เจฟฟรี แซคส์

องค์กรเครือข่ายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (เอสดีเอสเอ็น) ในฝรั่งเศส ที่จัดตั้งโดยสหประชาชาติ เปิดเผยรายงานดัชนีความสุขโลกปี 2558 ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งที่ 3 อ้างอิงจากบรรดานักสถิติ นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิจัยทางการแพทย์ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่รวบรวมข้อมูลหลากหลายปัจจัย อาทิ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ระบบสังคมสงเคราะห์ รายได้ประชากร อายุขัยของประชากร ความมีอิสระในการตัดสินใจในชีวิต ความเอื้ออาทร ไปจนถึงทัศนคติต่อปัญหาคอร์รัปชัน วิเคราะห์ออกมาเป็นค่าความสุขในประเทศต่างๆ 158 ประเทศทั่วโลก

ผลปรากฏว่าดัชนีความสุขในปีนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 34 ซึ่งถือว่ามีความสุขมากขึ้นหากเทียบกับดัชนีครั้งก่อนในปี 2556 ที่ถูกจัดอยู่ในอันดับ 36 ส่วนอันดับของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ อันดับ 24 สิงคโปร์ อันดับ 61 มาเลเซีย อันดับ 74 อินโดนีเซีย อันดับ 75 เวียดนาม อันดับ 90 ฟิลิปปินส์ อันดับ 99 สปป.ลาว อันดับ 129 เมียนมาร์ และอันดับ 145 กัมพูชา

สำหรับประเทศที่มีค่าดัชนีสูงที่สุด 10 อันดับแรก คือ สวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ แคนาดา ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ขณะที่ชาติหลักๆนั้น ไล่ตั้งแต่อันดับ 15 สหรัฐอเมริกา อันดับ 21 อังกฤษ อันดับ 26 เยอรมนี อันดับ 29 ฝรั่งเศส อันดับ 46 ญี่ปุ่น อันดับ 64 รัสเซีย อันดับ 84 จีน และอันดับ 117 อินเดีย ส่วนอันดับท้ายตาราง ได้แก่โตโก บุรุนดี ซีเรีย เบนิน รวันดา และอัฟกานิสถาน กระนั้นก็มีบางประเทศที่เผชิญภัยสงคราม แต่กลับได้อันดับไม่แย่นักเช่นกันอย่าง อันดับ 111 ยูเครน และอันดับ 112 อิรัก

นายเจฟฟรี แซคส์ ผู้อำนวยการสถาบันโลกประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐฯ หนึ่งในคณะผู้ร่วมจัดทำเปิดเผยว่า ประเทศที่ไม่ติด 10 อันดับต้นส่วนมากยังมีปัญหาในเรื่องรายได้ประชากรไม่ก็ระบบสังคมสงเคราะห์ แต่ในภาพรวมแล้ว รายงานดัชนีความสุขชิ้นนี้จะวัดจากสภาพสังคมในประเทศนั้นๆ เป็นส่วนใหญ่ อย่างเรื่องความเอื้ออาทร ความจริงใจ ความยุติธรรม ไปจนถึงการดูแลสุขภาพด้วย พร้อมระบุด้วยว่าปัญหาต่างๆ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจหรือภัยธรรมชาติ ก็มิได้เป็นตัวแปรที่จะมาทำลายความสุขเสมอไป อย่างชาวญี่ปุ่นที่มีความเชื่อใจและความสุขมากขึ้น หลังเหตุโศกนาฏกรรมสึนามิ 2554 หรือไอซ์แลนด์ ที่เผชิญปัญหาวิกฤติการเงินจนทำให้ธนาคารต่างล้มละลาย.

...