(ภาพ: REUTERS)
นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ เดินสายเยือน 4 ประเทศเพื่อนสมาชิกสภาพยุโรป (อียู) คือเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส โปแลนด์และเยอรมนี ช่วงวันที่ 28-29 พ.ค. เพื่อเปิดเจรจาปรับความสัมพันธ์และผลักดันให้มีการปฏิรูปอียูก่อนอังกฤษทำประชามติว่าจะเป็นสมาชิกอียูต่อไปหรือไม่ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีขึ้นภายในปี 2560 หลังคาเมรอนนำพรรคอนุรักษนิยมชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลอีกวาระซึ่งประชามติอียูเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงหลักด้วย
สำหรับข้อเรียกร้องปฏิรูปอียู นายคาเมรอน ไม่ได้ระบุรายละเอียดชัดเจนแต่จะรวมทั้งระเบียบที่ห้ามผู้ลี้ภัยยื่นขอสวัสดิการสังคมในอังกฤษและต้องการยกเว้นอังกฤษไม่ให้ต้องเข้าร่วมกลุ่มสมาชิกอียูที่แนบแน่นใกล้ชิดมากขึ้นด้วย แต่ก็มีสัญญาณบ่งชี้ว่ามีอุปสรรครอเผชิญคาเมรอนอยู่แล้ว เมื่อนายโลรองต์ ฟาบิอุส รมว.ต่างประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า ประชามติของอังกฤษถือว่าสุ่มเสี่ยงและอันตรายอย่าง มาก และว่าฝรั่งเศสเปิดกว้างเพื่อปรับแนวทางการ ดำเนินงานหรือบริหารงานของอียู แต่ต้องไม่ใช่เรื่องที่จะสร้างสถานภาพพิเศษจำเพาะ หรือการให้สิทธิ์ประโยชน์โดยไม่จำกัดต่ออังกฤษ
ก่อนหน้านี้ ผู้นำอียูหลายคนแสดงท่าทีจะอะลุ้มอล่วยกับอังกฤษ แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะตอบสนองข้อเรียกร้องปฏิรูปของนายคาเมรอนมากน้อยแค่ไหนอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องสิทธิพลเมืองอียูที่จะอยู่อาศัยและทำงานที่ไหนก็ได้ในกลุ่มอียู แต่ก็มีผู้นำอียูอีกหลายคนเตือนคาเมรอนว่าการเดินทางเข้า-ออกโดยเสรีภายในประเทศสมาชิกอียู เป็นเรื่องที่เจรจาใหม่หรือจะมาปรับแก้ไม่ได้
ขณะที่สภาผู้แทนฯ ของอังกฤษเริ่มเปิดอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติดังกล่าวแล้ว โดยมีการวางกรอบลงมติตัดสินในวันที่ 9 มิ.ย. ด้านแหล่งข่าวในบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง สตรีท ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในกรุงลอนดอนที่ไม่เปิดเผยชื่อ เผยว่า พ.ร.บ.ประชามติอียูจะตั้งคำถามชัดเจน ให้ผู้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนตัดสินใจว่าจะอยู่หรือจะออกจากอียู ทั้งนี้ นายคาเมรอนกล่าวก่อนหน้านี้ว่า หวังว่า พ.ร.บ.ประชามติอียูจะผ่านสภาฯในระยะเวลารวดเร็วเป็นพิเศษ
...
ส่วนนายฟิลิป แฮมมอนด์ รมว.ต่างประเทศอังกฤษ เผยว่า อังกฤษจำเป็นต้องให้อียูเห็นชอบเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาก่อตั้งอียู อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของอังกฤษที่กำลังเปิดเจรจาสถานภาพใหม่ของอังกฤษกับอียู ซึ่งเป็นข้อแนะนำทางกฎหมายที่อังกฤษได้รับหากต้องการให้ข้อเรียกร้องปฏิรูปอียูของคาเมรอนสำเร็จผล.