เหมืองบิงแฮมแคนยอน สหรัฐอเมริกา.
คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนฉบับนี้ ขอพาไปดูของที่อาจจะไม่สวยงามกันบ้าง หรือบางท่านจะว่าสวยก็ว่ากันไป รสนิยมของคนเราย่อมมีแตกต่างกันเป็นธรรมดา แต่ความยิ่งใหญ่น่าตื่นตะลึงของสถานที่ที่นำมาเสนอในวันนี้ นับว่าไม่ธรรมดาครับ เพียงแต่อาจจะทำให้รู้สึกบาดใจอยู่สักหน่อยที่ผิวโลกของเราถูกเจาะทะลวงซะกลวงโบ๋ขนาดนี้ แถมบางแห่งยังก่อให้เกิดมลภาวะอีกด้วย แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อคนเรายังต้องการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ก็คงต้องมีสถานที่แบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยไปจนกว่าเราจะหานวัตกรรมและวิธีใหม่ๆขึ้นมาทดแทนได้
ขอเชิญไปทัศนาสถานที่สุดพิสดารในวันนี้กันเลยครับ
เหมืองบิงแฮมแคนยอน (Bingham Canyon Mine) อยู่ในซอลต์เลคเคาน์ตี้ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซอลต์เลคซิตี้ รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา เป็นเหมืองทองแดงขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มเปิดเหมืองทำการขุดค้นมาตั้งแต่ ค.ศ.1906
หลุมขุดของเหมืองแห่งนี้ลึกกว่า 970 เมตร ปากหลุมกว้าง 4 กิโลเมตร อาณาเขตเหมืองครอบคลุมพื้นที่ 4,750 ไร่ เหมืองแห่งนี้มีที่มาจากการค้นพบแหล่งแร่ทองแดงโดยชาวปศุสัตว์สองพี่น้อง แซนฟอร์ดและโทมัส บิงแฮม ในปี 1848 เมื่อเริ่มแรกการขุดหาแร่เป็นไปอย่างยากลำบากเพราะความทุรกันดารของพื้นที่ หลุมขุดแต่ละแห่งก็เป็นเพียงหลุมเล็กๆ จนกระทั่งปี 1873 เมื่อทางรถไฟพาดผ่านมาถึง ก็นำพาเอาความสะดวก เครื่องมือ และผู้คนมาที่นี่กันมากขึ้น จนกระทั่งมีการตั้งเป็นเหมืองถาวรที่บริหารงานแบบบริษัทขึ้นมาในภายหลัง ในปี ค.ศ. 1920 เป็นช่วงเฟื่องฟูที่มีชาวเหมืองคับคั่งมากที่สุด ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติกว่า 15,000 คน ทำงานและตั้งบ้านเรือนอยู่ในแคนยอนอันเป็นหุบเขาลึกที่มีผนังผาสูงชัน ต่อมาเมื่อมีเทคนิคการทำเหมืองที่ดีขึ้น การใช้แรงงานคนก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ ในปัจจุบันก็ยังมีการทำเหมืองกันอยู่ แต่ด้วยวิธีที่แตกต่างจากอดีตลิบลับ
...
ในปี 1966 เหมืองแห่งนี้ได้รับเกียรติประกาศให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ ถ้านับถึงตอนนี้เหมืองบิงแฮมแคนยอนก็มีอายุกว่า 100 ปีแล้วครับ

เหมืองกราสเบิร์ก (Grasberg mine) ในเมืองทิมิกา เกาะปาปัว อินโดนีเซีย ถือเป็นเหมืองทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเหมืองทองแดงที่ใหญ่อันดับ 3 ของโลก ดำเนินงานโดยมีบริษัทฟรีพอร์ทแมคมอแรนของสหรัฐฯเป็นหุ้นใหญ่ มีคนงาน 19,500 คน ที่ทำงานขุดค้นแร่ทองแดง ทองคำ และแร่เงิน อยู่บนยอดเขาสูงกว่า 4,200 เมตร แหล่งแร่แห่งนี้ถูกค้นพบโดยนักธรณีวิทยาชาวดัตช์ตั้งแต่ปี 1936
เมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2556 เคยเกิดเหตุอุโมงค์ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ฝึกอบรมถล่มลงมา ทำให้มีเจ้าหน้าที่จำนวน 38 ราย ที่กำลังฝึกอบรมด้านความปลอดภัยต้องติดอยู่ในอุโมงค์ใต้ดิน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 28 คน และที่เหมืองกราสเบิร์กแห่งนี้ยังเคยมีเหตุคนงานสไตรก์ประท้วงขอขึ้นค่าแรงอยู่หลายครั้งอีกด้วย

