มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากไฟครั้งแรกเกือบ 1 ล้านปีที่แล้ว และตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบันเรายังคงใช้ประโยชน์จากไฟกันอยู่ ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่า มนุษย์ต้องวิวัฒนาการจนฉลาดก่อนจึงคุมไฟและใช้มันได้ หรือเพราะมนุษย์ได้ใช้ไฟถึงทำให้วิวัฒนาการจนฉลาดขึ้นกันแน่ เพราะที่เห็นได้ชัดเจนคือ การใช้ไฟทำให้อาหารสุกนั้น ทำให้อาหารนั้นเคี้ยวง่ายย่อยง่ายโดยใช้พลังงานน้อยลง จึงอิ่มนานกว่า และทำให้ร่างกายมีพลังงานและมีเวลาเหลือเฟือในการพัฒนาและเรียนรู้สิ่งต่างๆ แต่นั่นยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่
กระนั้นหลังจากไฟกองแรกได้ถูกจุดขึ้น นวัตกรรมต่างๆ เช่น แสงสว่าง ไล่สัตว์ร้าย การปรุงอาหารให้สุกสะอาด เครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ ก็ก่อกำเนิดจากไฟเช่นกัน วิถีชีวิตที่ดีกว่าและการบุกเบิกไปสู่ดินแดนใหม่ได้เริ่มจากไฟกองแรกนี้เอง
ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนจะพาท่านย้อนไปถึงจุดเริ่มต้น โดยจะเล่าถึงวิธีการจุดไฟแบบต่างๆของมนุษย์ ก่อนที่จุดไฟกันอย่างสะดวกสบายเช่นทุกวันนี้ บรรพบุรุษของเรา เขามีวิธีจุดไฟกันอย่างไรบ้าง
...
จุดไฟด้วยหินเหล็กไฟ
มนุษย์สมัยโบราณนั้นใช้หินมาทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ด้วยการนำหินมาเคาะ กะเทาะ จนได้รูปทรงตามต้องการ ซึ่งในการเคาะนั้นบังเอิญว่าหินบางชนิดมีประกายไฟ เช่น หินเหล็กไฟ (Flint Stone) การจุดไฟด้วยหินแบบโบราณนั้นต้องพยายามเคาะให้สะเก็ดไฟกระเด็นไปโดนเชื้อไฟ เช่น ขุยไม้แห้งๆ
วิธีนี้เป็นที่นิยมในการจุดไฟอย่างยาวนานแม้กระทั่งในยุคเหล็ก ช่วงยุคอัศวินของตะวันตก ยังคงใช้หินเหล็กไฟครับ เพียงแต่เปลี่ยนจากหินเคาะหินมาเป็นเหล็กคาร์บอน หรือใช้สันมีดมาเคาะกับหินเหล็กไฟเพื่อให้ได้ประกายไฟที่มากกว่าเดิม เรียกกันโดยสากลว่า Flint and Steel striker มักใช้คู่กับผ้าถ่าน หรือ char cloth ด้วยการนำผ้าไปเผาแบบเดียวกับการทำถ่าน เพื่อให้สะเก็ดไฟติดผ้าได้ง่ายขึ้นมาก ของไทยจะอาจใช้ขุยไม้ที่ติดไฟง่าย เช่น ขุยจากต้นเต่าร้าง (พืชตระกูลปาล์ม) ใส่ในกระบอกไม้ไผ่เล็กๆให้เต็ม เวลาใช้ก็เคาะหินโดยจ่อปากกระบอกไม้ไผ่ เมื่อไฟเริ่มลามแล้วจึงนำไปรวมกับเชื้อไฟ เช่น ขุยฟางแห้งๆ แล้วเป่าจนกระทั่งไฟลุกฟาง จึงให้นำกิ่งไม้มาก่อเป็นกองไฟได้เลยครับ
