ความหลังและเรื่องราวของชุมชนบางกระบือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้น...ปราณี กล่ำส้ม เล่าไว้ในหนังสือย่านเก่าในกรุงเทพฯ เล่ม 2 (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ก.ค.2549) โดยเริ่มคำถาม เคยคิดสงสัยกันบ้างไหมว่าทำไมย่านนี้ จึงได้ชื่อว่าบางกระบือ
ผู้เฒ่าเล่าให้ลูกหลานฟังว่า ในสมัยก่อนนั้นเคยมีกลุ่มนายฮ้อยจากภาคอีสาน ต้อนวัวต้อนควายมาขายในภาคกลาง ผ่านสะพานกลางทุ่งนากว้าง...ต่อมาเรียกว่าสะพานควาย
ต้อนต่อไปจนมาถึงบางกระบือ แหล่งซื้อโคกระบือสำคัญ
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตำบลบางกระบือ มี 13 หมู่บ้าน ขึ้นกับอำเภอบางซื่อ ถือเป็นอำเภอชั้นนอกของกรุงเทพฯ
แต่เดิมคนในชุมชนได้อาศัยคลองบางกระบือ ซึ่งเชื่อมต่อจากแม่น้ำเจ้าพระยา มาบรรจบกับคลองเปรมประชากร ตรงสะพานวัดบางกระบือ (วัดประชาระบือธรรม) เป็นเส้นทางคมนาคม เป็นทั้งเส้นทางค้าขายพืชผักผลไม้
ก่อนปี 2500 ยังมีเรือพ่อค้าแม่ขายจากอยุธยา สิงห์บุรี พายเข้ามาขายของ จนเมื่อการคมนาคมเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ คลองจึงลดบทบาทลง ไหลผ่านจากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
เพื่อมาเป็นแหล่งรองรับน้ำจากบ้านเรือนละแวกนั้น...เท่านั้น
ภาพในอดีตที่ผู้เฒ่าหลายคนยังจำได้ย่านบางกระบือบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อไปถึงเกียกกาย เป็นแหล่งพักพิงของนกนางนวล ที่หลบลมหนาวบินมาจากแดนไกล
จนกระทั่งสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป บ้านเรือน ร้านค้า ผู้คนหนาแน่นมากขึ้น แม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มเปลี่ยนสี นกนางนวลฝูงใหญ่ ฝูงนั้น ก็จากไป
ปราณี กล่ำส้ม เล่าว่า ภายหลังสยามทำสนธิ-สัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ 4 การค้าขายกับต่างประเทศ ก็ขยายตัวเติบโต โดยเฉพาะการค้าข้าว
จากเดิมที่การสีข้าวตำข้าว ทำกันเองในครัวเรือน เมื่อปลูกข้าวได้มาก จึงเกิดโรงสีในระดับอุตสาหกรรมขึ้น ต่อมาโรงสีส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรแทนแรงคน จึงเรียกโรงสีไฟ
...
ในสมัยรัชกาลที่ 6 กิจการโรงสีแพร่หลาย มีโรงสีสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 84 โรง เฉพาะในย่านบางกระบือ มีโรงสีกิมเซ่งหลีของพระโสภณเพชรรัตน์ โรงสีข้าวหวั่งหลี โรงสีกวาง-ซุ่นหลี โรงสีกวางซุ่นไถ ฯลฯ
ความเจริญเริ่มขยายจากในเมืองออกสู่นอกเมือง ทำให้ที่ดินราคาแพงขึ้น หลังโรงสีไฟกิมเซ่งหลีเกิดเพลิงไหม้เสียหายอย่างหนัก เจ้าของเลิกกิจการขายที่ดินให้หลวง
ย้อนหลังไปในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯให้ใช้ที่ดินโรงสีกิมเซ่งหลี ตั้งกรมคลอง (เปลี่ยนเป็นกรมทดน้ำ ในสมัยรัชกาลที่ 6) เป็นกรมชลประทาน มีหน้าที่พัฒนาแหล่งน้ำ ลอกคูคลองต่างๆไม่ให้ตื้นเขิน
และเพื่อให้ราษฎรมีน้ำเพียงพอเพาะปลูก ทั้งยังใช้เป็นทางสัญจรไปมาได้สะดวกทุกฤดูกาล
ความเจริญของย่านบางกระบือ จึงถึงขนาดที่ต้องมีรถราง...ปราณี กล่ำส้ม เล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ.2431 บริษัทฝรั่งขอสัมปทานเดินรถรางสายแรก คือ สายหลักเมือง-ถนนตก
เวลานั้น รถรางยังต้องใช้ม้าลาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า รถรางม้า หรือม้าเหล็ก
ต่อมามีการสั่งรถรางไฟฟ้าเข้ามาวิ่งแทนรถรางม้า...ตอนแรกๆ สร้างความแตกตื่นให้ผู้คนเป็นอันมาก เป็นเรื่องประหลาดที่รถรางสามารถแล่นได้เอง โดยไม่มีม้าลาก
ต่อจากความประหลาดใจก็กลายเป็นความกลัว กลัวขึ้นรถรางแล้วจะถูกไฟฟ้าดูด
ก็ต้องใช้ความพยายามชี้แจง และโฆษณาเชิญชวนให้ขึ้นรถไฟ คนไทยกลัวก็ให้ฝรั่งขึ้นรถรางดูเป็นตัวอย่าง ระยะแรกจึงไม่เก็บค่าโดยสาร
หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการเปิดสัมปทานเดินรถรางบนถนนสีลม จากบางรักถึงประตูน้ำ อำนวยความสะดวกให้คนเดินทางระหว่างถนนเจริญกรุง ถนนพระราม 4 ถนนเพชรบุรี รถรางสายนี้แล่นเชื่อมรถรางสายหลักเมือง-ถนนตก ที่ถนนเจริญกรุง เชื่อมรถรางสายบางกระบือ-ศาลาแดง
นอกจากนี้ ยังมีรถรางสายสั้นๆ คือสายบางกระบือ-สถานีรถไฟบางซื่อ
ย่านบางกระบือจึงมีสถานที่เก็บรถรางและบ้านพักพนักงาน เรียกกันว่าซอยรถราง ในซอยมีศาลาพักคนโดยสาร ร้านขายอาหาร ชาวบ้านเรียกศาลานี้ว่า ศาลานกกระจอก เหตุเพราะผู้คนคุยกันเสียงดังมาก
ข้างๆซอยรถราง (สามเสน 23) มีซอยคานเรือ (สามเสน 21) สมัยก่อนเป็นอู่ต่อเรือและซ่อมเรือของป้าทิม ซึ่งเล่ากันว่าเป็นพี่น้องกับขุนด่ำ เจ้าพ่อเรือโยง มีเรือไฟนับเป็นร้อยๆ แล่นไปทุกสายน้ำ เรือส่วนใหญ่จอดอยู่ทางฝั่งบางพลัด
ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ เห็นว่ารถรางกีดขวางเส้นทางการจราจรของรถประจำทางและรถยนต์ จึงสั่งให้เลิกรถราง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2511
ถึงวันนี้ไม่มีวี่แววของรถราง อู่เรือ เหลืออยู่ให้เห็น เช่นเดียวกับเรื่องเล่าครั้งหนึ่งริมน้ำบางกระบือ เคยมีฝูงนกนางนวลฝูงใหญ่ ทุกอย่างในอดีตนั้นผ่านเลยไป ไม่มีวันหวนคืนมาเหมือนเดิมอีกแล้ว.
O บาราย O