เหมืองคิมเบอร์ลีย์ (Kimberley Mine) หรือเรียกกันอีกชื่อว่าหลุมใหญ่ (Big Hole) เป็นเหมืองเพชรในประเทศแอฟริกาใต้ เชื่อกันว่าเป็นหลุมใหญ่ที่สุดในโลก ที่ขุดด้วยแรงงานมนุษย์โดยไม่ใช้เครื่องจักรเลย แรงงานมนุษย์ราว 50,000 คน ลงแรงขุดเหมืองนี้ด้วยพลั่ว โดยเริ่มขุดกันตั้งแต่ ค.ศ.1871 จนกระทั่งปิดตัวลงในปี 1914
เหมืองคิมเบอร์ลีย์มีความลึกถึง 1,097 เมตร ในยุคนั้นมีผู้คนล้มตายไปไม่น้อยในการขุดหลุมมโหฬารแห่งนี้ เนื่องจากอุบัติเหตุความร้อนแล้งแสนทารุณ โรคจากความสกปรก รวมถึงการขาดแคลนน้ำและอาหาร ด้วยความอุตสาหะของชาวเหมืองทำให้สามารถขุดเพชรขึ้นมาได้ถึง 2.72 ตัน จากเนื้อดินหินแร่ที่ขุดขึ้นมามากมายมหาศาลกว่า 22 ล้านตัน
หลังจากเลิกทำเหมือง ก็ได้มีการพัฒนาที่นี่ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ปัจจุบันมีการเสนอชื่อเหมืองคิมเบอร์ลีย์ให้ยูเนสโกพิจารณาประกาศเป็นมรดกโลก แต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

เหมืองเพชรเอกาติ (Ekati Diamond Mine) ตั้งอยู่ชายฝั่งอาร์กติกของแคนาดา เปิดทำเหมืองในปี 1998 หลังจากเมื่อปี 1985 นักธรณีวิทยาได้ค้นพบแหล่งหินคิมเบอร์ไลท์ (kimberlite) ซึ่งเป็นหินลาวาประเภทที่อาจพบเพชรได้อยู่ในบริเวณแหล่งทะเลสาบตื้นๆ เมื่อมองจากทางอากาศเราจะเห็นหลุมขุดทั้งเล็กและใหญ่จำนวน 4 หลุม รวมถึงสนามบินซึ่งตั้งอยู่ในที่ลุ่มมีแหล่งน้ำเรียงรายกระจายตัวล้อมรอบกว้างไกลสุดสายตา
...
ระหว่างปี 1998–2009 เหมืองเพชรเอกาติมีผลผลิตเพชรดิบกว่า 40 ล้านกะรัต (8 ตัน) และเมื่อปีที่ผ่านมาสามารถขุดเพชรขึ้นมาได้ถึง 7.5 ล้านกะรัต

ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคนาดายังมีเหมืองเพชรที่ยิ่งใหญ่อีกแห่งหนึ่งคือ เหมืองเพชรไดอาวิค (Diavik Diamond Mine) ซึ่งเป็นเหมืองเพชรที่ใหญ่ที่สุดของแคนาดา และเป็นแหล่งเพชรน้ำงามคุณภาพสูงอีกทั้งยังมีขนาดใหญ่ ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก
ดินแดนแห่งนี้ได้รับการสำรวจทางธรณีวิทยาเมื่อปี 1992 และเริ่มการผลิตได้เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.2003 เมื่อถึงปี 2010 ก็เริ่มทำเหมืองใต้ดินแทนการทำเหมืองแบบเปิดหลุม
ภูมิทัศน์ของเหมืองเมื่อมองจากมุมสูงจะเห็นหลุมขุดขนาดใหญ่ 2 หลุม มีถนนทอดยาวไปสู่สนามบิน ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ท่ามกลางผืนน้ำ เหมืองแห่งนี้จำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่รัดกุมมาก เพราะต้องมีทั้งเสบียงอาหาร น้ำ เชื้อเพลิง และมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากพอที่จะสามารถสู้กับความทุรกันดาร ความเหน็บหนาวต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง และห่างไกลผู้คนของภูมิภาคอาร์กติก สำหรับที่พักอาศัยและกระบวนการทำเหมืองก็ต้องมีระบบจัดการของเสียที่เหมาะสมไม่ก่อมลภาวะกับสิ่งแวดล้อมด้วย
...

เหมืองทองซุปเปอร์พิต (Super Pit Gold Mine) ในเมืองคาลกูรลี (Kalgoorlie) ออสเตรเลียตะวันตก กำเนิดของเหมืองแห่งนี้ในยุคแรกเป็นการแห่กันเข้ามาขุดหาทองคำของเหล่านักแสวงโชคท่ามกลางภูมิประเทศอันแห้งแล้ง ไม่ต่างจากเหตุการณ์ตื่นทองของบรรดานักขุดทองในอเมริกายุคบุกเบิก โดยขุดกันแบบเหมืองใต้ดินขนาดเล็ก แม้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไร แต่ก็ทำให้ที่นี่กลายเป็นเมืองที่มีผู้คนอาศัยกันอยู่ไม่น้อย ผู้ลงทุนขุดในยุคต่อมาเป็นบริษัททำเหมืองรายใหญ่ได้เปลี่ยนระบบการขุดเป็นแบบหลุมเปิดเมื่อปี 1989 ในปัจจุบันหลุมขุดมีความยาวประมาณ 3.5 กิโลเมตร กว้าง 1.5 กิโลเมตร และลึก 570 เมตร สามารถขุดแร่ทองขึ้นมาได้ประมาณ 28 ตันต่อปี

...
ปิดท้ายกันด้วย เหมืองเมียร์ (Mir Mine) ในไซบีเรียตะวันออกของรัสเซีย เหมืองเพชรขนาดยักษ์นี้เปิดทำการเมื่อปี 1957 มีเส้นผ่าศูนย์กลางของหลุมขุด 1.2 กิโลเมตร ลึก 525 เมตร ความใหญ่และลึกของเหมืองเมียร์ทำให้มีกฎห้ามอากาศยานบินผ่านหลุมขุด เพราะเคยมีเฮลิคอปเตอร์ถูกดูดลงไปเนื่องจากผลของการไหลเวียนของอากาศ
ขุมทรัพย์ใต้พิภพแห่งนี้ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 1955 โดย ยูริ คห์าบาร์ดิน (Yuri Khabardin) และคณะสำรวจทางธรณีวิทยา พวกเขาพบร่องรอยของหินคิมเบอร์ไลท์ หินภูเขาไฟที่มักจะพบร่วมกันกับเพชร ซึ่งนี่เป็นความสำเร็จครั้งที่ 2 ของพวกเขาในการหาแหล่งทำเหมืองเพชรในรัสเซีย หลังจากที่ค้นหากันมาอย่างยากลำบากและยาวนานนับสิบปี ตามคำสั่งของท่านผู้นำ สตาลิน ซึ่งต้องการให้หาเพชรมาช่วยเยียวยาเศรษฐกิจของประเทศ การค้นพบครั้งนี้ทำให้ยูริได้รับ รางวัลเลนิน (Lenin Prize) ซึ่งเป็นรางวัลทรงเกียรติสูงสุดรางวัลหนึ่งของสหภาพโซเวียตในยุคนั้น
การบุกเบิกทำเหมืองเมียร์ในยุคแรกนั้น ลำบากแสนสาหัสเพราะภูมิอากาศของไซบีเรียขึ้นชื่อลือนามอยู่แล้วเรื่องความหฤโหด ฤดูหนาวอภิมหาหนาวที่ยาวนานถึงปีละ 7 เดือน ทุกอย่างแทบจะกลายเป็นน้ำแข็งไปหมด ยางรถยนต์เย็นจัดจนกรอบ น้ำมันจับตัวแข็ง แม้แต่เหล็กก็ยังแตกหักง่ายในอุณหภูมิติดลบขนาดนั้น ส่วนในฤดูร้อนเมื่อหิมะละลายพื้นดินก็กลายเป็นโคลนเละเทะ ชาวเหมืองต้องทำทุกวิถีทางเพื่อขุดเอาสิ่งล้ำค่าขึ้นมาให้ได้
ในยุคที่เหมืองแห่งนี้ยังทำการอยู่นั้นสามารถขุดค้นเพชรจากพื้นผิวโลกขึ้นมาได้ถึงปีละ 2 ตัน หรือ 10 ล้านกะรัตต่อปี เพชรเม็ดใหญ่ที่สุดที่เคยขุดได้นั้นมีน้ำหนักถึง 342.5 กะรัต ผลิตผลจากเหมืองเมียร์ในตอนนั้นทำให้รัสเซียกลายเป็นผู้ผลิตเพชรรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกเลยทีเดียว
เหมืองเมียร์เคยปิดไปช่วงหนึ่งหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต หลังจากนั้นก็เปิดทำการต่ออีกได้ไม่นานก็ต้องปิดไปอย่างถาวรในปี 2004 เหลือเพียงแค่หลุมยักษ์ที่เป็นหลักฐานแสดงถึงการขุดค้นแสวงหาสิ่งล้ำค่าของเหล่ามวลมนุษย์เมื่อครั้งอดีตที่กระทำต่อแผ่นเปลือกโลกใบนี้ ที่จะคงอยู่ไปอีกนานแสนนาน.
โดย : ประลองพล เพี้ยงบางยาง
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน