การได้รับโปรตีนมากเกินไปในวัยทารกอาจส่งผลให้เป็นโรคอ้วนในอนาคต - นมวัวนั้นมีประโยชน์ แต่สำหรับทารกควรเลือกชนิดที่มีปริมาณโปรตีนเหมาะสมใกล้เคียงนมแม่.
เราเคยเชื่อกันมานานว่า การบำรุงเลี้ยงดูให้ทารกได้รับสารอาหารมากๆ จะทำให้เด็กทารกมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีพลานามัยและสติปัญญาดี ซึ่งในความเป็นจริงก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น การให้อาหารในช่วงแรกของชีวิตเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดต่อทารก เพราะทารกจะเจริญเติบโตเร็วมากในช่วงนี้ มีความต้องการสารอาหารสูงกว่าผู้ใหญ่เมื่อเทียบปริมาณต่อน้ำหนักตัว โดยสมองเป็นอวัยวะที่โตเร็วที่สุดเมื่อเด็กมีอายุ 2 ปี สมองจะมีพัฒนาการเป็น 80% ของผู้ใหญ่ ดังนั้น การให้อาหารในช่วง 2 ปีแรกของชีวิตจึงสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตของสมอง
แต่ปัจจุบันพบว่า สารอาหารบางอย่างได้รับมากเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดี ของดีมีคุณประโยชน์ หากให้มากเกินความต้องการของร่างกายทารกก็กลับกลายเป็นให้โทษไปเสียนี่ แถมส่งผลเสียระยะยาวไปจนโตเป็นผู้ใหญ่เลยด้วย

เมื่อพูดถึงสารอาหารสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตและการสร้างกล้ามเนื้อ “โปรตีน” เป็นสารอาหารที่เรามักจะนึกถึงเป็นอันดับแรก ผู้ใหญ่อย่างพวกเรานั้นร่างกายจะได้รับโปรตีนจากอาหารหลากหลายชนิด แต่สำหรับลูกน้อยแล้วแหล่งโปรตีนสำคัญนั้นมาจาก “น้ำนม” และแน่นอนว่า น้ำนมที่เหมาะสำหรับพวกเขาที่สุดก็คือ “นมแม่”
...
แต่ก็ไม่ใช่แม่ทุกคนที่จะเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของตนเองได้ตลอดเวลา บางคนอาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพทำให้มีน้ำนมไม่พอ หรือติดขัดในเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้ไม่สามารถให้ลูกดื่มนมจากอกหรือเก็บสำรองน้ำนมไว้ได้เพียงพอ หนทางแก้ไขก็คือต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์นมสำหรับใช้เลี้ยงทารกมาให้ลูกรักดื่มกินทดแทน
ผลิตภัณฑ์นมสำหรับทารกหรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า “นมผง” ปัจจุบันมีอยู่มากมายหลายสูตรหลายยี่ห้อให้เลือกใช้ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่บางทีก็เลือกกันจนตาลาย ไม่รู้ว่าจะเลือกแบบไหนให้ลูกน้อยถึงจะดีที่สุดและที่ เป็นประเด็นน่าสนใจจนคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดย ทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน ต้องรีบเอามาเขียนบอกแฟนๆที่รักก็เพราะว่าเพิ่งจะมีข่าวใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับนมสำหรับเลี้ยงทารกเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง

โดยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 สถาบันโภชนาการเนสท์เล่ ได้เชิญ ศ.ดร.แบร์โธลด์ โคแลทซ์โก คุณหมอจากโรงพยาบาลเด็ก มหาวิทยาลัยลุดวิค-แมคซิมิลเลียนส์ ศูนย์การแพทย์มิวนิก ประเทศเยอรมนี และเป็นประธานสมาคมโรคระบบทางเดินอาหารโรคตับและโภชนาการเด็กของกลุ่มประเทศยุโรปมาให้ความรู้ที่ประเทศไทย โดยได้เผยผลสำรวจภาวะโภชนาการในทารกและเด็กเล็กชาวยุโรปล่าสุด ตั้งแต่วัยทารกถึง 1 ปี กว่า 1,600 คน ภายใต้โครงการ “โรคอ้วนในวัยเด็กชาวยุโรป” (The European Childhood Obesity Project) พบว่า เด็กที่กินนมแม่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนต่ำกว่าเด็กที่กินนมผงถึงร้อยละ 15-25 โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการได้ย้ำเตือนว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องสร้างความเข้าใจเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของทารกและเด็กในช่วง 2 ปีแรกของชีวิต ให้กลับมามีภาวะโภชนาการและพัฒนาการที่สมวัยโดยเร็ว
