รัฐบาล คสช.จัดมหกรรมคืนความสุขให้ ประชาชนไปแล้วหลายขบวน
ต้องทุ่มงบอัดฉีดไปแล้วก้อนโตมโหฬาร
บัดนี้...ได้เวลาอันสมควรที่รัฐบาลจะ “ขอคืนความสุข” จากพี่น้องประชาชนที่มีฐานะร่ำรวยเป็นการตอบแทน
“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่า สภานิติ บัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก และการรับมรดกฯ คลอดออกมาเป็นกฎหมายแล้วอย่างสมบูรณ์
และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วันจากนี้ไป
สาระสำคัญของ ก.ม.ฉบับนี้ กำหนดให้คนไทยทุกคนที่จะรับโอนทรัพย์สินมรดกมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ต้องจ่ายภาษีมรดกเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป ในอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์
เช่น...รับโอนทรัพย์สินมูลค่า 200 ล้านบาท
ผู้รับมรดกจะต้องจ่ายภาษีมรดก 10 ล้านบาทขาดตัว
ยกเว้น...ถ้าพ่อโอนมรดกให้ลูก หรือผัวโอนมรดกให้เมีย หรือบุตรโอนให้บุพการี มีสิทธิรับโปรโมชั่นจ่ายภาษีมรดกอัตราพิเศษ 5 เปอร์เซ็นต์
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าเหตุผลที่รัฐบาลตัดสินใจออกกฎหมายพิเศษเก็บภาษีมรดกจากคนรวย เนื่องจากผู้ที่ร่ำรวยเป็นผู้ได้ประโยชน์ จากทรัพยากรของประเทศมากกว่าผู้ที่มีฐานะยากจน
ภาษีมรดกที่รัฐบาลเก็บจากผู้มีฐานะมั่นคง เพื่อนำไปใช้ดูแลเพื่อนร่วมชาติที่มีฐานะไม่มั่นคง จะช่วยลดช่องว่าง ลดช่วงชั้น ลดความเหลื่อมลํ้าในสังคม
เหนือสิ่งอื่นใด การเก็บภาษีมรดกคือเครื่องมือหารายได้ใหม่ๆของรัฐบาลนั่นเอง
“แม่ลูกจันทร์” ยํ้าว่าทรัพย์สมบัติที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมรดกกฎหมายกำหนดไว้ 4 ประเภทดังนี้คือ
1, อสังหาริมทรัพย์ บ้านตึกแถวที่ดิน ฯลฯ
2, หลักทรัพย์หรือใบหุ้น
3, เงินฝากในสถาบันการเงิน
4, ยานพาหนะที่ต้องมีทะเบียนครอบครอง
...
หมายเหตุ มรดกที่เป็น “เงินสด” เกินกว่า 20 ล้านบาทขึ้นไป ผู้รับมรดกจะต้องจ่ายภาษีเงินได้เพิ่มอีก 5 เปอร์เซ็นต์
แต่ถ้ามองอีกมุม...ภาษีมรดกคือการเก็บภาษีซ้ำเก็บภาษีซ้อนจากคนรวยกลุ่มเดียว
เนื่องจากผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือผู้ที่เป็นเจ้าของมรดก ได้จ่ายภาษีเงินได้ จ่ายภาษีการค้า จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ ให้รัฐแล้วครบทุกบาททุกสตางค์
ฉะนั้น เมื่อโดนเก็บภาษีมรดกซ้ำอีกครั้ง ย่อมเท่ากับต้องจ่ายภาษีซ้ำ 2 เด้งซ้อนจากรายได้ก้อนเดิม
อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่าการรีดภาษีมรดกแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องชิวๆ
เรื่องจิ๊บๆแค่นี้ไม่ทำให้เศรษฐีขนหน้าแข้งร่วงแต่อย่างใด
“แม่ลูกจันทร์” เชื่อว่าถึงขนหน้าแข้งไม่ร่วง แต่ขนตรงอื่นต้องร่วงแน่นอน!!
ยิ่งมูลค่าทรัพย์สินมากก็ต้องจ่ายภาษีมากเป็นเงาตามตัว
สมมติว่า “นายก.” มีทรัพย์สมบัติมูลค่า 1,000 ล้านบาท จะโอนมรดกให้ “นาย ข.” ซึ่งเป็นลูกตัวเอง
“นาย ข.” ต้องจ่ายภาษีมรดก 5 เปอร์เซ็นต์ จากส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท คือ 900 ล้านบาท คิดเป็นเงิน 45 ล้านบาทขาดตัว
ถ้าทรัพย์สินมรดกไม่ใช่เงินสด “นาย ข.” ต้องวิ่งตีนขวิดหาเงินสด 45 ล้านบาทไปจ่ายภาษีมรดก ภายใน 150 วัน
ถ้าภายในเวลา 150 วัน “นาย ข.” ยังไม่มีปัญญาหาเงินไปจ่ายภาษีตามกติกา
“นาย ข.” ต้องโดนรีด (ค่าปรับ) เพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
ปั่ดโธ่ สนุกซะเมื่อไหร่ล่ะคุณ.
"แม่ลูกจันทร์"