อดีต รมว.ศึกษาธิการ เผย การปรับ ครม. ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก นโยบายและการส่งออกของไทย จึงเร่งให้ภาครัฐรีบใช้จ่ายและลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรี ว่า การปรับคณะรัฐมนตรีอาจเกิดจากการวิจารณ์ทีมเศรษฐกิจทำงานไม่ได้ผล หรือยังไม่ค่อยลงตัวเท่าไร การปรับ ครม.ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ในขณะนี้ เพราะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสำคัญที่นโยบาย ความเข้าใจ และมีนโยบายที่สอดคล่องกับปัญหา เศรษฐกิจที่ตกต่ำขณะนี้มีปัญหาจากเศรษฐกิจโลก การส่งออกส่งออกไม่ได้ การท่องเที่ยวมีปัญหา การจะเติบโตได้ต้องอาศัยการใช้จ่ายภาครัฐที่เร็วขึ้นและมากขึ้น แต่การใช้จ่ายกลับล่าช้า ไม่เป็นไปตามเป้า ดังนั้น ต้องเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะการลงทุน

ทั้งนี้ ปรับก็คงไม่ง่าย นึกไม่ออกว่าจะหาคนที่ไหนมาทำงานแทนทีมเศรษฐกิจชุดปัจจุบัน ที่เป็นอยู่ยังไม่ได้พูดชัดเจนว่าปัญหาอยู่ตรงไหน เปลี่ยนคนมาก็แก้ไม่ถูกจุดอีก

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ส่วนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก็ควรต้องทำ เสนอความเห็นมานาน การที่ไม่ลงประชามติ จะเป็นปัญหาทำให้กรรมาธิการยกร่างฯ และ สปช.ไม่ค่อยฟังความเห็นประชาชน หรือความเห็นที่แตกต่าง และอาจดึงดันเอาตามความคิดตนเอง ทั้งที่รัฐธรรมนูญนี้มีปัญหามาก หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะนำไปสู่ความเสียหายของประเทศอย่างร้ายแรง ทำให้เกิดรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ บริหารงานไม่ได้ ทำตามความต้องการของประชาชนไม่ได้ กลายเป็นความขัดแย้ง วิกฤติที่ใหญ่ของสังคม รัฐธรรมนูญนี้หากผ่านออกมาแก้ไขไม่ได้แล้ว ซึ่งก็หมายความว่า วิกฤติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่มีทางออก กลายเป็นสังคมรอวิกฤติ รอความรุนแรง หรือการแก้ปัญหาด้วยการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง

...

เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องแก้เสียก่อน ไม่ให้เป็นตามร่างฯ การไม่ทำประชามติผู้รับผิดชอบก็จะไม่ฟังใคร หากมีประชามติผู้รับผิดชอบ คือกรรมาธิการยกร่างฯ และ สปช.จะฟังความเห็นประชาชนมากๆ เพราะเกรงว่าหากดันทุรังไป ร่างฉบับนี้จะไม่ผ่าน

ส่วนกรณีที่กรรมาธิการเตรียมจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นเรื่องดี ที่จะมีการฟังความเห็นประชาชน แต่เข้าใจว่าทำพอเป็นพิธีเท่านั้น ความจริงการรับฟังความเห็นประชาชน ในปัจจุบันจะไปฟังทีละกลุ่มๆ ก็ได้ไม่กี่กลุ่ม ไม่กี่คน สู้เปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นได้อย่างเสรีเต็มที่ จะเป็นประโยชน์มากที่สุด แต่เท่าที่เห็น ผู้นำรัฐบาลออกมาพูดตลอดเวลาว่า ไม่ต้องการเห็นการแสดงความเห็นที่แตกต่าง ถ้าอย่างนี้การไปรับฟังความเห็นก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะไม่ได้ฟังจริง คนที่เห็นต่างก็เสนอไม่ค่อยได้ หรือพูดไปก็ไม่มีสื่อฯ นำไปเสนอต่อ

อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ต้องยกเลิกกฎอัยการศึก กฎอัยการศึกก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่การจะเปิดให้แสดงความเห็นได้เต็มที่ ไม่จำเป็นต้องยกเลิกก็ได้ แต่ต้องเปิดโอกาสให้คนแสดงความเห็นได้เต็มที่ โดยไม่ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนการลงประชามติ หากจะลงประชามติ ต้องยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศเสียก่อน ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดการห้ามแสดงความเห็น รณรงค์ในการลงประชามติ ส่วนการยกเลิกทั่วประเทศ จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ตนเข้าใจว่า เขาคงไม่เลิกแต่อยากเห็นเป็นขั้นเป็นตอน คือ ยกเลิกเพื่อแก้ปัญหาท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเสียก่อน แล้วค่อยยกเลิกเพื่อลงประชามติ ปัญหาอยู่ที่ว่าจะไม่มีการลงประชามติ ผู้เกี่ยวข้องคงไม่กล้าที่จะให้มีการลงประชามติ ทั้งที่มีประโยชน์มาก

ที่บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ไม่กล้าทำประชามติ มีเหตุผลอะไร ก็เพราะคงกลัวว่าจะไม่ผ่าน ร่างรัฐธรรมนูญ อย่างที่ร่างอยู่นี้ หากไม่มีการแก้ไขมากๆ แล้วนำไปเสนอให้ลงประชามติ เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ ก่อนการลงประชามติ จะไม่ผ่านแน่นอน เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่มีกันมา ดังนั้น องค์กรที่เกี่ยวข้อง น่าจะแลกเปลี่ยนความเห็นกันให้เต็มที่ ที่สำคัญฟังความเห็นประชาชนให้มาก หากพูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ ท่านรัฐประหารมา มีข้ออ้างว่าจะมาแก้ปัญหาความขัดแย้ง ท่านอาจไม่ทราบว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่นี้ จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่เลวร้ายกว่ายิ่งกว่าความขัดแย้งก่อนการรัฐประหาร ซึ่งจะหมายความว่า การรัฐประหารและสิ่งที่ทำหลังรัฐประหารทั้งหมด ไม่ใช่แค่ล้มเหลวเท่านั้น แต่กำลังจะทำให้เกิดความเสียหายยิ่งกว่าความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนรัฐประหาร

ดังนั้น ยังมีโอกาสที่จะหาทางแก้ปัญหา โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้อย่างจริงจัง ส่วนที่ท่านมักบอกว่าหากมีความขัดแย้งก็ไม่ต้องเลือกตั้ง หากมีความเห็นแตกต่างมากๆ ก็ไม่ต้องเลือกตั้ง ถ้าอย่างนั้นก็คงหมายความว่า คงไม่มีการเลือกตั้งแน่ๆ เพราะยังไงก็ต้องมีความเห็นแตกต่าง และหากฟังความเห็นประชาชนจะพบว่า มีความเห็นแตกต่างไม่เห็นด้วยเต็มไปหมด เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้ไม่ได้เลย

เมื่อถามว่า หากเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญออกมาในลักษณะแบบนี้ จะลงสมัครหรือเล่นการเมืองต่อหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ก็คงต้องคิดก่อน เพราะหากรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ จะทำให้ประชาชนไม่มีอำนาจอะไร ประเทศจะได้รัฐบาลที่ทำอะไรไม่ได้ เป็นตัวของตัวเองไม่ได้ ก็จะเป็นรัฐบาลที่สุดท้ายคนนอกมาเป็นนายกฯ เป็นรัฐบาลที่ต้องทำตามแนวทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และสภาปฏิรูปเกือบทั้งหมด แถมยังถูกกำกับควบคุมโดยองค์กรสารพัดองค์กร ที่มาจากการลากตั้งแต่งตั้งทั้งนั้น ก็จะควบคุมรัฐบาลจนกระทั่งรัฐบาลแก้ปัญหาเพื่อประเทศไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน แล้วเมื่อมีปัญหามากๆ ก็จะกลายเป็นวิกฤติรุนแรง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ตัวผม อาจเรียกว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ใครก็ตามลงไปเลือกตั้ง ก็ไม่มีโอากาสแก้ปัญหาอะไรได้เลย.