“จาตุรนต์” แฉ “เทือก” ยุ “บิ๊กตู่” เขียน รธน.เอง เหตุผวาแพ้เลือกตั้งซ้ำซาก-บล็อกพรรคคู่แข่งกลับมามีอำนาจ แบ่งทีมกันวางกลไกกินรวบอำนาจ จวก 1 ปีที่ผ่านมาเสียของ แม่น้ำ 5 สายไม่ได้ปฏิรูปอะไรเลย เด็ก พท.อัดซ้ำพูดไปก็น้ำเน่า-วนในอ่าง “เสรี” ไม่เชื่อ คสช.ล้วงร่าง รธน. สปช.เสียงแตก 6 ก๊กโหวตร่าง รธน.ต้องลุ้นโค้งสุดท้ายคว่ำ-ไม่คว่ำ นิด้าโพลจี้ให้โหวตผ่าน รัฐบาลจะอยู่ต่ออีก 2 ปีให้ถามประชามติ ที่ประชุม สปช.เตรียมถกยกเครื่องตำรวจ ดันสูตร ตร.เลือก ผบ.ตร.ตัดตอนการเมืองแทรก
จากกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจพิเศษเขียนรัฐธรรมนูญและแผนปฏิรูปเองนั้น
“บิ๊กตู่” บินร่วมวันชาติสิงคโปร์
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 9 ส.ค. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวและตัวแทนรัฐบาล ไปยังสาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อร่วมงานเฉลิมฉลองวันชาติสาธารณรัฐสิงคโปร์และครบรอบ 50 ปีการสถาปนาสิงคโปร์ โดยมีประมุขและผู้นำรัฐบาลจากประเทศต่างๆเข้าร่วม อาทิ สมเด็จพระราชาธิบดีบรูไนดารุสซาลาม ดยุกออฟยอร์กแห่งสหราชอาณาจักร ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา นายกฯนิวซีแลนด์ นายหลี่ หยวนเฉา รองประธานาธิบดีจีน เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อนายกฯเดินทางมาถึงไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่าง ใด เพียงแต่พยักหน้าตอบผู้สื่อข่าวที่ถามว่า ได้เตรียมเสื้อแดงไปร่วมด้วยหรือไม่เท่านั้น จากนั้นได้เดินเข้าห้องรับรอง ขณะที่ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางไปด้วย กล่าวว่าได้เตรียมเสื้อสีแดงไปใส่ร่วมงานด้วย เนื่องจากเป็นประเพณีปฏิบัติของวันชาติสิงคโปร์และเป็นการให้เกียรติด้วย ทั้งนี้ นายกฯเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันเดียวกัน เวลา 23.30 น.
...
นายกฯน้อยยังรอแผนสร้างชาติ
พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปีว่า อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลทั้งจากแนวทางปฏิรูป คสช.11 ด้าน แผนปฏิรูปของรัฐบาล 11 ด้านที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 37 ด้าน เพื่อวางกรอบกำหนดแนวทางว่าอะไรที่ต้องทำทันที อะไรที่ต้องทำก่อนและหลัง หรือต้องส่งต่อ โดยการกำหนดยุทธศาสตร์จะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องงานปฏิรูป ซึ่งมีตัวแทนร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ด้วย อาทิ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาหอการค้า สภาอุตสาห-กรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) สภาเกษตรกร ช่วยกันกำหนดยุทธศาสตร์วางแนวทางปฏิรูป เพราะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันทุกด้าน และที่สำคัญต้องถามความต้องการของประชาชนด้วย
รมว.กต.มึน กปปส.ตั้ง “กษิต” คุย ตปท.
พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย แต่งตั้งนายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ เป็นผู้ประสานกับต่างชาติว่า จะตั้งในตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่ ขอให้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม มีเป้าหมายที่ชัดเจนและรู้ว่าอะไรควรไม่ควร แต่เรายังไม่เห็นถึงแนวทางของมูลนิธิฯที่ชัดเจนว่าตั้งแล้วจะช่วยประเทศชาติอย่างไรบ้าง หากช่วยให้ภาพลักษณ์ประเทศดีขึ้นคงเป็นเรื่องดี ซึ่งขอดูการดำเนินการก่อนว่าจะเป็นอย่างไร อย่างไร ก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการมาถูกทางแล้ว เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับต่างชาติเหมือนสถานการณ์ปกติ โดยช่วงการไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ก็ไม่มีใครสอบถามสถานการณ์การเมืองของไทยและเรื่องโรดแม็ป มีแต่ถามว่าถ้าเลือกตั้งแล้วสถานการณ์ของไทยจะ มั่นคงอยู่แบบนี้หรือไม่ ซึ่งตนก็ตอบไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา
พท.แฉปม “เทือก” ยุ คสช.เขียน รธน.
