รายงานค้ามนุษย์ แต่เลื่อนมาเลเซียขึ้นมาอยู่ที่เทียร์2
สหรัฐอเมริกาประกาศแล้ว รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2558 ไทยยังอยู่ที่เดิม “เทียร์ 3” ขณะที่ “พม.-แรงงาน-พาณิชย์” ประสาน เสียงทำดีที่สุดมาตลอด ป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างครบถ้วนเต็มที่ตามมาตรฐานสากล โดย “ประยุทธ์” ย้ำไม่ได้คาดหวังอันดับจะดีขึ้น เพราะการแก้ปัญหาต้องใช้เวลา ยืนยันเดินหน้าแก้ปัญหาต่อเพื่อรักษาทรัพยากรของประเทศ พร้อมคาดโทษพวกเกียร์ว่าง แต่พาณิชย์ห่วงการลงทุนของไทย เหตุนักลงทุนต่างชาติอาจขาดความมั่นใจ หันไปลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน
หลังจากรอมาตลอดสัปดาห์ ในที่สุดสหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ประจำ ปี 2558 มาแล้ว โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อช่วงค่ำวันที่ 27 ก.ค. ตามเวลาในไทย ระบุว่ากระทรวง ต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปี 2558 (Trafficking in Persons Report) หรือ TIP ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเป็นรายงานประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์ใน 188 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่าไทยยังอยู่อันดับต่ำสุด หรือ เทียร์ 3 (Tier 3) ตามเดิม แสดงว่ายังไม่มีความคืบหน้ามากพอในการจัดการปัญหาค้ามนุษย์ ขณะที่มาเลเซีย คิวบา อุซเบกิสถาน ได้รับการยกระดับขึ้นจากอันดับต่ำสุดแล้ว ขณะที่ เวเนซุเอลาและแกมเบีย ลงมาอยู่อันดับต่ำสุด ร่วมกับอีก 20 ประเทศเมื่อปีที่แล้ว
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าว ระบุว่าการที่ไทยถูกปรับตกไปอยู่อันดับต่ำสุดเมื่อปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการละเมิดสิทธิ์แรงงานในภาคการทำประมงจับสัตว์น้ำทะเล แม้ว่าไทยได้พยายามเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่าง แต่ก็ไม่เพียงพอแก้ปัญหาได้ ด้านนายจอห์น แคร์รี รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า รายงาน TIP Report ปีนี้ ได้เน้นย้ำเป็นพิเศษในเรื่องการค้ามนุษย์ในตลาดโลก และยังได้เน้นให้เห็นความเสี่ยงที่ซุกซ่อนอยู่ ซึ่งเหล่าแรงงานอาจต้องเผชิญเมื่อกำลังแสวงหาการจ้างงาน รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ที่รัฐบาลและภาคธุรกิจสามารถนำมาดำเนินการป้องกันการค้ามนุษย์ได้ ซึ่งรวมทั้งความต้องการความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปาทานโลกด้วย
...
“สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ไม่มีเวลาที่จะมัวมาใจเย็นอยู่ได้ ณ ขณะนี้ เหยื่อการค้ามนุษย์ทั่วโลกกล้าจินตนาการถึงโอกาสที่จะหลบหนี โอกาสที่จะมีชีวิตอยู่โดยปราศจากความกลัวและโอกาสหาเงินเลี้ยงชีพ” นายแคร์รีกล่าวเสริม
สำหรับรายละเอียดในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปี 2558 ได้ระบุว่าประเทศไทยถือเป็นทั้งต้นกำเนิด ทางผ่าน รวมทั้งปลายทางของการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะแรงงานผิดกฎหมายและการค้าประเวณี โดยเหยื่อมีทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา กัมพูชา ลาว จีน เวียดนาม ไปจนถึงอุซเบกิสถานและอินเดีย ที่หวังจะเข้ามาหางานทำ แต่บ่อยครั้งมีการติดต่อผ่านช่องทางที่ไม่ถูกต้อง จึงทำให้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ อาทิ กรณีแรงงานจากเมียนมา กัมพูชา และอินโดนีเซีย ถูกบังคับไปใช้แรงงานบนเรือประมงเป็นเวลาหลายปี หรือเหยื่อที่ถูกนำมาค้าประเวณีในไทย และใช้ไทยเป็นทางผ่านเพื่อจะส่งต่อไปค้าประเวณีในมาเลเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย จนถึงยุโรปและสหรัฐฯ ขณะที่คนไทยก็ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์เช่นกัน ถูกบังคับใช้แรงงานและค้าประเวณีในต่างแดน
ทั้งภูมิภาคอเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลางนอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ไทยบางส่วนก็มีส่วนเกี่ยวข้องในการลักลอบค้ามนุษย์ พร้อมทั้งมีการคอร์รัปชันภายใน อันทำให้การปราบปรามไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เช่น ที่มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ด่านพรมแดนและประเทศเพื่อนบ้านรับเงินใต้โต๊ะจากขบวนการลักลอบค้ามนุษย์ หรือกรณีเจ้าหน้าที่รัฐให้การคุ้มครองแหล่งสถานบันเทิง ขณะที่รัฐบาลเองก็มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการปราบปรามการค้ามนุษย์ ทั้งไม่ได้ดำเนินการอย่างเห็นผลเท่าที่ควร
สำหรับข้อเสนอแนะแก่ประเทศไทย ควรจะมีการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง เพิ่มความพยายามในการตรวจสอบว่าใครที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ การจัดฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ฝึกอบรมการสกัดการลักลอบค้ามนุษย์ทางทะเลแก่ตำรวจน้ำและกองทัพเรือ หรือการฝึกอบรมเพิ่มล่ามแปลภาษา เช่นเดียวกับการคุ้มครองผู้ตกเป็นเหยื่อ และการสร้างแรงจูงใจให้เหยื่อยอมร่วมมือกับทาง การในการสืบสวนปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ ไปจนถึงยกเว้นการส่งตัวเหยื่อกลับประเทศต้นทาง หากเหยื่อมีโอกาสที่จะถูกเล่นงานล้างแค้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่ามีความคืบหน้าในหลายด้าน เช่น การตั้งคณะกรรมการต่อต้านการค้ามนุษย์ การจัดทำฐานข้อมูลของทางการใหม่ การผ่านร่างกฎหมายประมงมาแทนกฎหมายฉบับเก่าปี พ.ศ.2489 ไปจนถึงการเพิ่มงบประมาณเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ทั้งยังมีการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนผ่านช่องทางสื่อต่างๆ
ทั้งนี้ ประเทศที่ถูกจัดอันดับให้อยู่เทียร์ 3 เช่นเดียวกับไทย มีทั้งอิหร่าน เกาหลีเหนือ คูเวต ลิเบีย รัสเซีย ซีเรีย เยเมน เวเนซุเอลา ขณะที่เบลารุสเพิ่งถูกปรับลดมาอยู่เทียร์ 3 ในปีนี้ ส่วนมาเลเซียและคิวบา ได้รับการเพิ่มอันดับให้ดีขึ้นจากเทียร์ 3 ไปอยู่ที่เทียร์ 2 เฝ้าระวัง ส่วนประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนอื่นๆ มีเมียนมา กัมพูชา ลาว ถูกจัดอยู่อันดับเทียร์ 2 เฝ้าระวัง ส่วนเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อยู่ในระดับเทียร์ 2
ส่วนความคิดเห็นจากรัฐบาลต่อการรายงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ว่ามั่นใจในสิ่งที่ทำมาว่าเราทำได้ดีกว่าเดิม ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสหรัฐฯ เราต้องยอมรับกติกา แต่ไม่ได้คาดหวังว่าลำดับจะขึ้น ตนคาดหวังว่าสิ่งที่ได้ทำจะมีผลสำเร็จก่อน ซึ่งต้องมีระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านและระยะเวลาในการแก้ไข ไม่ใช่แก้เพียงวันเดียว เดือนเดียว ปีเดียว ขึ้นอยู่กับสหรัฐฯ จะเชื่อมั่นหรือไว้วางใจหรือเปล่า ต้องให้เกียรติเพราะสหรัฐฯเป็นผู้ตั้งกติกา ไม่ว่าออกมาอย่างไรก็เป็นตามนั้น อย่างไรเราก็ต้องทำอยู่แล้ว ยืนยันว่าไม่ได้ทำเพื่อเรื่องนี้อย่างเดียว แต่ทำเพื่อรักษาทรัพยากรของเราด้วย และจากนี้เจ้าหน้าที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่ทำต้องเล่นงานถูกลงโทษ
