เพื่อเป็นการขยายความถึงผลการตรวจสอบการดำเนินการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าได้ทำอะไรลงไปกับชาติบ้านเมืองบ้าง
ขอหยิบเอาข้อเท็จจริงที่มีการรายงานเรื่องนี้ว่า คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้รายงานผลการติดตามและตรวจสอบการดำเนินการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้นายกรัฐมนตรีทราบ ซึ่งตรวจพบความบกพร่องในการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการใช้จ่ายเงินผิดวัตถุประสงค์ ไม่เป็น ไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หลายประเด็น
ตัวอย่างประเด็นแรกคือ การจัดสรรเงินค่าเหมาจ่ายรายหัว แยกเป็นเรื่องที่ 1 การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข ขัดต่อวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย
ผลการตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดกรอบวงเงินรายการย่อยของงบค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว โดยตัดเงินจากงบบริการผู้ป่วยในทั่วไป จำนวน 0.10 บาทต่อผู้มีสิทธิ์ (รวมเป็นเงิน 4.8852 ล้านบาท) ไปให้รายการย่อย “เงินช่วยเหลือเพื่อการชดเชยผู้ให้บริการ” เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่อเนื่องตามแนวทางที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กำหนดขึ้น และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้จ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อการชดเชยให้แก่ผู้ให้บริการ ซึ่งขัดต่อพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ
เนื่องจากไม่ได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ และ ไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ออกหลักเกณฑ์ ดังกล่าว จึงเป็นการใช้อำนาจนอกเหนือจากพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯกำหนด ซึ่งเป็น การอนุมัติใช้จ่ายเงินโดยมิชอบ และผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
...
เรื่องที่ 2 การนำเงินค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัวไปใช้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในกรณีอื่นที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย
ผลการตรวจสอบพบว่าไม่มีการกำหนดระเบียบว่าด้วยวิธีการงบประมาณตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ และจากการสุ่มตรวจโรงพยาบาลจำนวน 3 แห่ง ในพื้นที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สาขาจังหวัดสระบุรี พบว่ามีการนำเงินค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัวไปใช้จ่ายประจำในกิจการของโรงพยาบาล เช่น ค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทนการปฏิบัติการนอกเวลาราชการของเจ้าหน้าที่ ค่าตอบแทนภาระเงิน ค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างเหมาบริการ และค่าพัฒนาบุคลากร (ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางประชุม/อบรม)
จึงเป็นการใช้จ่ายเงินที่ผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนหลัก ประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข
นี่เป็นเพียงเรื่องแรกคือการจัดสรรเงินค่าเหมาจ่ายรายหัวเท่านั้นยังทำกันขนาดนี้ ยังมีเรื่องต่อไปอีกมากมายที่หนักข้อกว่านี้
ถ้าหากเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นในประเทศที่ผู้คนในวงราชการงานเมืองมีจิตสำนึกที่ดีกว่านี้ เราคงได้พบเห็นเหตุการณ์ที่คนทำผิดติดคุกและคนรับผิดชอบลาออกไปนานแล้ว ไม่ใช่แค่ลงดาบแก่เลขาธิการ สปสช.คนเดียว.
“ซี.12”