หินที่ใช้เป็นหินเหล็กไฟได้จะเป็นหินที่มีแร่ซิลิก้ามากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ มีอยู่หลายสี ตั้งแต่สีขาว ดำ เทา น้ำเงิน และสีแดงสนิม ซึ่งจะต้องเป็นหินที่เมื่อแตกแล้วรอยแตกจะเรียบลื่นคล้ายแก้ว ไม่สาก ไม่หยาบ เป็นหินที่มีความแข็งสูง แต่บางครั้งดูภายนอกอาจไม่รู้ เพราะเนื้อหินเหล็กไฟอาจถูกเคลือบด้วยหินปูน
จุดไฟด้วยการปั่นไม้
การจุดไฟด้วยการปั่นไม้ (Hand Drill Fire Starting) เป็นการจุดไฟแบบโบราณที่เราเห็นบ่อยที่สุดในหนังสือประวัติศาสตร์มนุษย์ วิธีการปั่นไม้นั้นเป็นศาสตร์และศิลป์อย่างยิ่งครับ เริ่มต้นด้วยการหาไม้เนื้ออ่อนมาผ่าเป็นแผ่น และอีกชิ้นเหลาให้กลมยาวเป็นแท่งปั่น ต่อมาก็เจาะรูตื้นๆบนกระดานเพื่อนำร่องให้กับแท่งปั่นไม่วืดไปที่อื่น ที่สำคัญต้องบากร่องด้านข้างกระดานเพื่อให้มีอากาศและใช้เทขี้เถ้าออกมาได้ด้วยครับ (ตรงนี้สำคัญมาก) ต่อมานำใบไม้รองใต้ช่องไว้ แล้วก็ปั่นเร็วๆครับ ไม้ที่อยู่ในรูจะเริ่มไหม้และเป็นขี้เถ้ามีควันออกมา นำขี้เถ้าที่รองใบไม้ไว้ไปเทใส่บนเชื้อไฟเล็กๆ เช่น ขุยฟางแห้งๆ แล้วเป่าจนกระทั่งไฟลุกเป็นอันเสร็จ นำไปก่อกองไฟได้เลย
ความเหมาะสมในการปั่นไฟนี้ขึ้นอยู่กับหลายอย่างมากครับ ทั้งไม้ที่ต้องเป็นไม้เนื้ออ่อนและแห้งสนิท ถ้าทุกอย่างเหมาะสมอาจจะได้ขี้เถ้ามีควันในเวลาไม่ถึง 1 นาที แม้ใช้เวลาไม่นานนักแต่การปั่นเร็วๆนั่นก็ใช้แรงมากเอาเรื่องอยู่เหมือนกันครับ รวมๆแล้วเทคนิคนี้คือการก่อไฟด้วยแรงเสียดทาน แต่ยังมีวิธีการอื่นๆอีกหลายแบบครับ เช่น นำไม้มาสีกันจนเกิดความร้อน กระทั่งมนุษย์พัฒนาขึ้นมาเป็นการจุดไฟด้วยคันปั่นไม้ (Bow drill Fire Starting) เพื่อช่วยทุ่นแรงในเวลาต่อมา เทคนิคเดียวกันนี้ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ทำเครื่องมือในการเจาะลูกปัดและเครื่องประดับอีกด้วย
...
