วันนี้วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 เป็น “วันวิสาขบูชา” วันที่ องค์การสหประชาชาติ ยกย่องให้เป็น วันสำคัญสากลของโลก เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดา คือ การประสูติ การตรัสรู้ และ การปรินิพพาน สามเหตุการณ์นี้ถือเป็น “ไตรลักษณ์” หรือ ความเป็นธรรมดาของโลก 3 ประการ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สรรพสิ่งในโลกล้วนตกอยู่ในสภาพ 3 ประการนี้ ไม่เว้นแม้แต่ พระพุทธเจ้า ก็หนีไม่พ้นกฎแห่งไตรลักษณ์นี้เช่นเดียวกัน
อนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน สรรพสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงแปรผันไปได้เรื่อยๆ ทุกขัง ความทุกข์ที่เกิดจากการบีบคั้นปรุงแต่งที่สกัดกั้นความสุข อนัตตา ความว่างเปล่า ความไม่มีตัวตน แม้แต่ชีวิตเรา ก็ไม่ใช่ของเรา ทุกสิ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป พาสปอร์ต ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นพาสปอร์ตสีอะไรก็ตาม
วันมหามงคลนี้ ผมขอชวนท่านผู้อ่านร่วม “ปฏิบัติธรรมในวันวิสาขบูชา” กันดีกว่าครับ หลักธรรมสำคัญที่พึงปฏิบัติในวันวิสาขบูชามีอยู่ 3 ประการ โดยเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน วันวิสาขบูชา คือ การประสูติ ตรัสรู้ และ ปรินิพพาน ของ พระพุทธเจ้า
หลักธรรมแรก ที่พึงปฏิบัติคือ ความกตัญญู ดั่งที่ พระพุทธองค์ ทรงแสดงความกตัญญูต่อพระบิดามารดา หลังจากที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปโปรดพระมารดาถึงสวรรค์ และเสด็จไปโปรดพระบิดาที่ประชวรหนัก จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์และนิพพานในพระราชวังวันนั้นเอง
ความกตัญญูในพุทธศาสนามีอยู่ 5 อย่างคือ
1.กตัญญูต่อบุคคล คือ กตัญญูรู้คุณ พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ ด้วยการติดตามระลึกถึงเสมอ และพยายามหาโอกาสตอบแทนพระคุณท่าน คนเราเกิดมาต้องเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ เป็น “พลเมืองดี” ของชาติบ้านเมือง และเป็น พุทธมามกะ ให้สมชื่อ
...
2.กตัญญูต่อสัตว์ที่มีคุณต่อเรา เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ที่ใช้งาน ต้องใช้ด้วยความกรุณาปรานี ไม่เฆี่ยนตีมันจนมากเกินไป 3.กตัญญูต่อสิ่งของที่มีคุณต่อเรา เช่น หนังสือธรรมะ สถานศึกษา วัด ต้นไม้ ป่าไม้ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการหาเลี้ยงชีพ
4.กตัญญูต่อบุญ คนเราเกิดมามีอายุยืนยาว สุขภาพแข็งแรง ผิวพรรณดี มีสติปัญญา มีความสุขความเจริญ มีทรัพย์สมบัติ ก็เพราะ “ผลของบุญ” จะไปสวรรค์หรือไปนิพพาน ก็ด้วยผลของบุญ ทั้งบุญเก่าบุญใหม่ จึงควรระลึกถึงบุญเก่า และไม่ประมาทในการสร้างบุญใหม่
5.กตัญญูต่อตนเอง รู้จักทะนุถนอมดูแลร่างกายของเราให้มีสุขภาพดี ไม่ทำลายด้วยการกินเหล้าและสิ่งเสพติด เพราะร่างกายของเราเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำมาหากิน สร้างความสุขความเจริญให้แก่ตนเอง เป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำความดีและบุญกุศลต่างๆ
หลักธรรมที่สอง ที่พึงปฏิบัติคือ “อริยสัจ 4” ที่ พระพุทธเจ้า ทรง ตรัสรู้ ในวันนี้ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่ผมเขียนถึงบ่อยๆในคอลัมน์นี้ วันนี้ขอเป็นแบบย่อนะครับ
ทุกข์ คือ ความทุกข์ที่เกิดจากการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากสิ่งที่รัก ไม่สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 ประการ คือ กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ภาวตัณหา ความอยากได้โน่นได้นี่ วิภวตัณหา ความไม่อยากได้โน่นได้นี่ นิโรธ หนทางแห่งการดับทุกข์หรือปัญหา มรรค แนวทางการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์
หลักธรรมที่สาม ที่พึงปฏิบัติคือ ความไม่ประมาท ที่ พระพุทธองค์ ทรงสอนให้ ต้องมีสติอยู่เสมอ ไม่ว่า จะพูด จะคิด จะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน ต้องฝึกให้เกิดสติ ให้ระลึกรู้ทันความคิด การพูด การเดิน การยืน การนั่ง การนอน ทุกอย่างต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะการประมาทคือทางแห่งความตาย
ก็เป็นหลักธรรมง่ายๆที่ชาวพุทธทุกคนสามารถปฏิบัติได้ จะมากน้อยไม่สำคัญ ปฏิบัติเมื่อไหร่ก็เกิดผลบุญเมื่อนั้น บุญเป็นสิ่งที่ทำแทนกันไม่ได้ ต้องทำด้วยตัวเองจึงจะได้บุญ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”