ดีปลีดินพันธุ์ใหม่ ช่อผลทิ่มลงดิน.
ดร.เฉลิมพล สุวรรณภักดี อาจารย์ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ศ.ดร.ประนอม จันทรโณทัย รอง ผอ.ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ค้นพบ ดีปลีดิน (Piper viridescens Suwanph. & Chantar.) พืชวงศ์พริกไทย (Piperaceae) ชนิดใหม่ของโลก เมื่อมิถุนายน 2557 ในป่า จ.น่าน ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่ร้อยต้น
“ดีปลีดินพันธุ์ใหม่นี้แตกต่างจากพันธุ์เดิม ตรงที่เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี สูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร ลำต้น ใบ และก้านใบมีขนแบบกำมะหยี่ ฐานใบเบี้ยว ช่อดอกแยกเพศ ผลเชื่อมกันมีลักษณะคล้ายดีปลี ช่อดอกช่อผลห้อยลง ผลสุกสีเขียว จนกระทั่งแก่จะกลายเป็นสีดำเมื่อแห้งเหี่ยว ซึ่งพันธุ์เดิมจะเป็นไม้พุ่ม ใบจะเป็นสีเขียวอ่อน ก้านใบไม่มีขน ช่อผลจะชูชันขึ้น และเมื่ออ่อนจะสีเขียวกระทั่งกลายเป็นสีส้ม และเมื่อแก่ผลสุกสีแดง”

ดร.เฉลิมพล สุวรรณภักดี เผยว่า ดีปลีดินพันธุ์ใหม่นี้ พบการกระจายพันธุ์เฉพาะบริเวณริมลำธารในพื้นที่แคบๆ เป็นพืชเฉพาะถิ่นของจังหวัดน่าน และยังมีจำนวนประชากรน้อย จึงจำเป็นต้องหาแนวทางในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์
...
ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยเรื่อง “การศึกษาลักษณะทางกายวิภาคเพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์พืชสมุนไพรสกุลสะค้านในประเทศไทย” โดยมีตีพิมพ์การตั้งชื่อพืชชนิดใหม่ ในวารสาร Nordic Journal of Botany 2014 โดยได้รับงบประมาณร่วมสนับสนุนการวิจัยระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยการค้นพบครั้งนี้ยังเป็นการสนับสนุนโครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand) อีกด้วย

สำหรับพืชในสกุลนี้ แทบทุกชนิดนี้มีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร เช่น ใช้เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช มีสรรพคุณตามตำราสมุนไพรโบราณในการทำลายเซลล์มะเร็ง ล่าสุดผู้วิจัยอยู่ระหว่างการดำเนินการขอทุนวิจัยเพื่อศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับศักยภาพของพืชในสกุลนี้ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านการเกษตร และทางการแพทย์ในอนาคต.