ผมมีพรรคพวกมาจากเวียดนามและมาเลเซีย คนทั้งสองประเทศนั้นสนใจแต่ทีพีพี และไม่คุยถึงประชาคมอาเซียน เมื่อผมถามถึงประชาคมอาเซียน เพื่อนพวกนี้บอกก็งั้นๆ ไม่กระทบอะไรมาก แต่พอพูดถึงทีพีพี หรือความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งมีคำเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement ก็ได้รับคำตอบว่า นี่แหละคืออนาคตของเวียดนามและมาเลเซียอย่างแท้จริง เพราะทีพีพีจะเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของโลก และมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก จีดีพีของประเทศสมาชิกทีพีพีรวมกันแล้วเกือบจะครึ่งหนึ่งของโลก และ trade volume หรือปริมาณการค้าจะมีมากกว่า 1 ใน 3 ของโลก
เมื่อพูดถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลายท่านยังพูดถึงเอเปก ท่านเหล่านั้นผู้ซึ่งมีราขึ้นเต็มหน้าบอกว่า จะไปทีพีพีทำไม? เราก็มีความร่วมมือแบบเอเปกอยู่แล้ว?
ขอเรียนนะครับว่า เอเปกเป็นเพียงเวทีการเจรจาหารือที่มีลักษณะสมัครใจ แต่ทีพีพีเป็นเขตการค้าเสรีคุณภาพสูง และเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีลักษณะกว้างขวาง มุ่งให้มีภาษีเป็น 0% ในกลุ่มประเทศสมาชิก การเจรจาของทีพีพียังครอบคลุมถึงการค้าสินค้า กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า มาตรการสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางการค้า การค้าบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายการแข่งขันและการจัดซื้อจัดหาโดยรัฐ
บางท่านอาจจะงงในระหว่าง 3 องค์กร คือ ประชาคมอาเซียน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) และความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ขอเรียนว่า ประเทศที่เป็นสมาชิกองค์กรพวกนี้ก็ซ้อนๆกันอยู่ อย่างเอเปกมีสมาชิกทั้งสิ้น 19 ประเทศ 2 เขตเศรษฐกิจ คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ จีน อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม เปรู ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน บรูไน ชิลี ฮ่องกง เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี และรัสเซีย
...
ในตอนนี้ทุกประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนที่เป็นสมาชิกเอเปกได้แสดงความสนใจหรือได้เข้าสู่กระบวนเจรจากันแล้วทั้งหมด ยกเว้นแต่เพียงประเทศไทย และนี่แหละครับ ที่เพื่อนชาวเวียดนามและมาเลเซียของผมงุนงงสงสัยว่าอะไรเกิดขึ้นกับประเทศไทย มีคนบอกกับผมว่า ไทยก็มีความพยายามที่จะเข้าไปสู่แวดวงทีพีพี แต่เพราะสถานะของเราเป็นชาติรัฐปฏิวัติรัฐประหาร ยังไม่มีประเทศ ไหนชาติใดเจรจาด้วย
หลายท่านอยากจะรู้ว่า ทีพีพีมีกำเนิดเกิดขึ้นมาได้ยังไง ผมขอรับใช้ย้อนหลังกลับไปในการประชุมผู้นำเอเปกที่เม็กซิโกเมื่อ พ.ศ.2545 ตอนนั้น ที่ซ้อนอยู่ในกลุ่มเอเปกมีกลุ่มประเทศ P3-CEP ซึ่งก็คือนิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และชิลี สามประเทศนี่แหละครับ ที่คิดเรื่องทีพีพีกันขึ้นมาเป็นครั้งแรกของโลก
ตอนแรก บรูไนเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ต่อมาเห็นประโยชน์ ก็กระโจนลงนามไปขอเป็นสมาชิกในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2548 ทำให้ทีพีพีมีสมาชิก 4 ประเทศ ที่เรียกกันว่า P4 หรือ Pacific 4 ผู้อ่านท่านก็คงรู้สึกนะครับ ว่าในห้วงช่วงปีเหล่านั้น ทีพีพีไม่ดังเลย ไม่ค่อย มีใครพูดถึง จนกระทั่ง พ.ศ.2551 สหรัฐฯประกาศที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อเป็นสมาชิกทีพีพี
พอสหรัฐฯเอาด้วย ประเทศอื่นๆก็ตาโต ออสเตรเลีย เปรู และเวียดนาม รีบกระโจนประกาศความจำนงเข้าร่วมกรอบเจรจาทีพีพี พ.ศ.2553 มาเลเซียประกาศเอาด้วย
สรุปแล้ว ตอนนี้สมาชิกทีพีพีมีทั้งหมด 12 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม
ส่วนประเทศที่แสดงความสนใจอย่างมากในตอนนี้ว่าจะเข้าไปก็มีโคลอมเบีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน
การค้าและพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างไวมาก นวัตกรรมใหม่ๆ ในการทำการค้าและการลงทุนเกิดขึ้นมาอย่าง ที่เราไม่เคยนึกมาก่อน องค์กรและเครื่องมือเดิมๆที่เราเคยใช้พัฒนา ประเทศด้านต่างๆ วันนี้เริ่มมีหยากไย่ใยแมงมุมเกาะ เครื่องมือหลายอย่างพังใช้การไม่ได้แล้ว จึงมีความจำเป็นที่เราต้องเข้าสู่องค์กรใหม่ๆ
แต่องค์กรทางเศรษฐกิจใหม่ๆพวกนี้ ก็มีทั้งแง่ดีและมุมลบ สมองของคนคนเดียว หรือคนเพียงกลุ่มเดียว หรือเพียงกระทรวงเดียว ไม่พอเพียงที่จะใช้พิจารณาดอกครับ สังคมไทยจึงต้องมีการถกเถียง อภิปรายเอาข้อมูลมาตีแผ่กันทุกแง่มุมลงในทุกสื่อ
ที่สุดของที่สุด ก็ควรจะถามความเห็นของคนทั้งชาติด้วยประชามติ หรืออย่างน้อยที่สุด การกระโจนเข้าไปร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรพวกนี้ก็ควรจะต้องผ่านรัฐสภา.