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.และประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจพิเศษเขียนรัฐธรรมนูญและแผนปฏิรูปเองว่า เรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และมาพูดว่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจพิเศษเขียนรัฐธรรมนูญและแผนปฏิรูป มันก็ชัดแล้วว่าเป็นเรื่องการเมือง อย่างเสนอไม่ให้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ก็ชี้ให้เห็นได้ชัด สะท้อนว่าการที่นายสุเทพเคยอยู่กับพรรค การเมืองที่แพ้เลือกตั้งมาตลอด จึงทนไม่ได้ที่จะพ่ายแพ้อีก และคงเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญวางระบบเลือก ตั้ง ที่ต้องการให้แน่ใจว่าพรรคที่เคยเป็นรัฐบาลต้องไม่กลับคืนสู่อำนาจอีก โอกาสที่พรรคเดิมจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกยังสูงอยู่ และข้อเสนอนี้เท่ากับขยายโรดแม็ป การประกาศใช้รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนออกไปไม่สิ้นสุด ซึ่งเรื่องนี้ต้องตั้งคำถามกับ คสช.ว่ากล้าไหม สำหรับตนคิดว่าคงยากที่จะให้ คสช.เขียนรัฐธรรมนูญเอง ถ้า คสช.ไม่กล้าทำตามข้อเสนอ เชื่อนายสุเทพคงมีไม้เด็ด ที่ไม่อาจมองข้ามอิทธิฤทธิ์ของนายสุเทพได้
แบ่งสายวางแผนกินรวบอำนาจยาวๆ
นายจาตุรนต์กล่าวว่า สิ่งที่นายสุเทพเสนอสอดคล้องกับสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดว่า การเมืองต้องมีระบบมากำกับไม่ให้กลับไปเหมือนเดิมอีก และต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี เรียกว่ากินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว นายสุเทพไปเน้นระบบเลือกตั้ง ส่วนฝั่งร่างรัฐธรรมนูญวางกลไกที่จะทำให้ผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ยังคงสามารถปกครองประเทศไปต่อได้ อีกยาวนาน ทั้งกำหนดให้ใครมาเป็นรัฐบาล และกำหนด รัฐบาลชุดหน้าต้องทำตามสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้กำหนดไว้เท่านั้น ขณะที่ 1 ปีที่ผ่านมา แม่น้ำ 5 สายไม่ได้ปฏิรูปอะไรเลย อย่างเรื่องไม่ให้ใครมาขัดขวางการเลือกตั้งได้ง่ายๆ ก็ไม่เห็นทำ และที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดฝากให้นักการเมืองไปคุยกันจะปฏิรูปหรือไม่ ฐานะนักการเมืองคนหนึ่งก็ยังไม่เห็นว่ามีการปฏิรูปอะไรเลย แถมไม่ยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง รวมถึงสิ่งที่รัฐบาลและ คสช.ทำอยู่ก็ไม่ใช่การปฏิรูป ตนเชื่อว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี หลังเลือกตั้งและรัฐบาลหลังเลือกตั้ง คงไม่มีใครสมัครใจทำตามกลุ่มผู้มีอำนาจบังคับข่มขู่ประชาชนอยู่อย่างนี้
ซัดพูดไปก็น้ำเน่า-วนในอ่าง
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์คงไม่กล้าทำ หากทำไปยิ่งทำให้ประเทศแย่ลง ประชาชนจะยิ่งไม่ ยอมรับ อย่างไรก็ตาม หากเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาจริงๆ พล.อ.ประยุทธ์ควรใช้อำนาจพิเศษนำรัฐธรรมนูญในอดีตฉบับใดฉบับหนึ่งมาประกาศใช้ แล้วเขียนบทเฉพาะกาลแก้ไขเพียงเล็กน้อย เช่น นำรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็นฉบับที่มีที่มาจาก ประชาชนอย่างแท้จริงมาประกาศใช้แทน นายสุเทพพูดเรื่องประชาธิปไตยไปก็ไม่มีใครฟังแล้ว พูดไปก็น้ำเน่า พายเรืออยู่แต่ในอ่าง
จวกแม่น้ำ 5 สายฉุดรั้ง ปท.