ตะบันไฟ
ตะบันไฟ หรือ fire piston อาจเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูของคนไทยรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันมากนัก แต่นี่นับเป็นภูมิปัญญาในการจุดไฟของมนุษยชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งมีหลากหลายวัฒนธรรมทั่วโลกครับ รวมถึงภูมิปัญญาโบราณของไทยเราด้วย! โดยใช้หลักการเดียวกับการจุดระเบิดของกระบอกลูกสูบเครื่องยนต์ คือจะมีส่วนที่เป็นแท่งยาว (ลูกตะบันหรือลูกสูบ) และส่วนที่เป็นท่อทรงกระบอก (ตัวตะบันหรือเสื้อสูบ) ตรงปลายแท่งยาวนั้นจะมีร่องเล็กๆเอาเศษผ้าที่ติดไฟง่ายติดเข้าไปด้วย (ผ้าถ่าน) แล้วดันกระแทกเข้าไปในกระบอกเสื้อสูบอย่างเร็วและแรงจนเกิดการจุดระเบิดขึ้นภายในเพียงครั้งเดียว แล้วนำแท่งลูกสูบออกมาจากท่อ เขี่ยเศษผ้าที่ติดไฟนั้นลงในเชื้อไฟแล้วเป่าให้ไฟลุก และนำไปก่อกองไฟต่อไปครับ ซึ่งส่วนที่เป็นแท่งยาวและท่อทรงกระบอกที่ใช้ทำตะบันไฟนั้นต้องทำอย่างดี คือ ให้เป็นการอัดอากาศแบบสุญญากาศจึงจะเกิดการจุดระเบิดภายในได้
ภูมิปัญญาในการทำตะบันไฟในประเทศไทยกำลังจะสูญหายไป ของไทยนั้นจะทำจากไม้ ไม้ไผ่ และเขาสัตว์ คนเฒ่าคนแก่ที่ทำเป็นยังคงมีอยู่ครับ แต่น้อยคนแล้ว ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย เนื่องจากทำยากและอาจไม่เป็นที่น่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ในต่างประเทศนั้นมีผู้สนใจอยู่บ้าง ซึ่งปัจจุบันนี้นิยมทำด้วยโลหะหรือท่อพลาสติกแข็งกันมาก
ยุคสมัยก่อนที่จะมีไม้ขีดไฟขายกัน ประเทศไทยใช้วิธีการจุดไฟ ด้วยตะบันไฟและหินเหล็กไฟกันมายาวนาน แต่การปั่นไม้ไม่ค่อยนิยมเนื่องจากบ้านเราเป็นเขตร้อนชื้น ไม้ที่เหมาะสมหายาก (แต่ก็มีการจุดไฟด้วยการเสียดสีอีกแบบคือใช้ไม้ไผ่มาสีกัน) สมัยนั้นจะมีหาบเร่ขายนุ่นขายสำลีและไม้น้ำมันที่ติดไฟง่าย ซึ่งชาวบ้านจะซื้อมาทำขุยเชื้อไฟกันครับ กระทั่งต่อมาได้เข้าสู่ยุคของไม้ขีดไฟและไฟแช็ก
...
ไม้ขีดไฟ
ช่วงปี พ.ศ.2370 หรือต้นสมัยรัชกาลที่ 3 มีนักเคมีชาวอังกฤษ จอห์น วอล์คเกอร์ ได้คิดค้นไม้ขีดไฟต้นแบบขึ้นมา กระทั่งได้มีการค้นพบฟอสฟอรัสแดงในช่วง พ.ศ. 2382 หรือปลายสมัยรัชกาลที่ 3 จึงได้ถูกพัฒนาเป็นไม้ขีดไฟที่ใช้ได้อย่างปลอดภัย โดยจะจุดติดไฟได้เฉพาะแถบข้างที่ทำไว้แบบในปัจจุบัน ในยุคแรกนั้นประเทศไทยนำเข้าไม้ขีดไฟของสวีเดนและญี่ปุ่น ต่อมาช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 คนไทยก็สามารถผลิตไม้ขีดไฟเองได้
เริ่มแรกมีไม้ขีดไฟนี้เอง ที่ทำให้การจุดไฟเป็นไปอย่างง่ายดายยิ่งขึ้นครับ จากหาบเร่ขายนุ่นขายสำลีก็เปลี่ยนเป็นหาบเร่ขายไม้ขีดไฟ และหลังจากนั้น คนทั่วไปจึงหันมาใช้ไม้ขีดไฟแทนการจุดไฟแบบเดิม ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม้ขีดไฟถือเป็นปัจจัยสำคัญของคนในประเทศทีเดียวครับ ผลิตไม้ขีดออกมาเท่าไหร่ก็ไม่พอ จนรัฐบาลต้องกำหนดให้แต่ละบ้านมีไม้ขีดห้ามเกิน 2 กลักต่อเดือน กระทั่งว่าเวลาใช้ต้องผ่าไม้ขีดไฟเป็น 2 ซีกเพื่อให้พอใช้จุดไฟได้ทั้งเดือน!
