หนังสือหมายเหตุประเทศสยาม 7 (สำนักพิมพ์ 959 พับลิชชิ่ง พ.ศ.2549) เอนก นาวิกมูล บันทึกเรื่อง “แรกมีน้ำแข็ง” ในสยาม ไว้สองตอน ตอนที่ 301 และ 302 เขาทิ้งท้ายไว้ว่า...

ปัจจุบันเรามีน้ำแข็งให้กินกันอย่างฟุ่มเฟือยทั่วประเทศ มีทั้งน้ำแข็งก้อน น้ำแข็งเกล็ด น้ำแข็งหลอด ทั้งหลอดใหญ่ หลอดเล็ก น้ำแข็งไม่เป็นของประหลาดอีกแล้ว

ตอนที่ 302 เอนกเขียนว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 ไทยยังต้องสั่งน้ำแข็งจากสิงคโปร์เข้ามากินเพราะยังผลิตเองไม่ได้ น้ำแข็งยังเป็นของประหลาดในยุคนั้น

ใน “ความทรงจำ ตอน 5” สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวเพียงว่า หลังจาก ร.5 เสด็จกลับจากประพาสสิงคโปร์ พ.ศ.2414

“ไอศกรีมเป็นของวิเศษในเวลานั้น เพราะเพิ่งได้เครื่องทำน้ำแข็งอย่างเล็กๆ ที่เขาทำกันตามเมืองนอก เข้ามาถึงเมืองไทย ทำบางวันน้ำก็แข็ง บางวันก็ไม่แข็ง มีไอศกรีมตั้งเครื่องแต่บางวัน จึงเห็นเป็นของวิเศษ”

แสดงว่าปี 2414 เรายังมีแต่เครื่องทำน้ำแข็งในรูปไอศกรีมขนาดเล็กเท่านั้น ยังไม่มีโรงงานผลิตน้ำแข็งโดยตรง

พ.ศ.2423 ร.5 เสด็จฯไปทอดพระเนตร ที่สวนที่นา ที่ปทุมวัน จะซื้อพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เมื่อทอดพระเนตรแล้ว ไปประทับที่วังปทุมวัน

“พระยานานาจัดเรือสำปั้นไว้ถวายทรงเก็บบัว แล้วถวายเครื่องไอศกรีมและขนมฝรั่งต่างๆกับกาแฟ”

“นี่ก็ยังไม่ถึงการทำน้ำแข็งอย่างเป็นล่ำเป็นสันแต่ประการใด” เอนกให้ข้อสังเกต

ในสยามไสมย ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2427 หน้า 187 เอนกพบว่าหมอสมิธเริ่มนำโฆษณาขายน้ำแข็งของบางกอกไอซ์ กำปะนี ลิมิเต็ด มาลงพิมพ์

นี่นับเป็นหลักฐานสำคัญช่วยบอกว่า พ.ศ. 2427 เริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตน้ำแข็งในเมืองไทยแล้ว

...

โฆษณาบอกว่า บัดนี้น้ำแข็งซึ่งทำที่ห้างของกำปะนีนี้ บัดนี้จัดพร้อมจะขาย จะไปซื้อที่ห้างหลังโรงสีไฟ ห้างมากวาล แอนด์โก (อยู่แถวยานนาวา) ก็ได้ ซื้อที่บ้านหม้อ ที่เสาชิงช้า หรือที่วัดเกาะ (สัมพันธวงศ์) ก็ได้

ราคาขายปอนด์ละ 3 อัฐ

การซื้อมีหลายวิธี อ่านโฆษณา ต่อไป

“จะซื้อตั๋วสำหรับจะไปเบิกน้ำแข็งที่ออฟฟิศผู้มีชื่อข้างท้ายหนังสือแห่งหนึ่งก็ได้ แลจะไปซื้อที่ซึ่งทำน้ำแข็งนั้น แห่งหนึ่งก็ได้

ทั้งน้ำแข็งและตั๋วสำหรับเบิกน้ำแข็งนั้น ต้องใช้เงินสดจึงซื้อได้”

วันแจ้งความในประโยคท้ายสุด เทียบปฏิทินสากล ได้เท่ากับวันพฤหัสฯที่ 5 มิ.ย. พ.ศ.2427

