หนังสือ โลกพิสดาร แดนพิศวง (รีดเดอร์ส ไดเจสท์ ประเทศไทย 2540) หัวข้อเรื่องหิมาลัย หลังคาของโลก เล่าว่า เมื่อมหาทวีปแพนเกียของโลกดึกดำบรรพ์ แยกตัวออก เมื่อราว 250 ล้านปีที่แล้ว แผ่นเปลือกโลกอินโด–ออสเตรเลีย เริ่มเคลื่อนตัวไปทางเหนือ

ต่อมา ราว 45 ล้านปีก่อน แผ่นเปลือกโลกนี้ กระแทกกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ซึ่งใหญ่และหนักกว่า เกิดเป็นเทือกเขาหิมาลัย พื้นมหาสมุทรเทธิสโบราณ กลายเป็นบริเวณ

ไม่แปลก ที่บริเวณภูเขาสูง ที่คนไทยเรียกว่า ฟากฟ้าป่าหิมพานต์ มีซากดึกดำบรรพ์ของปลาและสัตว์ทะเลมากมาย

วันนี้สองแผ่นเปลือกโลกนี้ ก็ยังเคลื่อนที่เข้าหากัน ผลักให้เทือกเขาหิมาลัยสูงขึ้นกว่าเดิม

ยอดเขาเอเวอเรสต์ สูงขึ้นปีละประมาณ 50 มม.

ในจำนวนยอดเขาสูง ที่อยู่ไกลแสนไกล ราวกับอยู่อีกโลกหนึ่งเหล่านี้ ยืนยันถึงความสะพรึงกลัว แก่ทุกคนที่ได้เห็น

ในเทพนิยายฮินดู ดินนี้มีชื่อว่าเทพยภูมิ ยอดเขาเการีศังการ์ เป็นที่ประทับของพระศิวะ มหาเทพยิ่งใหญ่ และมหาเทวีมเหสี ผู้เป็นธิดาแห่งขุนเขาหิมวัต

พระศิวะเป็นหนึ่งในบรรดาบรมเทพทั้งสาม เป็นเทพเจ้าแห่งการเกษตร เป็นที่มาของความเชื่อว่า แม่น้ำสามสาย แม่น้ำสินธุ พรหมบุตร และคงคา ซึ่งหล่อเลี้ยงทวีปเอเชีย กำเนิดมาจากทุ่งหิมะเทือกเขาหิมาลัย อันเป็นที่ประทับของพระองค์

ตามนิยายปรัมปราทางศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ ภูเขาพระสุเมรุอยู่ใจกลางโลก มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวดวงอื่นๆ โคจรรอบๆ

ชาวฮินดูถือว่า ภูเขาไกรลาสในเทือกเขาหิมาลัยในทิเบตนั้น คือเขาพระสุเมรุ ยอดเขานี้เป็นที่ประทับของท้าวกุเวร ราชาของพวกยักษ์ เทพเจ้าแห่งความร่ำรวย เทพเจ้าแห่งทรัพย์สมบัติบนโลก

พระอินทร์ เทพผู้ใหญ่ของศาสนาฮินดูสมัยแรกๆ ก็ประทับอยู่บนเขาพระสุเมรุ พระอินทร์ช่วงเวลานี้ เป็นเทพแห่งอัสนีบาต ผู้นำฝนและความอุดมสมบูรณ์สู่แผ่นดิน

...

ฌอง-บับติสต์ บูร์กินญง ดาร์วีย์ นักภูมิศาสตร์ฝรั่งเศส เขียนแผนที่ ตรงกับความจริงและเก่าแก่ที่สุดเอาไว้ ในช่วงทศวรรษ 1730

ต้นศตวรรษที่ 19 พรานล่าสัตว์จากอินเดียของอังกฤษ เดินทางไปล่าเสือและหมี เขากลับมาเล่าตำนาน แห่งรอยเท้าแปลกๆบนพื้นหิมะ นี่คือเรื่องเล่าเรื่องแรก แสดงว่าอาจมีเยติ หรือมนุษย์หิมะอาศัยอยู่

ช่วงทศวรรษ 1850 ชาวตะวันตกรู้จักยอดเขาลูกใหญ่ที่สุด ในนาม ยอดเขาที่ 15 แต่ยอดเขานี้ ชาวอินเดียรับรู้ว่า คือสวรรคะมารถ หรือ สวรรค์ชั้นสูงสุด ชาวทิเบต เรียกยอดเขานี้ว่า โชโม ลุงมา หรือ แม่พระธรณี

ส่วนชื่อ เอเวอเรสต์ นั้น รัฐบาลอังกฤษ ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.1862 เป็นเกียรติแก่ เซอร์จอร์จ เอเวอเรสต์ ประธานกรรมการสำรวจของอินเดีย ผู้นำคณะไปสำรวจความสูงของภูเขา เมื่อหกปีก่อนหน้านั้น

ผู้พิชิตยอดเขานี้ครั้งแรก เมื่อ 29 พฤษภาคม ค.ศ.1953 เป็นคณะชาวอังกฤษ แต่ชื่อที่ถูกบันทึกไว้ เป็นชาวนิวซีแลนด์ ชื่อ เอ็ดมันด์ ฮิลลารี และชาวเนปาล ชื่อ เชอร์ปา เทนซิง นอร์เกย์

“เป็นความโล่งใจ ไม่มีเทือกเขาที่จะต้องปีน และไม่มียอดเขาใดยั่วใจให้เราเอาชนะอีกแล้ว” ฮิลลารีพูด ขณะมองเทนซิง เขายิ้มร่า ชนิดที่ใครเห็นแล้วก็อดยิ้มตามด้วยไม่ได้

ถึงวันนี้ ยังมีนักไต่เขา พยายามพิชิตยอดเขาสูงสุดนี้เสมอ...มีคนกว่า 400 คน ได้ไปยืนบนหลังคาโลก แต่กระนั้น ยอดเขาเอเวอเรสต์ ก็ยังเก็บความลี้ลับ ที่เป็นคำถามมากมาย...เอาไว้

ยังเป็นที่อยู่ของเยติ มนุษย์หิมะ ยังเป็นอาณาบริเวณสำหรับทวยเทพ...หรือไม่

แผ่นดินไหว ที่เนปาล บ้านเมืองเชิงผาหิมพานต์ เชิงเขาหิมาลัย นักวิทยาศาสตร์สามารถบอกได้ว่า แผ่นเปลือกโลกใต้เนปาล เคลื่อนไป 3 เมตร ทางทิศใต้

แต่สำหรับความเชื่อทางศาสนาโบราณ มนุษย์ที่องอาจหาญกล้า ปีนป่ายไปรบกวนดินแดนเทพเจ้า แผ่นดินไหว คือปรากฏการณ์ที่เทพเจ้าทรงพิโรธ.

กิเลน ประลองเชิง