สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รัก แหม...พูดไปแล้วก็ชื่นใจนะคะว่า แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์เป็นแฟนตัวจริงแบบขนานแท้ เรียกว่า คุณครูลิลลี่พูดไว้อย่างไร ทุกคนจำได้ตลอด อย่างเมื่อสองสัปดาห์ก่อนพูดถึงเรื่องของละครเวทีที่เปิดการแสดงพร้อมๆ กัน สองเรื่องสองรส คือ มนตร์รักเพลงสวรรค์ หรือ THE SOUND OF MUSIC กับละครแบบไทยๆ โหมโรง ซึ่งตอนนั้นคุณครูลิลลี่ก็บอกว่า ขอพูดถึงละครเรื่องแรกก่อน เล่นเอาหลายคนมีการท้วงมาในโซเชียลว่า แล้วละคร เรื่อง โหมโรง ล่ะคะครู ไม่พูดถึงบ้างเหรอคะ เล่นเอาคุณครูลิลลี่ไปต่อไม่ถูกเลยทีเดียว ได้ค่ะ ขอมาก็จะจัดให้ จริงๆ ละครเรื่องนี้ถึงเวลานี้ก็คงจะลาโรงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็เป็นละครอีกเรื่องที่คุณครูลิลลี่ชื่นชอบ จริงๆ โหมโรงคุณครูลิลลี่ชอบตั้งแต่สมัยเป็นภาพยนตร์เมื่อหลายปีก่อน พอรู้ว่าจะมาทำเป็นละครเวทีก็เรียกว่ารอคอยกันเลย แล้วก็ไม่ผิดหวังละครดี ละเมียดละไม โดยเฉพาะฉากประชันระนาดสุดยอดจริงๆ ค่ะ ไม่แน่นะคะ อาจจะมีการกลับมาเปิดการแสดงอีกรอบก็เป็นได้ ซึ่งถึงวันนั้น ใครที่พลาดไปก็อย่าพลาดรอบสองนะคะ ทีนี้มาถึงเรื่องภาษาไทยของเราดีกว่า มีสำนวนหนึ่งในละครเรื่องนี้ ที่ตัวละครพูดกันว่า ผู้ชายพายเรือ ผู้หญิงยิงเรือ เล่นเอาน้องสาวคุณครูที่ไปดูด้วย อยู่ดีๆ ก็นึกครึ้มอกครึ้มใจ ถามคุณครูว่า คุณครูขา สำนวนนี้มีที่มาอย่างไร เกี่ยวกับการยิงจริงๆ หรือไม่ ว่าแล้วก็ได้เอาเรื่องนี้มาเขียนชี้แจงแถลงไขในไทยรัฐออนไลน์เสียเลยค่ะ
ผู้ชายพายเรือ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า เป็นสำนวน หมายถึง ผู้ชายทั่วไป เช่น ผู้ชายพายเรืออยู่เต็มไป จากวรรณคดี เรื่อง ขุนช้างขุนแผน บางครั้งใช้ว่า ผู้ชายรายเรือ ก็มี ส่วนอีกสำนวนที่คู่กัน คือ ผู้หญิงยิงเรือ อันนี้เก็บไว้ร่วมกับคำว่า ผู้หญิงริงเรือ เป็นสำนวนแปลว่า ผู้หญิงทั่วไป เช่น ในวรรณคดี เรื่อง พระอภัยมณี ที่ว่า
...