ย้อนไปอ่านหมายเหตุประเทศสยาม ตอนที่ 301 เรื่องราวของน้ำแข็งในความรับรู้ของชาวบ้าน ...มุมมองต่างออกไป

เสฐียรโกเศศ หรือพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เกิดที่กรุงเทพฯ วันที่ 14 ธ.ค.2431 เขียนเรื่องน้ำแข็งไว้ในฟื้นความหลัง เล่ม 1 ว่า

“บิดาเล่าว่า เมื่อมีน้ำแข็งใหม่ๆ คนส่วนมากยังไม่เคยเห็น และซ้ำจะไม่เชื่อว่าน้ำแข็งมีจริง

จนถึงทางราชการเอาใส่ถาดตั้งไว้ให้ราษฎรดู ที่พิพิธภัณฑสถาน ซึ่งสมัยนั้นตั้งอยู่ที่ตึกศาลาสหทัย ราษฎรที่พากันไปดูลางคนคิดถึงคนอื่น ที่บ้าน เป็นห่วงว่ายังไม่เคยเห็น ก็ขอก้อนน้ำแข็งซึ่งเขาต่อยไว้แล้ว เป็นก้อนเล็กๆ เอาไปฝาก หรืออวดคนที่บ้าน

เมื่อน้ำแข็งแพร่หลาย...เป็นสินค้านิยม ก็มีเรื่องเจ๊กขายน้ำแข็ง

น้ำแข็งที่เจ๊กขายนี้ ที่แรกเมื่อมีขายเป็นถ้วย คือใส่น้ำท่าลงไปค่อนถ้วยแก้ว เติมน้ำเชื่อมลงไปพอให้มีรสหวาน แล้วต่อยน้ำแข็งจากก้อนใหญ่ใส่ลงไปในแก้วนั้นก้อนหนึ่ง มีขนาดโตกว่าหัวแม่มือเล็กน้อย

ขณะดื่ม เมื่อปากถูกน้ำแข็ง ก็รู้สึกเย็นๆ เท่านั้น

ถ้าไม่ถูกก้อนน้ำแข็ง ก็ดื่มน้ำท่าตามธรรมดา แต่มีรสหวานๆเท่านั้นเอง

ภายหลังเจริญขึ้น ก็เปลี่ยนเป็นราดน้ำบนก้อนน้ำแข็งก้อนใหญ่ ให้น้ำไหลลงมาที่ก๊อก แล้วรองรับไว้ และเทกลับราดไปบนก้อนน้ำแข็งอีก ทำอย่างนี้กลับไปกลับมาหลายๆครั้ง

จนกระทั่งเห็นว่าน้ำมีลักษณะเย็นมาก ก็กรอกใส่แก้ว เติมน้ำเชื่อมให้

และในที่สุด ก็ใช้กบไส (เรียกว่าหวานเย็น) ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“นึกออกอีกนิดหนึ่ง” เสฐียรโกเศศว่า “เมื่อมีน้ำแข็งขึ้นใหม่ ชาวบ้านชั้นผู้ใหญ่ห้ามเด็กไม่ให้กิน บอกว่าแสลง กินเข้าไปแล้วร้อน เห็นจะหมายถึงว่าร้อนใน

หาว่ามันใส่ยาอะไรก็ไม่รู้ จึงทำให้น้ำแข็ง”

เอนก นาวิกมูล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตามที่เสฐียรโกเศศกล่าวถึงการขายน้ำแข็งแบบที่สอง คือ ราดน้ำลงบนก้อนน้ำแข็ง เพื่อทำให้น้ำเย็นก่อนเติมน้ำเชื่อมนั้น ประหลาดที่

“ผมไปเที่ยวพม่า เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2537 ไปเห็นวิธีการแบบนี้เข้าที่ย่างกุ้ง ทำให้รู้สึกตื่นเต้นมาก นึกไม่ถึงว่าพม่ายังอัตคัดน้ำแข็งขนาดนี้ พูดง่ายๆ ไทยเลิกทำไปแล้วตั้ง 50–60 ปี พม่ากลับยังทำกันอยู่เลย”.

บาราย