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแสดงความอึดอัดใจที่ถูก คสช.กดดันเรื่องการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่น่าเชื่อว่าแม่น้ำ 5 สาย พาประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จุดที่มีความเห็นต่างระหว่างคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแล้วอยู่ต่อ หรือทำประชามติถามประชาชนแล้วอยู่ต่อ ซึ่งข้ออ้างปฏิรูปก่อนเลือกตั้งนั้น ฟังไม่ได้ เป็นการอ้างเพื่อถ่วงเวลาขออยู่ต่อ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจแย่ลง อีกทั้งการไม่กำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง ต่างประเทศเริ่มไม่เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะกลับสู่การเลือกตั้งหรือไม่ มีสิ่งบ่งชี้หลายอย่างส่งสัญญาณว่า ผู้มีอำนาจต้องการสร้างการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างถาวร การแข่งขัน กันเสนอทางออกของ สปช. โดยไม่สนใจเนื้อหาในร่าง รัฐธรรมนูญเป็นแค่เพียงรูปแบบการวิ่งเต้นเพื่อไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เหมือนเด็กวิ่งแย่งห่อขนมกัน ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่า คนเหล่านั้นยึดประโยชน์ทางการเมืองของตนเป็นหลัก มากกว่าประเทศ ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
กกต.สอน “เทือก” อย่าเป็นคนแก่ขี้บ่น
นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม กล่าวถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยออกมาวิพากษ์ วิจารณ์การทำงานของ กกต. ทุกชุดที่ผ่านมาว่า จุดยืนที่ไม่ต่างกับนายสุเทพ ที่อยากเห็นการเลือกตั้ง เป็นไปโดยสุจริต จึงได้พยายามหามาตรการใหม่ๆ นำเสนอต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยขอให้ กกต.กลับมามีอำนาจมีความเด็ดขาดเป็นยักษ์ที่มีกระบองเหมือน กกต.ชุดแรก แต่ กมธ.ยกร่างฯดูไม่สนใจไม่ยอมรับฟัง นายสุเทพและคณะมูลนิธิฯ ก็ต้องไม่เพียงแต่พูด แต่บ่น ตำหนิคนอื่น ท่านต้องช่วยกันเสนอแนวความคิดทางออกให้กับประเทศในเรื่องนี้ด้วย มิฉะนั้นแทนที่ท่านจะใช้ประสบการณ์ทางการเมือง ของท่านที่มีอย่างโชกโชนล้นเหลือ ให้เกิดประโยชน์กับบ้านเมืองในยามวิกฤติจะกลายเป็นคนแก่ขี้บ่นอีกคนหนึ่งที่หาสาระไม่ได้เลย
“ปนัดดา” วอนกำนัน-ผญบ.ไม่แบ่งสี
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งกับคณะกำนันและผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยม ประจำปี 2558 จำนวน 270 คน ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมวังวรดิศ พิพิธภัณฑ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ว่า กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ถือเป็นข้าต่างพระเนตรพระกรรณของแผ่นดิน อย่าไปเป็นผู้อยู่ใต้บงการของพรรคการเมืองใดๆ ขณะเดียวกัน ต้องช่วยกันกลับฟื้นคืนความสงบเรียบร้อยให้กับประเทศชาติ ช่วยเสริมสร้างให้ลูกบ้านรักสมัครสมาน ไม่แตกแยกเป็นสี
10 ส.ค. กมธ.ยกร่างฯชี้ขาดที่มา ส.ว.
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาแก้ไขปรับร่างรัฐธรรมนูญว่า ภายในสองสัปดาห์นี้ต้องตัดสินใจในเรื่องที่ยังค้างหรือเป็นปัญหาที่ถกกันให้ได้ทั้งหมด โดยจะเริ่มพิจารณาในวันที่ 10-11 ส.ค. เช่น เรื่องที่มาของ ส.ว.ว่าจะมาจากสรรหาอย่างเดียว หรือแบบผสมผสาน ซึ่งต้องหารือกัน ซึ่งคาดว่าน่าจะได้บทสรุป ทั้งนี้ยืนยันว่า ไม่มีแรงกดดันจาก คสช.ตามกระแสข่าวที่ออกไปว่า ต้องให้ที่มี ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด
โชว์เชปร่างสุดท้ายดีเดย์ 23 ส.ค.
