กระหึ่ม คึกคัก กระแสประชาชนตื่นตัวทั่วประเทศ

กับมหกรรม “Bike for Mom” โครงการ “ปั่นเพื่อแม่” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรม ราชินีนาถ ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงจักรยานนำขบวนด้วยพระองค์เอง

ถือเป็นงานใหญ่แห่งปีที่ต้องบันทึกไว้ ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2558

โดยปรากฏการณ์ที่เสื้อยืดสีฟ้าตราสัญลักษณ์โครงการ จักรยาน อุปกรณ์ต่างๆเป็นสินค้าขายดี

บางพื้นที่ถึงขั้นขาดตลาดหาซื้อยาก

ตามสถานการณ์ที่ประชาชนคนกรุงเทพฯและต่างจังหวัดจำนวนมากได้แสดงเจตจำนง ลงทะเบียนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในมหกรรมประวัติศาสตร์ของเมืองไทย

ปรากฏสู่สายตาผู้คนไปทั่วโลก

เฉพาะกรุงเทพมหานครจุดศูนย์กลาง ขบวนเริ่มต้นจากลานพระราชวังดุสิต ผ่านเส้นทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เข้าถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านหน้ากรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) มุ่งสู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปสิ้นสุดที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ย้อนกลับจุดตั้งต้นในเส้นทางเดียวกัน

ระยะทางทั้งหมด 43 กิโลเมตร จักรยานกว่า 40,000 คัน

โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. นำคณะรัฐมนตรี ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ประชาชน ปั่นตามเสด็จตลอดเส้นทาง

ริ้วขบวนสีฟ้ายาวเหยียดสุดลูกหูลูกตา

เป็นภาพประวัติศาสตร์แบบเดียวกับปรากฏการณ์เทิดพระเกียรติเสื้อเหลืองทั่วแผ่นดิน

แน่นอน โดยผลทางอ้อม ปรากฏการณ์ “Bike for Mom” ถือเป็นมหกรรมงานใหญ่ที่กระตุ้นบรรยากาศความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทย

ในสถานการณ์ที่ยังก้าวข้ามวิกฤติความขัดแย้งไม่พ้น

นี่คือกิจกรรมที่ทำให้ประชาชนทุกสีทุกกลุ่มได้มีอารมณ์ร่วมกันแบบไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย

และถือเป็นจังหวะที่พักสถานการณ์ด้านอื่นไปชั่วขณะ

...

ทุกอย่างยกยอดไปว่ากันหลังจบกิจกรรม เสร็จจากงานใหญ่กลับเข้าสู่โหมดการเมือง

ไล่ตั้งแต่คิวการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตามฤดูเกษียณอายุราชการ

ตามกระแสพุ่งเป้าโฟกัสไปที่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2 เก้าอี้หลักที่มีต่อยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของรัฐบาลทหาร คสช.

เปรียบเหมือนม้ากับเรือในหมากกระดานอำนาจ

โดยเฉพาะในฉากเชิงซ้อนที่ซ่อนอยู่ภายใต้ขุมอำนาจ คสช.ชักจะเริ่มมีอาการฟันเฟืองขบกัน

เส้นพี่ สายน้อง ต้องแย่งชิ้นปลามันกันเอง

และก็ปิดกล่องก่อนเลย ตำแหน่ง ผบ.ตร.นั้นได้คำตอบแล้วในการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม นั่งเป็นประธาน

มีมติเลือก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร.ฝ่ายความมั่นคง ขึ้นแท่น ผบ.ตร.คนใหม่

ตามกระแสข่าววงนอกวงในที่ออกมาก่อนหน้าต้องฟันธงกันได้ในนาทีสุดท้าย

โดยที่ชื่อของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ เบียดตีคู่กันมากับ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.ฝ่ายปราบปราม แบบที่ผลัดกันนำผลัดกันตาม

หุ้นดีดขึ้นดีดลงเป็นรายวันรายชั่วโมง

จากเริ่มต้น พล.ต.อ.จักรทิพย์คือตัวเต็ง ด้วยคุณสมบัติความครบเครื่องในยุทธจักรสีกากี ฝีมือในงานสืบสวนสอบสวนของตำรวจ มีคอนเนกชั่นกับฝ่ายการเมือง