ขณะที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า ขอยืนยันว่ารัฐบาลไทยได้ขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างครบถ้วนเต็มที่ตามมาตรฐานสากล มีระบบฐานข้อมูลและแผนการดำเนินงานแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่ชัดเจน ตลอดจนมีความคืบหน้าการดำเนินงานที่เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น และได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่กระทรวง ขับเคลื่อนงานดังกล่าวอย่างเต็มที่ต่อไป
ด้านนายวิเชียร ชวลิต ปลัด พม.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ กล่าวว่า ประเทศไทยคงถูกจัดให้อยู่ในระดับที่เลวร้าย หรือเทียร์ 3 ซึ่งไม่ได้ทำให้รู้สึก ว่าหมดกำลังใจ ทุกภาคส่วนก็ยังคงขับเคลื่อนแก้ปัญหาต่อเนื่อง โดยเป้าหมายที่สำคัญคือความมุ่งมั่นให้จำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อหรือกลุ่มเสี่ยงจากการค้ามนุษย์ลดน้อยลง ที่ผ่านมาทุกส่วนได้แก้ปัญหาต่อเนื่องและเป็นระบบตามมาตรฐานสากล บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน เรามี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 โดยเฉพาะมีการดำเนินคดี บทลงโทษ การคุ้มครองผู้เสียหายที่มีมาตรฐานสากล ประเด็นเรือประมง ก็มีการจัดระเบียบและแก้ปัญหาตามมาตรฐานไอยูยู ระบบศาลก็มีแผนกคดีค้ามนุษย์โดยตรง ข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ก็มีการจับกุมดำเนินคดี แม้แต่ปัญหาขอทานก็จัดระเบียบและแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง นอกจากนี้ เรากำลัง สร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ ทบทวนข้อตกลงความร่วมมือ หรือเอ็มโอยู ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดต้องดำเนินการอย่าง เป็นระบบและมี ฐานข้อมูลที่ชัดเจนพิสูจน์ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบว่า สหรัฐฯใช้มาตรฐานอะไรจัดอันดับ ทั้งที่เราดำเนินการอย่างเป็นระบบและน่าจะเป็นต้นแบบด้วยซ้ำ ประเด็นปัญหาเรื่องอุยกูร์ หรือชาวโรฮีนจา อาจจะมีส่วนที่ทำให้ เราถูกปรับลด แต่เป็นเรื่องของประเด็นปัญหาที่ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้แก้ไข จึงอยากให้ มองที่ระบบทั้งหมดมากกว่า คิดว่าประเด็นการเมืองอาจจะมีผลต่อการจัดอันดับ
เช่นเดียวกับ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน ที่กล่าวถึงรายงานการค้ามนุษย์ ประจำปี 2558 ว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำอย่างดีที่สุดแล้วในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์มีนโยบายและคณะกรรมการดูแลอย่างชัดเจน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมทั้งมีกฎหมายป้องกันการค้ามนุษย์และยังได้ประกาศให้การแก้ปัญหาค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินงานภายใต้แผนเดียวกัน ซึ่งขณะนี้มีผลงานชัดเจนมีการจับกุมและดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก การดำเนินการของประเทศไทยสอดคล้องกับหลักการปรับอันดับค้ามนุษย์ของอเมริกา ที่จะต้องมีความพยายามอย่างเห็นได้ชัดในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ได้รับการจัดอันดับการแก้ปัญหาดีขึ้นเท่านั้นแต่มุ่งแก้ปัญหาเพื่อความมั่นคงอย่างยั่งยืนของไทย
พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวอีกว่า เชื่อว่าเรื่องนี้คงไม่มีกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศและไทยยังคงเดินหน้าแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง โดยนายก– รัฐมนตรีได้ขอให้คนไทยทุกคนร่วมมือกันเพื่อไม่ให้ผู้ค้ามนุษย์มีที่ยืนในประเทศไทย เพื่อแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่ามีความจริงจังในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ หลังจากทราบผลแล้วจะยังเดินหน้าแก้ปัญหาตามแผนปฏิบัติที่กำหนดไว้ เช่น การแก้ปัญหาใช้แรงงานเด็ก การจดทะเบียนและคุ้มครองแรงงานต่างด้าว
ส่วนนายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังคงจัดให้ไทยอยู่ในระดับ 3 หรือเทียร์ 3 ต่ออีกนั้น ไม่น่าจะกระทบกับภาคการส่งออกของไทย เพราะไทยอยู่ในระดับอยู่ 3 อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งไทยยังคงทำมาค้าขายได้ตามปกติ การสั่งซื้อสินค้าและการส่งออกสินค้าตามคำสั่งซื้อยังมีต่อเนื่อง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการลงทุนของไทยมากกว่า เพราะอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความมั่นใจ และอาจหันไปลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ เคยระบุว่าหากไทยอยู่เทียร์ 3 ต่อ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรม หรือในด้านที่เกี่ยวกับการค้าโดยตรง แต่จะกระทบต่อการพิจารณาให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เช่น ด้านการศึกษา และด้านวัฒนธรรม ซึ่งการพิจารณาตัดความช่วยเหลือนั้น จะมีผลต่อเมื่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาใช้สิทธิการระงับความช่วยเหลือ ภายหลังการประกาศผล Tip Report 2015 โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการภายใน 90 วัน
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ให้ความหมายของรายงาน TIP Report (Trafficking in Persons Report) ไว้ว่า เป็นรายงานประจำปีที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ จะต้องจัดทำตามกฎหมาย Trafficking Victims Protection Act (TVPA) ค.ศ.2000 ของสหรัฐฯ เพื่อเสนอต่อรัฐสภา โดยเป็นการประเมินสถานการณ์และการดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก 186 ประเทศ และนำมาจัดอันดับตามเกณฑ์ 4 ระดับ ดังนี้
เทียร์ 1 (Tier 1) คือประเทศที่ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกาทั้งด้านการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์และการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
เทียร์ 2 (Tier 2) คือประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกาแต่มีความพยายามในการปรับปรุงแก้ไขรายชื่อต้องจับตามอง (Tier 2 WatchList) คล้ายกับเทียร์ 2 และมีจำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นหรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลเพิ่มความพยายามดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์
เทียร์ 3 (Tier 3) คือประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐฯและไม่มีความพยายามปรับปรุงแก้ไข ซึ่งสหรัฐฯอาจพิจารณาระงับการให้ความช่วยเหลือที่มิใช่ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับการค้า (non-humanitarian and non-trade-related foreign assistance)
จากนั้น ช่วงดึกวันเดียวกัน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ข่าวท่าทีประเทศไทยต่อการจัดอันดับประเทศไทยคงอยู่ระดับ Tier 3 มีเนื้อหาระบุว่าตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 รัฐบาลได้ “ปฏิรูป” การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งระบบ ส่งผลให้เกิดความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในทุกๆ ด้าน เช่น 1.ด้านนโยบาย รัฐบาลได้ประกาศย้ำให้การต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติและจัดตั้งกลไกระดับชาติ 2.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ทลายเครือข่ายผู้กระทำผิดค้ามนุษย์รายสำคัญ ได้จับกุม ดำเนินคดีและลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 3.ด้านการป้องกัน มีการแก้ไขและจัดระเบียบแรงงานในภาคประมง รวมถึงการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และแก้ปัญหาที่ต้นทาง 4.ด้านการคุ้มครอง การเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกและการดูแลคุ้มครองผู้เสียหาย 5.ด้านความร่วมมือและการสร้างความเป็นหุ้นส่วน ประเทศไทยได้มีบทบาทนำทั้งในกรอบทวิภาคีและภูมิภาค ในการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์บนพื้นฐานของหลักสิทธิ-มนุษยชนและความมั่นคง อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยยังคงมุ่งมั่นดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อไป เพื่อความมั่นคงและมนุษยธรรม พร้อมกับเพิ่มพูนความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ตลอดจนขยายความร่วมมือกับประเทศและองค์การระหว่างประเทศต่อไป