ข่าวครึกโครมเรื่องแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งไทย เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว ถูกคุมขังอยู่ในคุกของธุรกิจเรือประมงในอินโดนีเซีย-ไม่ได้เป็นประเด็นโด่งดังแค่ในไทย แต่สื่อต่างประเทศต่างเกาะติดรายงานข่าวนี้ไม่แพ้กัน ส่วนรัฐบาลไทยก็ยืนยันว่าติดตามช่วยลูกเรือประมงที่ถูกหลอกไปทำงานเยี่ยงทาสในอินโดนีเซียได้ 146 รายแล้ว

ข้อมูลจากฝั่งรัฐบาลฟังดูดี แต่การรายงานข่าวของสื่อในรอบใหม่นี้มีเหตุผลต่างออกไป เพราะกลุ่มแรงงานที่รัฐบาลไทยช่วยเหลือกลับมาได้นั้นอยู่ที่เกาะอัมบน ซึ่งสื่อไทยติดตามรายงานข่าวตั้งแต่เดือน ต.ค.2557 แต่กรณีล่าสุดนั้นเกิดขึ้นที่ “เบนจินา” หนึ่งในหมู่เกาะโมลุกะของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคนละสถานที่กัน

เมื่อเกิดข้อกล่าวหาว่าการรายงานข่าวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจประมงไทย-จึงอาจไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด เพราะเอาเข้าจริงการขุดคุ้ยเปิดโปงธุรกิจประมงอาจเริ่มต้นมาตั้งแต่ที่สื่ออังกฤษ “เดอะการ์เดียน” รายงานว่ามีการบังคับใช้แรงงานเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมประมงไทย ทำให้ห้างสรรพสินค้าแถบยุโรปบางส่วนสั่งทบทวนการนำเข้าสินค้าจากธุรกิจประมงไทยจนกว่าจะมีการสอบสวนและชี้แจงรายละเอียดของกรณีดังกล่าวอย่างชัดเจน

ต่อจากนั้นรัฐบาลสหรัฐฯยังได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ทั่วโลก หรือ TIP Report ในเดือน มิ.ย.2557 ซึ่งไทยถูกลดสถานะไปอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังอันดับ 3 หรือ Tier 3 Watch List ซึ่งเป็นระดับ “ต่ำสุด” หมายถึงประเทศ “มีปัญหา” ในฐานะที่เป็นทั้งต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของ “ขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ”

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศนโยบายหลักในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการทำงานในประเด็นเกี่ยวกับแรงงานแต่ละประเภทตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี และกรณีล่าสุดที่สื่อก็ได้ช่วยกัน “ชี้เป้า” ให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ในธุรกิจประมงที่ยังคงอยู่ จึงไม่น่าจะถูกเหมาว่าเป็นการจงใจทำลายภาพลักษณ์ประเทศ เพราะเมื่อมีเรื่องไม่ถูกต้องเกิดขึ้น หน้าที่ของ “คนดี” คือ “แก้ไข” ไม่ใช่ “แก้ตัว”.

...

ตติกานต์ เดชชพงศ