พร้อมรับมือเกมมวลชนที่คาดกันว่าปีหน้าม็อบจะเริ่มร้อนแรง

แต่ในวันเกิดของ พล.อ.ประวิตร ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้นั่งร่วมโต๊ะกับ พล.อ.ประวิตร รวมไปถึง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ได้มีการพูดถึงคุณสมบัติของจ่าฝูงสีกากีคนใหม่ แล้วก็เป็น พล.อ.ประยุทธ์ที่ออกมาบอกกับนักข่าวว่า การพิจารณาไม่คำนึงถึงอายุราชการจะเหลือกี่ปี

ทำให้ชื่อของ พล.ต.อ.เอก เด่นขึ้นมาแทนที่ ด้วยอาวุโสที่เหนือกว่า อายุราชการที่เหลือแค่ 1 ปีตรงกับที่นายกฯพูด และยังเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องโรงเรียนมัธยมวัดนวลนรดิศกับ พล.อ.ประยุทธ์อีกต่างหาก

อย่างไรก็ตามสุดท้ายเลยคำตอบพลิกเป็น พล.ต.อ.จักรทิพย์

ตามจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตรนั่งเป็นประธาน ก.ต.ช.เคาะโต๊ะ ว่ากันโดยรูปการณ์เงื่อนไขตัดสิน “ฟันธง” นาทีสุดท้ายก็น่าจะอยู่ที่ความเป็น “สายตรง”

เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์นั้นมีความแนบแน่นกับ พล.อ.ประวิตร

และแน่นอน โดยสถานการณ์เชื่อมโยง ช็อตต่อเนื่อง

เมื่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์คว้าเก้าอี้ ผบ.ตร.คนใหม่ ตามออปชั่น

ที่ผูกโยงกับตำแหน่ง ผบ.ทบ.คนต่อไป

งานนี้ตัดไปแล้วในเรื่องของหลักเกณฑ์ความอาวุโส

คู่แคนดิเดตระหว่าง พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วย ผบ.ทบ. อาวุโสอันดับหนึ่ง กับ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วย ผบ.ทบ.อาวุโสอันดับสอง

ไม่ต้องมองเรื่องของอายุราชการ ใครขึ้นชั้นตำแหน่งก่อนหลัง

ประกอบกับการประเมินสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ที่ตอบคำถามนักข่าวเป็นนัย น้องชายผิดอะไรที่จะเป็น ผบ.ทบ.ไม่ได้ ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีมีนามสกุลเดียวกันยังไม่มีใครว่าอะไรเลย

ไม่ตัดบทปิดทางกันแต่อย่างใด

ขณะที่เจ้าตัว พล.อ.ปรีชา ก็แบะท่า หากได้รับเลือกก็มีความพร้อมเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะความเป็นทหารผูกพันอยู่ในสายเลือด เติบโตในครอบครัวทหาร คุณพ่อเป็นทหาร พี่ชาย และน้องชายอีกคนก็รับ ราชการทหารทั้งหมด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องรอผลการพิจารณาที่จะมีขึ้นหลังวันที่ 15 สิงหาคมนี้

ประเมินทิศทางลม จับน้ำเสียงเริ่มมีความมั่นใจ

ล้อตามกระแสข่าววงนอกวงในที่ค่อนข้างให้น้ำหนักไปที่ พล.อ.ปรีชา ในฐานะน้องในไส้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้รับความไว้วางใจให้ขึ้นแท่นจ่าฝูงกองทัพบก เบียด พล.อ.ธีรชัย ซึ่งเป็นขุนศึกสายบูรพาพยัคฆ์ น้องรักในทีมของ พล.อ.ประวิตร สลับฉากไปนั่งปลัดกระทรวงกลาโหม

ตามสุภาษิต “เลือดข้นกว่าน้ำ”

ธรรมชาติของปุถุชนคนทั่วไป ย่อมไว้ใจคนสายเลือดเดียวกันมากกว่าคนอื่น

เหนืออื่นใด ในเมื่อ พล.อ.ประวิตรได้โควตา ผบ.ตร.ให้สายตรงอย่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์แล้ว เก้าอี้ ผบ.ทบ.ก็ต้องเป็นโควตาของ พล.อ.ประยุทธ์ได้สิทธิ์เคาะโต๊ะฟันธงให้ พล.อ.ปรีชา

แบ่งกันไปคนละตำแหน่ง แชร์กันไปคนละเก้าอี้

ตามเหลี่ยมการปรับดุลอำนาจในหมู่พี่ๆน้องๆของขั้ว คสช.

