ราวเดือนมิถุนายน 2549 มีงานนิทรรศการประมูลภาพจิตรกรรมของศิลปินระดับชาติ จัดที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ...

ในงานนั้นมีภาพจิตรกรรมของเหม เวชกร จำนวน 55 ภาพ จัดแสดงอยู่ด้วย แต่ไม่มีโอกาสถูกประมูล...เพราะมีคำสั่งระงับไว้ในเช้าวันประมูลนั่นเอง

เบื้องหลังความเป็นมาของภาพจิตรกรรมชุดนี้ มีเรื่องราวความเป็นมายอกย้อนซ่อนเงื่อนน่าตื่นเต้น พาให้ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ครั้งที่...เมืองไทยประสบวิกฤติฟองสบู่

ครูเหม เวชกร จิตรกรฝีมือบรมครูผู้เขียนภาพวิจิตรตีพิมพ์ในหนังสือนานาชนิดของไทย ทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน นวนิยาย ตำราเรียน และนิตยสารต่างๆ ตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมาเป็นเวลากว่าสี่สิบปี ภาพเขียนของครูเหมมีชื่อเสียงมาก ได้แก่ ภาพชุดขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี สามก๊ก ผู้ชนะสิบทิศ ฯลฯ

ผลงานของครูเหมปรากฏเป็นภาพสีงดงามในยุครุ่งเรืองของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ครูเหมสร้างสรรค์ภาพเขียนจากจินตนาการตามเรื่องราวในวรรณคดีไทยและประวัติศาสตร์ไทย ตีพิมพ์ในนิตยสารชัยพฤกษ์...วิทยาสาร ในช่วงปี 2499-2512 โดยจัดพิมพ์เต็มขนาดหน้าหนังสือ บนปกหลัง มีคำบรรยายอยู่ภายในเล่ม

ภาพวิจิตรของครูเหม...ได้รับความนิยมยกย่องจากประชาชนทั่วประเทศ

เมื่อลงพิมพ์ติดต่อกันจนจบชุด สำนักพิมพ์ก็นำมาพิมพ์รวมเล่มได้ทั้งหมด 13 เล่ม เช่น นางงามในวรรณคดี ภาพประวัติศาสตร์ ภาพวิจิตรวรรณคดี ชีวประวัติสุนทรภู่ พระลอ กากี ราชาธิราช พุทธประวัติ ฯลฯ...หนังสือชุดนี้ถือเป็นหนังสือคลาสสิกหายากในปัจจุบัน

ชื่อเสียงครูเหมโด่งดังจนในปี 2504 สโมสรโรตารีได้จัดงานแสดงภาพจิตรกรรมเหม เวชกร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทอดพระเนตรงานแสดงภาพ ครูเหมได้มีโอกาสทูลเกล้าฯถวายภาพเขียน...ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครูเหมเข้าเฝ้าทรงมีรับสั่งให้ครูเหมวาดภาพตามพระราชดำริ เช่น ภาพชาวบ้านใช้กรรไกรตัดหมาก โดยมีพระราชดำรัสว่าภาพชีวิตไทยๆเหล่านี้ต่อไปอาจจะไม่มีให้พบเห็น...

...

ภาพเขียนของครูเหมหลายภาพ...ได้เป็นของขวัญพระราชทานแก่พระราชอาคันตุกะที่มาเยือนประเทศไทย

ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสให้ครูเหมเก็บรักษาภาพเขียนไว้ ครูเหมจึงเริ่มเก็บภาพเขียนที่ใช้เป็นต้นฉบับ

งานพิมพ์ต่างๆ และครูเหมมีความตั้งใจจะรวบรวมนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย

ช่วงเวลานั้นครูเหมขอภาพคืนจากโรงพิมพ์ต่างๆ ดังตัวอย่างจากข้อความในจดหมายที่ครูเหมเขียนถึงอาจารย์เปลื้อง ณ นคร บรรณาธิการสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ว่า

“...อาจารย์ช่วยบอกลูกน้องด้วย คืนต้นฉบับให้ด้วย ยังไม่ได้คืนเลย และทั้งฉบับขุนหลวงขี้เรื้อนด้วย จะสะสมไว้โชว์บ้างตามแหล่งการแสดงต่อๆไป...”

น่าเสียดายที่ครูเหมไม่มีโอกาสได้ทำตามปณิธานนั้น เพราะมีเหตุให้เป็นไป

ปี 2515 ครูเหมเสียชีวิตแล้ว 3 ปี นางบุญพริ้ง ต.สุวรรณ เจ้าของไทยวัฒนาพานิช ทราบว่า นางแช่ม เวชกร ภรรยาครูเหม หรือ แม่แช่ม มีความลำบาก นางบุญพริ้งจึงเข้าช่วยเหลือจุนเจือนางแช่ม โดยซื้อลิขสิทธิ์ภาพเขียนของครูเหมที่ตีพิมพ์ในหนังสือ 13 เล่มจากนางแช่มเป็นเงิน 13,000 บาท นางแช่มจึงมอบภาพเขียนต้นฉบับให้แก่นางบุญพริ้งไปทั้งหมด จำนวนกว่า 500 ภาพ มาเก็บรักษาไว้ที่โรงพิมพ์เพื่ออาจเป็นต้นฉบับงานพิมพ์หนังสือต่อไป

