“ภุชงค์” แจงการเตรียมความพร้อมในการจัดการออกเสียงประชามติ-รับหนักใจ แต่ถือว่า ได้เตรียมการมากขึ้น อัพเดตข้อมูลปัจจุบัน มี 73 พรรคการเมือง ที่ยังดำเนินกิจการ
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 ที่โรงแรมคลาสสิค คามิโอ อ.เมือง จ.ระยอง นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมการจัดการออกเสียงประชามติ ว่า ทางสำนักงานได้รับมอบหมาย จากทางคณะกรรมการ กกต. เราได้ยกร่างกำหนดประกาศการใช้การออกเสียงประชามติ ซึ่ง กกต.ได้รับความเห็นชอบ จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว โดยเหตุผลในการออกเสียงประชามติครั้งนี้ ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ได้กำหนดให้ กกต.จัดการในส่วนของการเลือกตั้ง การออกเสียงต่างๆ รวมไปถึงการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งจัดเวทีต่างๆ มอบให้ ทาง กกต.เป็นผู้ดำเนินการ และต้องทำหน้าที่ส่งเอกสารทั้งหมดให้ถึงครัวเรือนจากกรมการปกครองประมาณ 24 ล้านครัวเรือน และจะต้องจัดพิมพ์เอกสาร 24 ล้านฉบับ เป็นอย่างน้อย
ทั้งนี้ ภายใน 45 วัน กกต.ต้องยืนยันไปยัง คสช. และรัฐบาลว่า สามารถจัดส่งเอกสารไปยังครัวเรือนได้ 80 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ จึงถือว่าเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม กกต.ได้จัดเตรียมไว้แล้ว โดยมีการสำรวจโรงพิมพ์ต่างๆ ทั้งของราชการ และเอกชน ว่า จะมีกระดาษเพียงพอหรือไม่
นายภุชงค์ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการร่างกำหนดประกาศการใช้การออกเสียงประชามตินั้น ได้ดำเนินการไปส่วนหนึ่งแล้ว และได้เสนอไปยังคณะกรรมการ กกต.เพื่อมีมติเห็นชอบในตัวร่างประกาศกำหนดนี้ ซึ่งในส่วนแรกจะพูดถึงอำนาจหน้าที่ของ กกต. ในการบริหารจัดการออกเสียงอย่างไร มีคณะกรรมการเท่าไร และการจัดทำบัญชีรายชื่อจะทำอย่างไร ซึ่งในส่วนนี้ทางคณะกรรมการ กกต.ได้เพิ่มในส่วนของอำนาจหน้าที่ของ กกต. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้อำนาจ กกต.ใช้คำว่า สั่งการหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนท้องถิ่น หรือ รัฐวิสาหกิจ ให้ช่วยเหลือในการดำเนินงานของ กกต. เนื่องจากภารกิจในการออกเสียงประชามตินั้น ค่อนข้างหนักมาก กกต.ดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียวคงไม่ไหว ต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น จึงต้องมีอำนาจพอสมควร โดยไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าที่กฎหมายเคยกำหนดไว้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในเรื่องการบริหารจัดการทางด้านธุรการ ตอนนี้ยังคงให้ทางบริหารเลือกตั้ง บริหารกลาง ดูเรื่องดังกล่าวไปก่อน แล้วนำมาใส่ไว้ในตัวประการ พ.ร.บ. เพราะโอกาสในการดำเนินการจะมีความศักดิ์สิทธิ์กว่า ระเบียบธรรมดา ส่วนคณะกรรมการอีก 2 ชุด คือ คณะกรรมการในการจัดพิมพ์ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ และภายในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมกัน
...
นายภุชงค์ กล่าวว่า หากพูดถึงความพร้อม กกต.มีความพร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าภายในวันที่ 14 ก.ย.นี้ จะมีมติออกมาอย่างไร ถ้ามีมติ ว่ารัฐธรรมนูญผ่าน กกต.ก็พร้อมเดินหน้า แต่สิ่งที่คาดการณ์ไว้ว่า การส่งเอกสารร่างรัฐธรรมนูญไปยังครัวเรือนกว่า 24 ล้านครัวเรือน อาจจะมีปัญหาหรือไม่นั้น เป็นเหตุการณ์ที่คิดไว้ หรือ การวางแผนไว้ ซึ่งอาจจะมีปัญหา แต่หากกฎหมายออกมาแล้ว กกต.ก็ต้องดำเนินการให้ได้และทำให้สมบรูณ์ที่สุด ถามว่า หนักใจหรือไม่ เราตอบว่าหนักใจ แต่ทำให้เราสามารถเตรียมการได้มากขึ้น เราเชื่อว่า ศักยภาพของ กกต. ที่จัดการเลือกตั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.และ ส.ว.เรามีศักยภาพที่จะดำเนินการเรื่องนี้ได้แน่นอน เพียงแต่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในเรื่องของข้อกฎหมายและระเบียบให้มาก เพราะอาจจะมีการร้องเรียนเกิดขึ้นได้ ซึ่งเราจะต้องทำให้ถูกต้อง ทั้งนี้ เราจะเชิญหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาร่วมดำเนินการเรื่องนี้ด้วย
ด้าน นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้จัดทำสรุปข้อมูลการดำเนินกิจการของ พรรคการเมือง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ 73 พรรค มีสาขาพรรค 380 สาขา และมีสมาชิกพรรคการเมือง 5,126,878 ราย ภายหลังจากล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคดำรงไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน เนื่องจากไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงิน ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองในรอบปี พ.ศ. 2556 ให้ถูกต้อง ตามความเป็นจริง ตามมาตรา 93 ประกอบมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 และมีคำสั่งให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคดำรงไทย จะจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือ มีส่วนร่วมในการจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยุบพรรคดำรงไทย ตามมาตรา 97 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคดำรงไทยมีกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบพรรคดำรงไทย