้าง ทั้งนี้ ผ้าอ้อมที่มีวางขายมีความสามารถในการดูดซึม อุ้มน้ำปัสสาวะไว้ได้เป็นลิตรกว่าจะชุ่ม

2. ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง โดยการทาครีมช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ซึ่งครีมที่ช่วยให้ผิวหนัง ชุ่มชื้นจะมีสารที่ช่วยเพิ่มไขมันใต้ผิวหนังได้ ไม่ควรใช้น้ำมัน เพราะนอกจากจะ เหนอะหนะแล้วยังดูแลยาก ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องผิวหนังขาดความชุ่มชื้น บางคนนิยมใช้ แป้ง แต่พบว่าจะยิ่งทำให้ผิวแห้ง บดบังรอยแผลที่อาจจะซ่อนอยู่ แต่สารที่มีความมันอาจจะเลือกใช้ในบางบริเวณ เช่น รอบๆ ทวารหนัก เพื่อป้องกันการขูดขีดขณะทำความสะอาด

3. หากมีรอยแผลถลอกหรือรอยแดง อย่าละเลย ต้องคอยสังเกต บางครั้งแบคทีเรียอาจจะ กัดเซาะเข้าด้านในทำให้ลุกลามได้ เมื่อดูภายนอกจะดูเหมือนว่าไม่รุนแรง หากสงสัย ควรพบแพทย์ทันที

4. เมื่อมีรอยผื่นแดงๆ ควรเลี่ยงการใช้ครีมที่มีสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นครีมที่นิยมใช้รักษาผื่นคัน ในคนทั่วไป ครีมนี้มีประสิทธิภาพลดการอักเสบ การแพ้ แต่เนื่องจากรอยแดงๆ ในผู้สูง อายุกลุ่มนี้อาจจะไม่ใช่การอักเสบผื่นแพ้ อีกทั้งการทาสเตียรอยด์นานๆ กลับยิ่งทำให้ ผิวบางขึ้น จึงแนะนำให้ใช้ครีมที่ไม่มีสเตียรอยด์ปน นอกจากจะลดการระคายเคืองแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ครีมเหล่านี้ในปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ตามร้านขาย ยาและโรงพยาบาล มีหลายคนวินิจฉัยโรคเอง โดยการไปหาซื้อยามาทาเอง เช่น ยาแก้เชื้อรา ยาแก้เริม ยิ่ง ทายิ่งแย่ลง จึงขอย้ำว่า ยาทาที่ปลอดภัยในระยะยาวควรเป็นยาที่ไม่มีสารสเตียรอยด์ ยิ่งถ้าเป็นครีมที่สกัดมาจากสารธรรมชาติมักจะได้รับความนิยมสูง

...

5. ในช่วงที่มีปัญหารุนแรง แพทย์อาจจะพิจารณาใส่สายสวนปัสสาวะ เพื่อลดการปนเปื้อน ที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการดูแล เมื่อปัญหาหมดไปแล้วจึงถอดออก

จะเห็นได้ว่า การดูแลผู้ใหญ่ที่ใส่ผ้าอ้อมไม่ได้ยุ่งยากแต่ประการใด สามารถ ดูแลและป้องกันอาการแทรกซ้อนได้เอง ไม่จำเป็นที่จะต้องหอบหิ้วผู้สูงอายุมาเพื่อเพียง บอกว่า “คุณหมอขาช่วยที ฉี่กัดคุณยาย”

หวังว่าคงจะหมดความกังวลและเป็นแนวทางสำหรับการดูแลผู้สูงอายุใน ภาวะที่เจอปัญหาเช่นนี้นะครับ