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯต้องการให้ที่มา ส.ว.เป็นแบบพหุนิยม คือมาจากหลากหลายกลุ่มตัวแทนอาชีพ ซึ่งไม่มีโอกาสเข้ามาจากการเลือกตั้งจึงได้ออกแบบให้มีการสรรหา ส.ว.ไว้ 123 คน ส่วนเรื่อง ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งก็เป็นตัวแทนจังหวัดตามที่มีเสียงเรียกร้องว่า ควรมีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งด้วย แต่ก็มีความเห็นแตกต่างจากหลายฝ่ายว่า ในส่วนสรรหาควรจะมีรูปแบบอย่างไรจากที่กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา 4 ชุดก็ยังถูกวิจารณ์ว่าไม่เหมาะจึงต้องพิจารณาอีกครั้ง โดยยึดหลัก “พหุนิยม” คือมี ส.ว.ทั้งจากสรรหาและเลือกตั้งเป็นเจตนารมณ์สำคัญเพื่อให้มีความแตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎรเพื่อสะท้อนความหลากหลายของ สังคม โดยอาจปรับเปลี่ยนเรื่องวิธีการสรรหาให้เหมาะสม โดยร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายจะเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้หลังวันที่ 23 ส.ค. หลังจากส่งให้ สปช.ในวันที่ 22 ส.ค.แล้ว ยืนยันว่าจะทำให้ดี ที่สุด เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุดและพร้อมน้อมรับผลที่ออกมา
ปรับ กก.ปฏิรูปหวั่นรัฐซ้อนรัฐแทงใจ
นายคำนูณกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นสำคัญอื่นที่จะมีการพิจารณาคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศและการปรองดอง ที่มีการปรับแก้ให้มารวมกัน ในร่างล่าสุด เพราะไม่เคยมีมาก่อน แต่คณะกรรมการชุดนี้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศชุด 200 คนตามที่มีการแก้ไขในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 โดยต้องมีการระบุในบทเฉพาะกาลว่า จะทำหน้าที่เท่ากับวาระของ สปช.เดิม ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ สภาขับเคลื่อนฯ ที่จะตั้งใหม่ในรัฐธรรมนูญใหม่ควรจะเป็นอย่างไร รวมถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งจะใช้ตัวแบบคำแก้ไขของ ครม.ที่ขอมา 20 คน โดยไม่อยากให้เป็นกลไกให้อยู่เหนือใครทั้งสิ้น เพราะจะมีนายกรัฐมนตรีและประธานสภาฯรวมอยู่ด้วย ไม่ให้ใครมีอำนาจอยู่เหนือใคร เพราะมีเสียงสะท้อนว่ากลไกนี้จะกลายเป็นการสร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐ จึงอาจปรับเปลี่ยนเพื่อให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม แต่จะออกแบบอย่างไร มีวิธีการทำงานแบบใด ยังต้องหารือในที่ประชุมให้ได้ข้อสรุปก่อน
“เสรี” ไม่เชื่อ คสช.ล้วงร่าง รธน.
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวถึงกระแสข่าว คสช.แทรกแซงการทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า นายกรัฐมนตรีได้ปฏิเสธเรื่องดังกล่าวไปแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่ คสช.จะไปแทรกแซงการยกร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างฯ ยังมั่นใจว่า กรณีที่มา ส.ว.จะยังมี ส.ว.เลือกตั้ง และ ส.ว.สรรหา ตามเนื้อหาเดิม เพราะหากแก้ไขให้เหลือเฉพาะ ส.ว.สรรหาอย่างเดียวจะถูกครหาได้ ส่วนแนวโน้ม สปช.จะคว่ำหรือไม่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ คงต้องรอให้เห็นร่างสุดท้ายของ กมธ.ยกร่างฯที่จะส่งให้ สปช.พิจารณาในวันที่ 22 ส.ค. จึงจะเห็นทิศทางชัดเจนขึ้น นอกจาก สปช.จะพิจารณาจากเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว คงต้องนำเรื่องสถานการณ์การเมืองในขณะนั้นมาประกอบการตัดสินใจในการลงมติด้วย