ศ.ดร.แบร์โธลด์ โคแลทซ์โก จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัย ลุดวิค-แมคซิมิลเลียนส์มิวนิก ผู้ดำเนินโครงการโรคอ้วนในวัยเด็กชาวยุโรปบอกว่า “การได้รับสารอาหารต่างๆในปริมาณที่ถูกต้องและเหมาะสมในช่วงแรกของชีวิต ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึงหลังคลอดจนอายุ 2 ปี จะทำให้ลูกน้อยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงในอนาคตแต่ในทางตรงกันข้าม หากทารกได้รับสารอาหารในปริมาณที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะ “โปรตีน” ถ้าได้รับมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดโรคอ้วนตามมาได้
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอัตราการเกิดโรคอ้วนในเด็กทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบว่า การที่ทารกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ตามลำดับ แต่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยให้ทารกมีน้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินไปและมีโอกาสเป็นโรคอ้วนน้อยกว่าทารกที่เลี้ยงด้วยนมผง
ในประเด็นนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้มีการจัดทำโครงการโรคอ้วนในวัยเด็กชาวยุโรป เพื่อศึกษาถึงความเกี่ยวข้องระหว่างน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของทารก อันเนื่องมาจากการได้รับโปรตีนในนมผงสำหรับทารกและเด็กเล็กที่มีปริมาณโปรตีนสูงกว่าในนมแม่ หรือนมที่มีการปรับลดปริมาณโปรตีนลงให้ใกล้เคียงกับนมแม่ เปรียบเทียบกับทารกที่ได้รับนมแม่ ว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนและโรคเรื้อรังอันเนื่องจากโรคอ้วนอื่นๆ ตามมาเมื่อโตขึ้นอย่างไร

...
และจากผลการวิจัยกลุ่มตัวอย่างในทารกในยุโรปจำนวน 3 กลุ่ม ที่กินนมต่อเนื่องนาน 1 ปี ได้แก่ ทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว ทารกที่ได้รับนมที่มีปริมาณโปรตีนสูงกว่าที่มีอยู่ในนมแม่ และทารกที่ได้รับนมที่มีการปรับปริมาณโปรตีนต่ำลงให้ใกล้เคียงกับนมแม่แต่ให้พลังงานเท่ากัน พบว่าเมื่ออายุ 6 ปี เด็กทั้ง 3 กลุ่ม มีภาวะการเจริญเติบโตด้านความสูงไม่ต่างกัน แต่เด็กกลุ่มที่ได้รับโปรตีนในปริมาณสูงจะมีน้ำหนักตัว (น้ำหนักตัวต่อความยาวของตัว) และดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) สูงกว่าเด็กกลุ่มที่ได้รับปริมาณโปรตีนต่ำกว่า และเด็กกลุ่มที่ได้รับนมแม่อย่างเห็นได้ชัด”
ศ.ดร.โคแลทซ์โกกล่าวสรุปไว้ว่า “การได้รับโปรตีนในปริมาณที่สูงเกินความต้องการของทารกจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบเผาผลาญ ทำให้ร่างกายมีการหลั่งอินซูลินเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดการสะสมไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้น และเกิดผลกระทบที่รุนแรงในระยะยาวต่อร่างกาย นำไปสู่โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต ขณะที่เด็กซึ่งกินนมแม่ หรือกินนมผงที่มีการปรับลดโปรตีนลง แต่มีคุณภาพโปรตีนสูงใกล้เคียงนมแม่ จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าในการมีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน เมื่ออายุ 6 ปี”
หันมาดูทางฝั่งคุณหมอชาวไทยกันบ้าง รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทยก็ได้บอกไว้ว่า “ปัจจุบันโรคอ้วนในเด็กกลายเป็นปัญหาที่ไม่อาจมองข้าม เพราะนอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการมีพัฒนาการที่สมวัยแล้ว เมื่อเป็นแล้วก็จะมีความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงอื่นๆตามมา เห็นได้จากอัตราการเพิ่มขึ้นของเด็กที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐานที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่า ร้อยละ 10-20 ของทารกอ้วนจะมีโอกาสโตขึ้นเป็นเด็กอ้วน ร้อยละ 40 ของเด็กอ้วนจะมีโอกาสโตขึ้นเป็นวัยรุ่นอ้วน และร้อยละ 80 ของวัยรุ่นอ้วนจะมีโอกาสอ้วนต่อเนื่องไปจนเป็นผู้ใหญ่ สุดท้ายผู้ใหญ่อ้วนที่เป็นผู้หญิงก็จะให้กำเนิดลูกน้อยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนต่อไป วนเวียนอยู่เช่นนี้ จะเห็นได้ว่า โรคอ้วนในเด็กมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแนวโน้มของการเกิดโรคก็จะเป็นในเด็กที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ และเด็กที่อ้วนก็จะมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่”
...