ต่อมา ในปี 2523 นางบุญพริ้ง ต.สุวรรณ ได้ทำหนังสือโอนลิขสิทธิ์หนังสือ 13 เล่ม ให้แก่ นายธีระ ต.สุวรรณ บุตรชาย โดยภายในหนังสือแต่ละเล่ม มีทั้งภาพเขียนผลงานครูเหม คำบรรยายภาพ รวมทั้งภาพปกที่เขียนโดยศิลปินท่านอื่น...ลิขสิทธิ์ทั้งหมดในหนังสือ 13 รายการ...รวมถึงงานจิตรกรรม...ภาพเขียนต้นฉบับของครูเหม

วันที่ 18 กรกฎาคม 2544 เกิดเหตุเพลิงไหม้สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ถนนไมตรีจิต เชื่อว่า...ภาพเขียนของครูเหมและศิลปินท่านอื่นคงสูญไปกับเพลิงไหม้ทั้งหมด

จนกระทั่งปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดต่อมูลนิธิบรมครูเพื่อขอประวัติภาพเขียนผลงานของครูเหม เวชกร เนื่องจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี จะจัดประมูลขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งยึดจากสถาบันการเงินที่เป็นลูกหนี้ ธปท. เพื่อนำเงินที่ได้จากการประมูลไปคืนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุน)

ในจำนวนทรัพย์ที่จะจัดประมูลนั้น...พบภาพเขียนผลงานครูเหม 55 ภาพ จำนวนนี้เป็นภาพสีน้ำ 35 ภาพ ภาพลายเส้นปากกา 11 ภาพ ภาพลายเส้นดินสอ 8 ภาพ และภาพพู่กันหมึกจีน 1 ภาพ...ภาพทั้งหมดนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารและหนังสือที่จัดพิมพ์จำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช

ล้วงลึกที่มาที่ไปผลงานครูเหม 55 ภาพข้างต้นนี้ยิ่งสลับซับซ้อนยิ่งนัก...อยู่ระหว่างการฟ้องร้องเป็นคดีความกันหลายชั้น ไพศาล กริชไกรวรรณ เลขาธิการมูลนิธิบรมครู บอกว่า ธีระ ต.สุวรรณ เจ้าของลิขสิทธิ์และกรรมสิทธิ์ภาพเขียนครูเหมเข้าใจว่าภาพทั้งหมดถูกเพลิงไหม้ไปแล้ว แต่เมื่อภาพชุดเดียวกันถูกนำมาจัดประมูล

แสดงว่า...ภาพเขียนครูเหมต้องถูกโจรกรรมไปก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อปี 2544

“มูลนิธิบรมครูจึงขอให้นายธีระใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อติดตามภาพกลับคืน เพื่อจะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามเจตนารมณ์ของครูเหม...จนเป็นคดีความที่ฟ้องร้องกันยืดเยื้อยาวนาน”

กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าไปตามขั้นตอน วันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ สข.174/2550 ว่าภาพวาดครูเหมทั้ง 55 ภาพเป็นของผู้ร้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธินำยึด ให้คืนผู้ร้อง คือ นายธีระ ต.สุวรรณ และ ธปท.ได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

...

ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา เหมือนฟ้าจะมีตาให้ความปรารถนาครูเหมสัมฤทธิผล ไพศาล บอกว่าเราบังเอิญได้เจอ “ภาพพระลอตามไก่” ภาพจริงต้นฉบับที่ใช้เป็นหน้าปกหนังสือ “พระลอภาพวิจิตร” หนึ่งในหนังสือ 13 รายการที่ไทยวัฒนาพานิชเคยจัดพิมพ์เมื่อปี 2506 และเป็นภาพที่ซื้อลิขสิทธิ์...รับภาพต้นฉบับมาจากนางแช่ม

“ภาพพระลอตามไก่”...เป็นจิ๊กซอว์สำคัญ ที่ยืนยันว่าภาพเขียนครูเหมชุดที่เป็นคดี...เคยเคลื่อนย้ายจากบ้านภรรยาครูเหมมาเก็บรักษาอยู่ที่สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชจริง

“จึงหมายความว่า...ครูเหมไม่เคยขายภาพชุดนี้ให้ใครตามที่มีการกล่าวอ้าง” ไพศาลว่า

สิ่งที่ต้องย้ำจำไว้ให้ขึ้นใจก็คือ ภาพเขียนของครูเหมที่หายไปจากสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ไม่ใช่ 55 ภาพ แต่มีจำนวนถึง 500 ภาพ นั่นหมายความว่าอีก 445 ภาพ...ยังถูกเก็บซ่อนอยู่ที่ใดสักแห่ง?

“กรุภาพเขียนฝีมือครูเหมอีกหลายร้อยภาพที่ว่านี้ รอเวลาขึ้นมาจากที่ซ่อน...รอเวลาถูกฟอกให้บริสุทธิ์ไปด้วย และต้องยอมรับความจริงที่ว่า มูลค่าอันมหาศาลนั้นเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดเหตุการณ์ยุ่งยากมาจนทุกวันนี้”

ประเด็นสำคัญ... “ขุมทรัพย์ภาพครูเหม” จึงไม่ใช่แต่เพียงการติดตามทวงภาพคืนเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของครูเหม เวชกร เท่านั้น.