ไฟแช็ก
จริงๆไฟแช็กตัวต้นแบบผลิตมาก่อนไม้ขีดไฟตัวต้นแบบถึง 4 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ.2366 เรียกว่า “ตะเกียงของโดเบอไรเนอร์ (Dobereiner’s lighter)” ดัดแปลงจากกลไกของปืน แต่มันมีขนาดใหญ่ อันตราย และแพง จึงเลิกผลิตในเวลาไม่นาน กระทั่งช่วงสงครามโลก หลังจากที่เทคโนโลยีการผลิตพัฒนาขึ้น ไฟแช็กจึงมีขนาดเล็กลง ราคาถูกลง และปลอดภัย ทำให้ค่อยๆเป็นที่นิยมไปทั่วโลก จนปัจจุบันนี้แทบจะเข้ามาแทนที่ไม้ขีดไฟไปแล้ว เนื่องจากความสะดวกในการใช้งาน เก็บรักษา และการพกพา
...
ปัจจุบันมีสิ่งประดิษฐ์อย่างหนึ่งที่เรียกว่า Ferrocerium ซึ่งดูเหมือนแท่งโลหะขนาดเท่านิ้วก้อย เพียงนำเหล็กมาขูดแรงๆจะเกิดประกายไฟขึ้น เรียกกันว่า แท่งจุดไฟ หรือ fire starters เป็นการจุดไฟที่คล้ายกับหินเหล็กไฟอยู่เหมือนกัน โดยตัวประกายไฟนี้จะมีความร้อนกว่า 1,650 องศาเซลเซียส และมีสะเก็ดประกายไฟเยอะกว่าหินเหล็กไฟมากครับ ทำให้จุดไฟได้ง่ายกว่าหินเหล็กไฟหน่อยนึง ซึ่งเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งของนักเดินป่าในปัจจุบัน เนื่องจากต่อให้เปียกน้ำก็ยังขูดประกายไฟออกมาได้ ในไฟแช็กก็มี Ferrocerium แต่เป็นชิ้นเล็กๆที่ถูกใช้ “แช็ก” ให้เกิดประกายไฟนั่นเองครับ
จะเห็นว่าเทคโนโลยีการจุดไฟแบบใหม่นั้น เพิ่งเกิดขึ้นมาได้ไม่กี่ร้อยปีนี้เท่านั้นเอง และกระทั่งถึงวันนี้เราเดินทางมาสู่จุดที่การจุดไฟเป็นเรื่องง่าย เพียงแค่ขยับนิ้วก็สามารถหุงหาอาหารได้อย่างง่ายดาย และบางทีอาจพัฒนาไปถึงเทคโนโลยีเตาไฟฟ้ากันแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น ที่มาของการจุดไฟ ตั้งแต่กองไฟกองแรกของมนุษยชาติ ตั้งแต่ค้นพบโดนบังเอิญจากการเคาะหิน การปั่นไม้ให้เสียดสีจนเกิดความร้อน การจุดด้วยลูกสูบทำมือ ไปจนถึงเทคโนโลยีไม้ขีดไฟและไฟแช็กที่พกพาสะดวกนั้น มีที่มาอันยาวนาน
และน่าสนใจ แต่ทว่าหากวันหนึ่งเทคโนโลยีอันล้ำสมัยเกิดขัดข้องขึ้น หรือวันหนึ่งต้องอยู่ห่างไกลจากเทคโนโลยีเหล่านั้น กระทั่งทรัพยากรพลังงานเริ่มหมดไปจากโลก ทักษะการจุดไฟด้วยวิธีดั้งเดิมนี่แหละครับ ที่จะทำให้เราควบคุมไฟและให้แสงสว่างแห่งชีวิตได้ด้วยตนเองเช่นเดียวกับที่บรรพบุรุษของเราเคยทำได้มานับล้านปีบนโลกใบนี้.
โดย : เท้าปุย
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน