ลันร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศเผยโฉมออกมา ก็ถูกบรรดานักการเมืองและฝ่ายต่างๆวิพากษ์หลากหลายแง่มุมในเชิงลบและมีข้อเสนอแนะให้ทบทวนแก้ไข

หนึ่งในนั้นมี นายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ร่วมตั้งวงถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญ

ซึ่งกะเทาะเปลือกปัญหาอย่างลึกซึ้งผ่านทรรศนะของคนที่มีหลักการต่างกัน มีการศึกษา พื้นฐานความรู้ต่างทฤษฎีและแสดงความคิดเห็นออกมาโดยปราศจากอคติ นำเสนอผ่านการให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ว่า การถกแถลงต้องการให้สังคมเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเชิงนโยบายมากขึ้น

หลังเทศกาลสงกรานต์ในจังหวะที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่พิจารณาเสร็จในชั้น กมธ.ยกร่างฯ เสนอต่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

เราจะนัดให้คนที่มีโอกาสมาแสดงความเห็น รวมถึง กมธ.ยกร่างฯ หากต้องการมาร่วมอธิบายและเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นการมีส่วนช่วยอีกนิดก็จะดี

ขอเพียง คสช.อย่าไปพูดถึงการใช้กฎอัยการศึกให้สังคมตกใจ และขอให้ สปช. รัฐบาลเชิญชวนฝ่ายวิชาการ ฝ่ายประชาสังคมจัดเวทีอิสระ ปล่อยให้มีการพูดคุยถึงร่างรัฐธรรมนูญในวงกว้าง ปมไหนควรแก้ไข เมื่อมีเหตุมีผลก็ควรแก้ อย่าไปคิดมาก ขอให้รับฟังถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

เพราะไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มผู้มีอำนาจเท่านั้นที่หวังดีต่อประเทศ คนอื่นๆก็หวังดีเหมือนกัน ผลผลิตรัฐธรรมนูญจะได้ออกมาดี ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ การปรองดองจะเกิดขึ้นตามที่สังคมอยากเห็น

เท่าที่ผ่านมาเราเกาะติดการยกร่างรัฐธรรมนูญมาตลอด ในฐานะที่เคยเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีข้อห่วงใยในประเด็นการกำหนดให้ กกต.มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งและควบคุมการออกเสียงประชามติ

และเพิ่มคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

แต่งตั้งตัวแทนในแต่ละหน่วยงาน หน่วย งานละ 1 คน ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งและออกเสียงประชามติแทน กกต.

...

ปกติ กกต.พึ่งข้าราชการจำนวนมากในการจัดการเลือกตั้ง อำนาจเต็มอยู่ที่ กกต. ข้าราชการก็พอฟังคำสั่งแต่ไม่แน่ใจนักว่าข้าราชการจะรับฟังคำสั่ง กจต.แค่ไหน ยิ่งต่อไป กกต.เป็นแค่ผู้ออก กติกา

และให้ กจต.จัดเลือกตั้ง เมื่ออำนาจหน้าที่ส่วนใหญ่ไหลกลับไปสู่ฝ่ายข้าราชการ หนีไม่พ้นจะฟังเฉพาะหัวหน้าของเขาที่เป็นปลัดกระทรวง จะทำให้องค์กรนี้ไม่ตัดขาดจากอิทธิพลของข้าราชการ และไม่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร

ขอเสนอให้ กกต.มีอำนาจจัดการเลือกตั้งเหมือนเดิม แต่แยกอำนาจการแจกใบแดงไปที่ศาล

อีกประเด็นที่ห่วงใย คือ แม้การเลือกตั้ง ส.ส.แบบเยอรมันที่จะช่วยทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง สะท้อนเสียงของคนส่วนใหญ่และคนส่วนน้อย

ชั้นแรกเราหวังว่าพรรคการเมืองเสียงข้างมากจะไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและพรรค การเมืองเสียงข้างน้อยจะไม่ลุ่มหลงเข้าร่วมรัฐบาล ถ้าไปร่วมรัฐบาลก็จะสามารถท้วงติงรัฐบาลได้ดีกว่าที่ผ่านๆมา เพราะถ้าพรรคเสียงข้างมากได้เสียงไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงส่วนผสมของรัฐบาลผสมได้

แต่ถ้าได้เสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ไม่จำเป็นต้องไปสนใจเสียงจากพรรคอื่น สุดท้ายก็เป็นปัญหาเหมือนเดิม

ตามหลักการจะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งหรืออ่อนแอ ใช่ว่าเมื่อเขียนกฎหมายแล้วจะเป็นเช่นนั้นได้ ต้องปล่อยให้มันเจริญเติบโตตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องเร่ง หรือเมื่อเติบโตมากเกินไปแล้วต้องฉีดยาให้มันหงอย

จะได้มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ยั่งยืน ไม่ถูกยุบ การบริหารงานภายในพรรค เป็นประชาธิปไตย สมาชิกพรรคมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของพร้อมสนับสนุนพรรค พรรคการเมืองเข้มแข็งอย่าไปดูเฉพาะผลสำเร็จในการเลือกตั้ง

แต่ขอเสนอให้แก้ไขที่มาของนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก แม้อ้างเปิดช่องไว้สำหรับช่วงบ้านเมืองวิกฤติ

การเปิดช่องไว้ย่อมเกิดความระแวงเรื่องการสืบทอดอำนาจ เพราะประชาชน ธรรมดาหรือคนที่เก่งที่สุดที่เป็นคนนอกไม่มีโอกาสเข้ามาเป็นนายกฯแน่

นอกจากคนที่มีอำนาจและไม่ได้เป็น ส.ส.ในขณะนั้น เฉกเช่นสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

เพื่อป้องกันความระแวงและการสืบทอดอำนาจ อาจจะเขียนในบท เฉพาะกาลให้ชัดว่า 4 ปี หรือ 8 ปีแรก หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น

ไม่เหมือนในประเทศที่ประชาธิปไตยเต็มใบ แม้ไม่ได้เขียนรัฐธรรมนูญกันท่าคนนอก แต่ตามธรรมเนียมปฏิบัตินายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. และไม่เอาคนนอกมาเป็นนายกฯ เพราะทหารของประเทศเหล่านี้ไม่เล่นการเมือง

ขณะที่ระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบเปิด อาจจะมีปัญหาทางปฏิบัติ ทำให้พรรคการเมืองขัดแย้งกันภายใน พรรคการเมืองอ่อนแอ ฉะนั้นไม่จำเป็นให้ไอเดียกระฉูดขนาดนั้น

รวมถึงการเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมือง ทำหน้าที่เหมือนพรรค การเมืองลงเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.แบบเขต ควรแก้ไขให้มีเฉพาะระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบปิดและปิดประตูกลุ่มการเมืองเข้ามาทำหน้าที่เหมือนพรรคการเมือง

เพราะขณะนี้พรรคการเมืองตั้งได้ง่ายและที่ผ่านมาพรรคการเมืองไม่ได้เข้มแข็งจนกระทั่งหาอะไรใหม่ๆเข้ามาทำหน้าที่เหมือนพรรคการเมือง

ยังไม่นับรวมข้อห่วงใยที่มาและอำนาจของ ส.ว. จะเปิดช่องให้กลุ่มคนดีจะเข้ามาทำหน้าที่ออกกฎหมาย บุคคลที่รัฐมนตรีต้องผ่านด่านกลั่นกรองก่อน มันอิหลักอิเหลื่อ ไม่เห็นมีที่ไหนจะให้คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจมากมายขนาดนี้

กลายเป็นที่มาของ ส.ว. ยิ่งออกแบบให้ห่างจากประชาชน แม้อ้างว่า เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม แต่รูปแบบนี้ อำนาจอธิปไตยจะกลายเป็นของคนดีที่ทำให้ผมวิตกกังวลมาก

ดั่งที่พูดกันว่าใครเขียนกฎหมาย ก็เพื่อกลุ่มของตนเอง เมื่อผู้เขียนกฎหมายคือคนดีกำลังเขียนกฎหมายเพื่อจะได้คนดีมาปกครองประเทศ

ทั้งที่เป็นที่รู้กันดีว่าในบรรดาคนดีทั้งหลายก็ไม่เป็นคนดีทั้งหมด ในบรรดาคนที่เห็นว่าไม่ดี ก็ใช่ว่าจะไม่ดีหมด พอเราติดป้ายว่าคนกลุ่มนี้น่าจะสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นคนไม่ดี ก็ออกกติกาคุมแจ กลายเป็นไปกดไปขู่นักการเมือง

เรายังห่วงใยอย่างมากต่อองค์กรใหม่ๆที่ผุดขึ้นมานับ 10 องค์กร เช่น สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สภาตรวจสอบภาคพลเมือง สมัชชาพลเมือง กรรมการหรือองค์กรต่างๆขึ้นมา

นำหลักจริยธรรมไปเขียนเป็นกฎหมาย ต่อไปจะตีความสนุกสนานกันใหญ่ ก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมา ตามธรรมดาการออกกฎหมาย จะจำกัดสิทธิของประชาชนหรือจำกัดสิทธิของรัฐ แต่ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะต้องคำนึงถึงสิทธิของประชาชนเป็นหลัก รัฐไม่ควรเข้าไปยุ่ง

แต่ภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญกลับกำหนดให้รัฐตั้งองค์กรต่างๆเข้ามายุ่งกับวิถีชีวิตของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อาสาเข้าไปทำงานการเมือง

เช่น กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างน้อยไม่กระทำละเมิดหลักสำคัญทางศีลธรรม ศาสนา และประเพณี เป็นการออกกฎหมายไปละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว สิทธิในความเป็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมมากเกินไป

หากไล่เรียงดูจะพบอีกว่ามีการเขียนถึงกฎหมายไม่บัญญัติไว้ว่าผิด แต่ถ้าคณะกรรมการจริยธรรมบอกว่าผิดก็สามารถเอาผิดได้ เลยไม่รู้ขอบเขต มัดหมดทุกอย่าง

เรียกว่าสำลักคุณธรรมกันไปเลย เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยคนดี เพื่อคนดี กีดกันคนที่ไม่ดีคือนักการเมือง กลุ่มคนดีจะเข้ามาควบคุมนักการเมือง

ฉะนั้นขอเสนอตัดหมวดผู้นำการเมืองที่ดีออกไปทั้งหมด ยกเลิกสมัชชาคุณธรรม ปล่อยให้มันวิวัฒนาการไปโดยธรรมชาติ ยิ่งเขียนอะไรฟุ่มเฟือยจะขัดกันเองและในอนาคตจะกลายเป็นประเด็นทางการเมือง

อาจจะมีคนมาใช้กลไกต่างๆที่สร้างขึ้นขับไล่มัดตราสังการเมืองทุกระดับ ในที่สุดการเมืองจะไร้เสถียรภาพ ความแตกแยกยังคงอยู่ต่อไป

ที่สำคัญยังออกแบบให้กฎหมายสูงสุดแก้ไขยากสุดๆด้วย

เหมือนกับคนดียึดหัวหาดแล้วไม่ปล่อย.

ทีมการเมือง