ตร.อินโดนีเซียจับกุม 5 คนไทย และชาวอินโดฯ อีก 2 คน เกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์ ใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมอาหารทะเล มีสิทธิโดนจำคุกนานถึง 15 ปี และปรับเงิน 1.5 ล้าน ขณะที่มาเลย์ผลักดันเรือ 2 ลำ บรรทุกผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา กว่า 800 คนพ้นน่านน้ำ
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 58 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานอ้างการเปิดเผยของ พ.ต.ท.เอรี ธาร์แมนโต หัวหน้าหน่วยปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย ว่า ทางการอินโดนีเซียได้จับกุมคนไทย 5 คน และอินโดนีเซีย 2 คน ในข้อหาเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์ ด้วยการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมอาหารทะเล
พ.ต.ท.ธาร์แมนโต แถลงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจอินโดนีเซียได้ยกกำลังไปยังหมู่บ้านเบนจินา บนเกาะที่อยู่ห่างไกลจากชายฝั่ง พร้อมกับได้เข้าจับกุมคนไทย 5 คน ซึ่งเป็นกัปตันเรือ และคนงานชาวอินโดนีเซียอีก 2 คน ที่รีสอร์ต ปูซัสกา เบนจินา เมื่อวันที่ 4 และ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ต้องหาเหล่านี้ ซึ่งทำงานอยู่กับบริษัทประมงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย ได้ถูกนำตัวไปคุมขังเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป และมีสิทธิเผชิญหน้ากับโทษจำคุก 15 ปี และโดนปรับเงินสูงสุด 46,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,472,000 บาท
...
ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ธาร์แมนโต ยังกล่าวด้วยว่า จำนวนผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์อาจมากกว่านี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการสืบสวนกรณีมีชาวต่างชาติที่เป็นแรงงานประมงหลายพันคน มาจากเมียนมา กัมพูชา ลาว และไทย ว่าพวกเขาเหล่านี้มาทำงานบนเรือประมงในประเทศไทยได้อย่างไร เพราะมีบางคนอาจถูกล่อลวง หรือถูกลักพาตัว และถูกนำมาในน่านน้ำอินโดนีเซีย จึงทำให้ไม่อาจหลบหนีได้ โดยแรงงานทาสเหล่านี้มีทั้งโดนเฆี่ยนตี และทำงานหนักถึงวันละ 24 ชั่วโมง แถมยังได้กินอาหารที่ไม่ดีและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด
สำหรับการเข้าจับกุมในครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากสำนักข่าวเอพีได้รายงานเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับแรงงานทาสในอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่ถูกส่งจากหมู่บ้านเบนจินาไปยังประเทศไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการธุรกิจอาหารทะเลที่ส่งมาขายในห้างค้าปลีกในสหรัฐฯ
ส่วนความคืบหน้าในการปราบปรามกระบวนค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจานั้น เมื่อวันที่ 14 พ.ค. มีรายงานว่า ทางการมาเลเซียได้ผลักดันเรือ 2 ลำ ซึ่งบรรทุกผู้อพยพชาวโรฮีนจา กว่า 800 คน ออกจากน่านน้ำของมาเลเซีย หลังจากอินโดนีเซียและไทยปฏิเสธที่จะรับผู้อพยพชาวมุสลิม โรฮีนจา ซึ่งมีทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก แม้จะได้รับการวิงวอนร้องขอจากข้าหลวงใหญ่ด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ตลอดจนองค์กรช่วยเหลือสากล และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ด้วยความเป็นห่วงชะตากรรมของผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาเหล่านี้