“โคลนที่นี่มีคุณสมบัติพิเศษไม่เหมือนที่อื่น เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่คิดขึ้นมาเอง เอามาหมักผ้าไหม ช่วยให้สีธรรมชาติที่ย้อมผ้าติดทนนาน หลายปี”
นายสฤษดิพร ชูประยูร รองอธิบดีกรมหม่อนไหมพูดถึงความโดดเด่นของผ้าทอผลงานของกลุ่มทอผ้าไหมดั้งเดิมหนองสูง ต.หนองสูงเหนือ อ.
หนองสูง จ.มุกดาหาร อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร...ส่วนเหตุผล ทำไมโคลนจากหนองน้ำที่นี่ถึงมีคุณสมบัติช่วยให้สีติดทนนาน มาจากมีสารตัวใดมากเป็นพิเศษ เป็นเรื่องที่กรมหม่อนไหมและจังหวัดมุกดาหาร จะต้องทำการศึกษาเพื่อเป็นข้อมูลในการยื่นคำขอจดทะเบียนต่อ FAO หรือองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ...ให้ผ้าไหมของบ้านหนองสูง เป็นมรดกทางการเกษตรโลก
นรินทิพย์ สิงหะตา ประธานกลุ่มทอผ้าไหมดั้งเดิมหนองสูงเล่าถึงที่มาการทอผ้าไหมหมักโคลนว่า ชาวบ้านที่นี่แต่ละครอบครัวล้วนมีอาชีพทอผ้าเป็นหลักมาหลายชั่วอายุคน เพราะมีท่ีดินทำกินน้อย มีนาแค่ได้ปลูกข้าวไว้กินในครอบครัวเท่านั้น เมื่อมีเวลาจึงใช้พื้นที่ใต้ถุนบ้านทอผ้าขาย
“เมื่อก่อนกว่าจะขายได้สักผืน ต้องไปไหว้วาน ครู ข้าราชการให้ช่วยซื้อ ผ้าซิ่นผ้าไหมผืนละ 300 บาท ขายถูกขนาดนี้ ยังขายไม่ได้เลย เพราะสีธรรมชาติที่เราย้อมไปนั้น ซักแค่ 2-3 ที สีก็ซีดจางหมดแล้ว อย่าว่าแต่คนอื่นไม่อยากใช้ เราคนทอผ้าเองก็ไม่อยากใส่”
...
ครั้นจะย้อมสีผ้าด้วยเคมี นรินทิพย์ บอกว่า ทำไปยังไงขายสู้ผู้ผลิตผ้าไหมเจ้าใหญ่ๆไม่ได้ เลยจำต้องหาวิธีทำยังไงให้ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติติดทนนาน
“ลองมาหลายวิธี สุดท้ายมาลงตัวกับโคลนในหนองแถวๆบ้านนี่แหละ เพราะจำได้ว่าตอนเป็นเด็กคนแถวบ้านมักจะถือแหออกไปหาปลาตามหนองน้ำ แต่แหที่ซื้อมาใหม่ๆ หรือถักเสร็จใหม่ๆ เอาไปเหวี่ยงจับปลาเลยไม่ได้ เพราะเส้นแหสีขาวปลาจะเห็นชัด ชาวบ้านจึงเอาแหไปแช่ในเลือดหมู เลือดวัว ให้สีแหกลืนกับสีน้ำขุ่น ที่บ้านก็ทำแบบนี้เหมือนกัน แต่ไม่ได้แช่เลือด เอาแหไปแช่ในน้ำโคลนจากในหนองสูงแทน ใช้จับปลาได้ดีเหมือนกัน แถมสียังคงทนอยู่คู่แหได้นานหลายปี”
ประธานกลุ่มทอผ้าไหมดั้งเดิมหนองสูง จึงคิดเอาน้ำโคลนจากหนองข้างบ้านมาทดลองมาต้มหมักแช่ผ้า...แต่กว่าจะลงตัว ขั้นตอนเป็นอย่างไร ต้องใส่อะไรก่อนหลังแค่ไหน หมักต้มอย่างไร สีที่ย้อมจะติดทน นรินทิพย์ ต้อง ลองผิดลองถูกนานพอสมควร แต่ไม่สามารถแจงรายละเอียดได้ เนื่องจากเป็นความลับทางการค้าของชาวบ้าน
“เมื่อรู้วิธีหมักโคลน ผ้าที่ซัก 2-3 ครั้งแล้วสีซีดกลายเป็นซักได้ไม่รู้กี่ครั้ง กระทั่งผ้าเปื่อยสีก็ไม่มีซีด ยิ่งระยะหลังกระแสรักษ์โลกมาแรง คนไม่ชอบผ้าย้อมสีเคมี หันมาใช้สีธรรมชาติมากขึ้น และตัวเราเองสู้ไม่ถอย ช่องทางไหนที่ขายได้ทำหมดทุกทาง แม้กระทั่งขายทางอินเตอร์เน็ตก็ไปหัดไปฝึกทำมาเหมือนกัน ในที่สุดวันนี้การขายผ่าน FACEBOOK : ป้าวึผ้าหมักโคลน ได้รับการตอบรับดีที่สุด ผ้าทอราคา 300 บาทที่หาคนซื้อไม่ได้ วันนี้ผืนละ 1,300-1,500 บาท ผลิตแทบไม่ทัน”.
ชาติชาย ศิริพัฒน์