คุณหมอสังคมยังได้ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า “การป้องกันโรคอ้วนสามารถทำได้ตั้งแต่วัยทารก โดยการให้ลูกน้อยดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน และให้ต่อไปนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะในนมแม่มีสารอาหารที่ร่างกายลูกน้อยต้องการครบถ้วน เพียงพอ และเหมาะสม โดยเฉพาะ “โปรตีน” ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย ซ่อมแซมเซลล์หรือเนื้อเยื่อ และมีผลต่อการเจริญเติบโต

แต่หากแม่มีความจำเป็นที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้จริงๆ การเลือกใช้นมที่มีโปรตีนคุณภาพสูง ในปริมาณที่เหมาะสมใกล้เคียง
กับนมแม่เลี้ยงลูก ก็จะช่วยกระตุ้นระบบการเผาผลาญของร่างกาย ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอ้วน และโรคร้ายแรงเรื้อรังอื่นๆได้ และคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการให้นมวัวที่ไม่ผ่านการดัด แปลงแก่ลูกน้อยในช่วงขวบปีแรก เพราะในนมวัวมีโปรตีนสูงกว่านมแม่ถึง 3 เท่า การให้ทารกดื่มนมวัวจะทำให้ทารกนั้นได้รับปริมาณโปรตีนมากเกินไป ไตทำงานหนัก มีโอกาสเป็นโรคอ้วนและแพ้โปรตีนนมวัวมากขึ้น”
สรุปก็คือ “นมแม่” ดีที่สุดสำหรับเจ้าหนูตัวน้อย ทีมงานต่วย’ตูนขอให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านได้โปรดตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และขอเสริมข้อมูลสะกิดใจกันอีกสักหน่อย เพราะมีผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า เด็กที่กินนมแม่จะมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่กินแต่นมผง โดยไอคิวของเด็กใน 2 กลุ่มนี้จะห่างกันประมาณ 2-3 แต้ม และยังมีการศึกษาในตัวอย่างจากทั่วโลกพบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นวิธีที่สามารถลดอุบัติการณ์ของการเป็นโรคอ้วนได้ถึง 24% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงเลยล่ะ เราจึงควรเลี้ยงลูกน้อยสุดที่รักด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือน แต่หากแม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้จริงๆ หรือต้องให้นมผงในบางโอกาส ก็ขอแนะนำว่า ควรปรึกษาแพทย์ถึงการเลือกนมที่เหมาะสม โดยพิจารณาเลือกนมผงสูตรโปรตีนต่ำที่มีปริมาณโปรตีนและคุณภาพของโปรตีนใกล้เคียงกับนมแม่ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันการเป็นโรคอ้วนได้
...
อย่างไรก็ตาม การให้อาหารในช่วงคุณแม่ตั้งท้องบวกหลังคลอดอีก 2 ปี หรือที่เรียกกันว่าช่วง 1,000 วันแรกของลูกน้อยถือเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด เหมือนกับเป็นการโปรแกรมสุขภาพของเด็กคนนั้นในระยะยาวว่าจะมีสุขภาพอย่างไรเมื่อเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เพราะการพัฒนาของร่างกาย การทำงานของระบบต่างๆ รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆในอนาคต ส่วนสำคัญก็มาจากการให้อาหารในช่วง 1,000 วันแรกของทารกนี่แหละ
อนาคตของไทยในวันข้างหน้า อยู่ที่เด็กทารกตัวจ้อยในวันนี้ ถ้าพวกเขามีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง สติปัญญาเฉลียวฉลาด โลกเราจะพัฒนาไปได้อีกไกลอย่างแน่นอน.
โดย :รายทาง
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน