เมื่อ 2 วันก่อน รองเลขาธิการสภาพัฒน์ คุณชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ ออกมาแถลงถึงสถานการณ์การมีงานทำ หรือการจ้างงานในไตรมาสแรกของปี 2558 มีประเด็นที่น่าสนใจหลายๆประเด็น ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อในวันนี้สัก 2-3 ประเด็นนะครับ
ท่านรองเลขาธิการฯกล่าวว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ มีผู้มีงานทำ 37.6 ล้านคน ลดลง 0.5 เปอร์เซ็นต์ จากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ซึ่งมีผู้มีงานทำ 37.8 ล้านคน หรือลดลงไป 200,000 คน
โดยภาคเกษตรจะลดมากหน่อย คือลดถึง 4.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภาคนอกเกษตรกลับมีการจ้างงานดีขึ้น 1.3 เปอร์เซ็นต์ ตามการฟื้นตัวของภาคการผลิต การก่อสร้าง การโรงแรม และภัตตาคาร ฯลฯ ทำให้อัตราการว่างงานโดยรวมอยู่ที่ 0.94 เปอร์เซ็นต์
ถ้าดูเฉพาะตัวเลขรวมๆอย่างนี้ ก็คงไม่น่าห่วงเท่าไรนัก เพราะอัตราการว่างงานยังไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าต่ำมาก และยิ่งบอกว่าตกงานแค่ 200,000 คนทั่วประเทศ ก็ต้องถือว่าน้อยมากเช่นกัน
แต่สภาพัฒน์เขาชวนให้มองลึกไปอีกหน่อย โดยบอกว่าปี 2558 ภัยแล้งมาเร็วกว่าปกติ ทำให้มีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งกว่าร้อยละ 16 ของหมู่บ้านทั้งหมดทั่วประเทศ ทำให้การจ้างงานและรายได้ของเกษตรกรในหมู่บ้านดังกล่าวลดลง
ท่านรองเลขาธิการฯระบุว่า ปกติค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว เฉลี่ยรายละ 5,700 บาทต่อเดือนเท่านั้น ต่ำกว่าภาคนอกเกษตรที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 12,500 บาท ถึง 1 เท่าตัว
เมื่อเกิดการว่างงานในภาคเกษตรมากขึ้นในปีนี้ ประกอบกับผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรลดลง จะยิ่งซ้ำเติมปัญหารายได้ครัวเรือนเกษตรและลูกจ้างเกษตร (ซึ่งต่ำอยู่แล้ว) อย่างแน่นอน
ส่วนในภาคนอกเกษตรที่ดูเหมือนการจ้างงานจะดีขึ้นนั้น ก็พอจะมีปัญหาอยู่บ้าง เพียงแต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไรนัก เพราะจากถ้อยแถลงของท่านรองฯสรุปได้ว่า ผู้ประกอบการเริ่มลดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้างลงไปบ้าง โดยเฉพาะการทำงานล่วงเวลา
...
ทำให้เป็นห่วงว่าจะมีผลกระทบไปถึงรายได้ของแรงงานที่อาศัยการทำงานล่วงเวลาเป็นรายได้เสริม เพื่อดำรงชีวิตและชำระหนี้สินบ้างไม่มากก็น้อย
จากถ้อยแถลงทั้งหมดข้างต้นนี้ และด้วยตัวเลขเพียงเท่านี้ (ถ้าการสำรวจหรือการประเมินของสภาพัฒน์ถูกต้อง) ก็ดูจะไม่มีปัญหาอะไรมาก
ยกเว้นในภาคเกษตรที่ควรจะต้องคิดตามดูแลให้ความเอาใจใส่ในเรื่องรายได้ที่อาจจะตกต่ำลงไปอีก ซึ่งเข้าใจว่าทางสภาพัฒน์คงจะมีข้อเสนอแนะให้แก่รัฐบาลอยู่แล้ว
ประเด็นที่น่าสนใจที่สุด และเป็นการยืนยันความน่าห่วงประเทศไทยในอนาคตอย่างยิ่ง น่าจะอยู่ที่ตัวเลขว่าด้วยการว่างงานของผู้จบการศึกษาด้านปริญญาตรีเสียมากกว่า
เพราะปีนี้จะมีผู้จบการศึกษาระดับต่างๆเข้าสู่ตลาดแรงงานถึง 637,610 คน และในปีที่ผ่านมา พบว่าผู้จบปริญญาตรีว่างงานมากที่สุด เมื่อเทียบกับผู้จบระดับอาชีวศึกษา หรือมัธยมศึกษา
โดยเฉพาะปริญญาตรี สายสังคมศาสตร์ จะตกงานหรือต้องไปวิจัยฝุ่นมากกว่าสายอื่นๆ มากที่สุดก็คือ วารสารศาสตร์ และสารสนเทศ ตามมาด้วยศิลปกรรมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ซึ่งผลิตเกินกว่าที่ต้องการ
ความจริงเราก็รู้กันมานานและเตือนกันมากว่า 20 ปีแล้วครับว่า ปริญญาตรีด้านสังคมศาสตร์จะหางานยาก แต่เนื่องจากสามารถเปิดสอนได้ง่ายกว่าไม่ต้องใช้เครื่องมือ หรือห้องทดลองอะไรมาก จึงเปิดกันขึ้นทั่วประเทศรวดเร็วกว่าสาขาอื่นๆ โดยไม่คำนึงว่าจะหางานได้หรือไม่
ในขณะที่สาขาที่ประเทศชาติต้องการ และต้องการมานานแล้ว แม้ทุกวันนี้ก็ยังต้องการอยู่มากคือ วิศวกร ช่างเทคนิคด้านไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์การก่อสร้าง การสำรวจ กลับไม่ค่อยมีการเปิดสอน
อนาคตผมก็เดาว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก และบัณฑิตทางด้านสังคมฯที่จะตกงานก็คงเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ
เผลอๆอาจไม่ใช่คนจบปริญญาตรีเท่านั้นที่ตกงาน จนต้องไปประกอบอาชีพอื่นๆ...ในอนาคตคนตกงานในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก อาจจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาๆสำหรับประเทศไทย
ที่เคยมีป้ายโฆษณาติดไว้หน้าร้านว่า ร้านข้าวแกงปริญญาตรี หรือไก่ตอนปริญญาโทอยู่ในยุคนี้...ต่อไปเราอาจได้เห็นร้านข้าวขาหมูปริญญาเอกกันบ้างละครับ.
“ซูม”