การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือ Ecotourism เป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรง แม้ยังไม่มีคำจำกัดความที่สื่อความหมายได้ตรงเป๊ะ แต่ในความเข้าใจของผมน่าจะหมายถึงการท่องเที่ยวที่อนุรักษ์ธรรมชาติ ชูคุณค่าแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งการเข้าถึงวิถีชีวิตชุมชน
องค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ UNWTO ได้รายงานใน Tourism in the Green Economy : Background Report ปี 2012 ว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเติบโตอย่างรวดเร็ว อีก 20 ปีข้างหน้าจะสร้างรายได้แซงหน้าการท่องเที่ยวกระแสหลัก ขณะที่ The International Ecotourism Society หรือ TIES ซึ่งเป็นสมาคมด้านการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ประเมินว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศจะเติบโตขึ้นถึง 25%
ในส่วนของประเทศไทยก็มีรายงานจากสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) ว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของประเทศไทยเติบโตปีละ 20-25% มีสัดส่วนรายได้ราว 15-20% ของรายได้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เป็นชาวต่างชาติมีการใช้จ่าย 4,000-5,000 บาทต่อคนต่อวัน สูงกว่านักท่องเที่ยวกระแสหลักราว 20-25% และมีวันพักเฉลี่ย 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน
คนที่คิดว่าการท่องเที่ยวเชิงนิเวศจะต้องเป็นพวกนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็ก กินอยู่แบบถูกๆ ใช้เงินน้อย เดินอยู่ในป่า นับตั้งแต่นี้คงต้องลบภาพนั้นทิ้งไปได้แล้ว ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงนิเวศกำลังดึงดูดนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก สามารถทำเงินมหาศาลในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
เมื่อช่วงต้นเดือน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) โดย พ.อ.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผอ.อพท. ได้ถือโอกาสครบรอบ 12 ปีการก่อตั้ง อพท.ทำพิธีเปิดสำนักงาน Asian Ecotourism Network (AEN) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของสำนักงานใหญ่ของ อพท. และยังได้ลงนามหนังสือร่วมสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่ม AEN เพื่อชูภาพอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยก้าวเข้าสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างสมบูรณ์แบบ
...
พร้อมทั้งชิงจังหวะประกาศความเป็นผู้นำในฐานะศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของเอเชีย
ปัจจุบัน AEN มีสมาชิก 17 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ศรีลังกา ลาว เกาหลีใต้ บังกลาเทศ ปากีสถาน ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ มองโกเลีย อินโดนีเซีย ภูฏาน อินเดีย เนปาล ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งเครือข่าย 17 ประเทศจะถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ฐานข้อมูล และเครื่องมือการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกัน
เป็นโอกาสดีที่ อพท.จะนำองค์ความรู้เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ แน่นอนว่าต้องเริ่มจากพื้นที่พิเศษของ อพท.ทั้ง 6 แห่ง ก่อนจะขยายผลต่อไปในระดับประเทศ
อันที่จริงสไตล์ของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศก็ค่อนข้างกลมกลืนกับลักษณะงานของ อพท.อยู่แล้ว ช่วยหนุนเสริมต่อยอดให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้ ซึ่งหัวใจสำคัญในภารกิจของ อพท.ไม่ได้เน้นแค่สร้างรายได้ จากการท่องเที่ยว แต่ยังเน้นมิติด้านสังคมและมิติด้านสิ่งแวดล้อม
การประเมินผลการปฏิบัติงานของ อพท.ปีล่าสุดคือปีงบประมาณ 2557 สำนักงานคณะกรรมการระบบราชการ (ก.พ.ร.) ประเมินแล้วให้ 5 คะแนนเต็ม (ปีงบประมาณ 2556 ก็ได้คะแนนเต็มเช่นกัน) อยู่ในระดับดีเยี่ยม ถึงขนาดมีหนังสือจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีระบุว่า “ได้นำความกราบเรียนนายกฯทราบแล้ว มีบัญชาขอบคุณและชื่นชม หากช่วยกันอะไรก็จะดีขึ้น สร้างสรรค์ประเทศไทย”
ใครที่พยายามกลั่นแกล้งวางแผนจะยุบ อพท.คงต้องคิดทบทวนเสียใหม่.
ลมกรด