ภายหลังบรรยากาศอึมครึมๆ พล.อ.ประวิตรลาประชุม ครม.2 นัดติดๆกัน เพราะอาการป่วยทางกายเจืออารมณ์ป่วยทางใจ เพิ่งจะอาการแจ่มใสขึ้นหลัง พล.อ.ประยุทธ์นำทีมอวยพรวันเกิด ยกให้เป็นพี่ที่รักและเคารพ ดูแลกันมาตั้งแต่เด็ก จะเคารพและซื่อสัตย์ต่อกันตลอดไป

โดยอารมณ์ถ้อยทีถ้อยอาศัย คิวจัดทัพทหาร ปรับหัวขบวนตำรวจยังไม่ถึงขั้นหักดิบกัน

และตามโปรแกรมที่จ่อคิวไล่เลี่ยๆกัน กับการปรับคณะรัฐมนตรีที่ พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับเองว่า จัดโผ ครม. เสร็จนานแล้ว รอเวลานำขึ้นทูลเกล้าฯ

พูดทีเล่นทีจริง จะยกเครื่องทั้ง 35 เก้าอี้

ที่แน่ๆประเมินตามไฟต์บังคับที่ต้องปรับแบบยกเครื่องก็คือทีมเศรษฐกิจ ถึงคิวที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คสช.จะต้องเข้ามาร่วมใน ครม.เต็มตัว ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแทน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

ในขณะที่รัฐมนตรีที่เป็นขุนทหารต้องขยับกันใหม่

มีทั้งที่หลุดวง ครม.ไปเลย เพราะหมดช่วงเวลาเน้นความมั่นคงไม่เน้นการบริหาร รัฐมนตรีสายท็อปบูตต้องหลบให้มือบริหารอาชีพ

หรือไม่ก็ต้องจับสลับให้ถูกฝาถูกตัว

อย่าง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ที่ติดปัญหาต่างชาติไม่คุยกับทหาร การเจรจาค้าขายกับต่างประเทศไม่เข้าเป้า ต้องสลับไปนั่งเป็น รมว.พลังงานแทน เป็นต้น

ด้วยแรงกดดันทางเศรษฐกิจและแรงเสียดทานจากนานาชาติ

พล.อ.ประยุทธ์ หนีไม่พ้นปรับ ครม.เพื่อกระตุกเนื้องานการบริหาร

ขณะที่สถานการณ์ความคืบหน้าตามโรดแม็ปของ คสช. ตามจังหวะสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นัดวันลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในวันที่ 7 กันยายนนี้

ผ่านหรือไม่ผ่านนั่นประเด็นหนึ่ง

แต่ที่กระตุกกระแสเฝ้าจับตาด้วยอาการหวาดระแวงสงสัยก็อยู่ที่ปมการชงคำถามในการทำประชามติ

ทั้งการปฏิรูปประเทศให้เรียบร้อยในเวลา 2 ปีก่อนเลือกตั้ง

หรือประเด็น 4 ปีแรกหลังใช้รัฐธรรมนูญให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในสังกัดไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.เท่าที่มีอยู่ คือ 360 จาก 450 คน

แน่นอนว่า หนีไม่พ้นถูกวิจารณ์เป็นการเปิดทาง คสช.ลากยาวอำนาจพิเศษต่อไป

ขณะเดียวกันก็ยังมีปมของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ทำงานควบคู่ไปกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยมีอำนาจในการกำกับควบคุมรัฐบาลชุดต่อๆไปในการเดินหน้ากระบวนการปฏิรูปให้สำเร็จ

ซึ่งก็ถูกมองเป็นเหลี่ยมการวางหมาก ลากเกมอำนาจแบบเนียนๆของ คสช.

ตามรูปการณ์ที่เห็นกันเลยว่า โรดแม็ปเฟสแรกจบแล้วก็ยังมีโรดแม็ปเฟสสองต่อไป

คสช.วางท่อรองรับไว้ทุกสถานการณ์ พร้อมสับข้อต่อเพื่อเดินหน้าต่อไปได้

เรื่องของเรื่อง ผ่าไต๋จากการจัดทัพทหาร การปรับหัวขบวนตำรวจ ต่อเนื่องถึงคิวปรับ ครม. ตามจังหวะปรับดุลอำนาจภายในขั้วอำนาจ คสช.

มันก็เพื่อลากโรดแม็ปต่อไป.

“ทีมการเมือง”