"เห็นผู้หญิงริงเรือที่เนื้อเหลือง อย่ายักเยื้องเกี้ยวพานะหลานขวัญ
ล้วนนางในไม่ชั่วตัวสำคัญ จะเสียสันเสียเปล่าไม่เข้าการ"
ทีนี้มาดูกันแบบเจาะลึกอีกสักนิดนะคะ สำนวนผู้ชายพายเรือนี้ ท่านขุนวิจิตรมาตรา ได้อธิบายไว้ว่า แต่ก่อนคงใช้กันว่า "ผู้ชายรายเหรื่อ" ซึ่งคำว่า "เหรื่อ" คำนี้ก็เป็นคำเดียวกับคำว่า แขกเหรื่อที่ยังมีใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง คำว่า แขกเหรื่อ แปลว่า คนแปลกหน้า ผู้ชายรายเหรื่อ จึงหมายถึง ผู้ชายแปลกหน้า เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่สอนว่า อย่าไปไว้ใจผู้ชายพายเรือ จึงไม่ได้หมายความว่าผู้ชายที่พายเรือมา หรือมาทางน้ำคบไม่ได้ แต่หมายถึงผู้ชายแปลกหน้านะคะ จำไว้เลย
ส่วนคำว่า ผู้หญิงยิงเรือ เท่าที่ได้ไปค้นคว้าข้อมูลมาให้นะคะ ว่ากันว่า ในอดีตเราไม่ได้พูดว่า "ผู้หญิงยิงเรือ" กันหรอกนะคะ แต่เราพูดว่า "ผู้หญิงริงเรือ" ดังนั้น สำนวนที่ว่าผู้หญิงยิงเรือ จึงไม่เกี่ยวกับปืนผาหน้าไม้ หรือการยกปืนขึ้นมาจ่อยิงแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ได้หมายความถึง ผู้หญิงคอยดักยิงเรือของผู้ชายอย่างแน่นอน เท่าที่คุณครูลิลลี่ได้ไปสืบค้นมา ก็พบว่าสำนวนนี้เป็นการเพี้ยนเสียงของคำว่า "ริง" มาเป็น "ยิง" ในปัจจุบันนั่นเองค่ะ เอาแล้วสิ ยิ่งทำให้งงกันไปใหญ่ว่าแล้ว ริงเรือ หมายความว่าอย่างไร อย่าเพิ่งสับสน อย่าเพิ่งงงค่ะ คุณครูลิลลี่จะอธิบายต่อ เรื่องยาวนิดหนึ่งนะคะ เขาว่ากันว่า การที่หญิงชายแต่งงานกัน หรือตกลงใช้ชีวิตร่วมกัน ก็เหมือนกับการลงเรือลำเดียวกัน สังเกตนะคะว่าเราใช้คำว่าเรืออีกแล้ว และเมื่อลงเรือลำเดียวกัน ทั้งหญิงและชายต่างก็ต้องมีหน้าที่ที่จะนำเรือชีวิตหรือเรือรักลำนี้ไปให้ถึงฝั่ง ผู้ชายซึ่งในสังคมโบราณถือว่าเป็น "ช้างเท้าหน้า" จึงต้องทำหน้าที่ "พายเรือ" ส่วนผู้หญิง ซึ่งแต่โบราณก็ได้รับการสั่งสอนให้เป็นกุลสตรี เป็นแม่บ้านแม่เรือน ก็ย่อมต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาบ้านช่องให้ทุกคนในบ้านมีความสุข เมื่ออยู่ในเรือก็เช่นกัน ก็ต้องดูแลเรือลำนี้ให้ดีที่สุด และด้วยหน้าที่ดูแลเรือนี้เอง จึงเป็นที่มาของคำว่า ริงเรือ เนื่องจากในอดีต มีคำศัพท์ว่า "หลิง" ซึ่งแปลว่า ดู หรือ เล็ง (อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เขาถ่ายทอดบอกเล่ากันมานะคะ หาหลักฐานมายืนยันเป็นทางการก็ยังไม่ได้ แต่เป็นภาษาโบราณที่คุณครูลิลลี่ก็ไปค้นมาอีกที ใครมีข้อมูลดีๆ เอามาแลกเปลี่ยนกันได้นะคะ) ด้วยเหตุนี้จึงสันนิษฐานว่า ผู้หญิงริงเรือ เพี้ยนมาจาก ผู้หญิงหลิงเรือ นั่งเองค่ะ
เอาล่ะค่ะ ไทยรัฐออนไลน์ ครั้งนี้ ร่ายยาวเกินเวลา เกินเนื้อที่มาเยอะแล้ว พบกันใหม่ครั้งหน้านะคะ สวัสดีค่ะ