การ์ตูนเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและสร้างความบันเทิงจนครองใจผู้คนมาอย่างยาวนาน ที่เรารู้จักกันดีก็คือการ์ตูนช่องที่เรียกกันว่า คอมิก (Comic) จากฝั่งตะวันตก และมังงะ (Manga) จากประเทศ

ญี่ปุ่น ซึ่งการ์ตูนของโลกตะวันตกนั้นมีปรากฏมาตั้งแต่ยุคกลางของยุโรป โดยมักจะอยู่ในลักษณะของภาพร่างต้นแบบสำหรับการเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ในศตวรรษที่ 18 ก็มีการตีพิมพ์ภาพการ์ตูนล้อเลียนลงในหนังสือ ส่วนทางญี่ปุ่นก็มีความนิยมการเขียนภาพตลก หรือ “จิกะ” มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 และพัฒนามาเป็นมังงะในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยการผสมผสานภาพสไตล์ญี่ปุ่นเข้ากับจิตรกรรมตะวันตก ซึ่งก็รุ่งเรืองมากขึ้นเรื่อยๆหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2

ตำนานการ์ตูนไทย กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง
ตำนานการ์ตูนไทย กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

...

ในเมืองไทยเราเริ่มรู้จักการ์ตูนกันจริงจังก็เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แปลคำว่า Comic เป็นภาษาไทยว่า “ภาพล้อ” เมื่อ พ.ศ.2460 หลังจากนั้นทรงเขียนภาพล้อบุคคลซึ่งเป็นข้าราชบริพารและเสนาบดีตีพิมพ์ลงในวารสารดุสิตสมิต ทำให้หนังสือพิมพ์อื่นๆหันมา ตีพิมพ์ภาพการ์ตูนล้อการเมืองกันมากขึ้น โดยมีนายเปล่ง ไตรปิ่น ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นการ์ตูนนิสต์คนแรกของเมืองไทย

ในราวปี 2475 นายเวช กระตุฤกษ์ ก่อตั้งสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ขึ้น หนังสือของที่นี่มีความโดดเด่นที่หน้าปกและภาพประกอบซึ่งวาดโดยจิตรกรฝีมือดี เช่น เหม เวชกร, ปยุต เงากระจ่าง ต่อมาได้นำนิยายและเรื่องอ่านเล่นที่ได้รับความนิยมมาวาดเป็นนิยายภาพอีกด้วย โดยมีมือเขียนนิยายภาพและการ์ตูนที่สำคัญคือ “วิตตมิน” และ “มิสเตอร์” การ์ตูนในยุคนี้มักจะนำเอาวรรณคดี นิทาน หรือเรื่องอ่านเล่นที่คนนิยมมาเขียนใหม่ เช่น สังข์ทอง วาดโดย สวัสดิ์ จูฑะรพ ส่วนการ์ตูนสำหรับเด็กก็ต้องยกให้ ฉันท์ สุวรรณบุณย์ เป็นผู้บุกเบิก

ตำนานการ์ตูนไทย กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

ต่อมาประมาณปี 2495 พิมล กาฬสีห์ จัดทำนิตยสารการ์ตูนตุ๊กตา ออกจำหน่าย ได้รับความนิยมอย่างมาก หลังจากนั้นไม่นานก็มีนิตยสารวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ ของจันตรี ศิริบุญรอด ปลุกกระแสให้เกิดนิยายภาพแนววิทยาศาสตร์ของไทย สำนักพิมพ์บางกอกก็เริ่มผลิตนิยายภาพออกจำหน่าย ที่คนชอบกันมากคือ หนูเล็ก ลุงโกร่ง ของ “อดิเรก” ในช่วงนี้สื่อโทรทัศน์, ภาพยนตร์ และการ์ตูนจากญี่ปุ่นก็เริ่มเข้ามาสู่เมืองไทย

5 ปีต่อมา ผลงานอัศวินสายฟ้า ของ “พ.บางพลี” ก็สร้างความฮือฮาขึ้นในวงการนักอ่าน ที่โด่งดังไม่แพ้กันอยู่ในเวลานั้นก็มี จุก เบี้ยวสกุล กับผลงานเรื่องเจ้าชายผมทอง จากนั้นไม่นานสำนักพิมพ์บรรลือสาสน์ก็วางจำหน่ายนิตยสารการ์ตูน หนูจ๋า ของ “จุ๋มจิ๋ม” ตามมาด้วย เบบี้ ของ “อาวัฒน์” สำหรับนิตยสารขายหัวเราะที่ทุกคนรู้จักกันดีนั้นเริ่มวางจำหน่ายในปี 2516 ตามมาด้วยนิตยสารมหาสนุก และในช่วงนี้มีดาวจรัสแสงในวงการการ์ตูนไทยอีกคนหนึ่ง คือ เตรียม ชาชุมพร ซึ่งเขียนให้นิตยสาร ชัยพฤกษ์ ก่อนจะมีผลงานการ์ตูนสะท้อนสังคมออกมาอีกหลายเรื่อง

ตำนานการ์ตูนไทย กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

ในปี พ.ศ.2510 นิตยสารการ์ตูนเด็ก นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นแปลไทยฉบับแรกก็ถือกำเนิดโดยการจัดทำของ ไพบูลย์ วงศ์ศรี เป็นการเปิดศักราชการ์ตูนญี่ปุ่นในประเทศไทยขึ้นมา

ในช่วงปี 2520-2526 นิยายภาพไทยแบบดั้งเดิม เริ่มเปลี่ยนไปเป็นการ์ตูนเล่มละบาท การ์ตูนแปลจากประเทศญี่ปุ่น (แบบไม่ถูกลิขสิทธิ์) ก็เข้าช่วงชิงความนิยมจากนักอ่าน โดยมีการ์ตูนยอดฮิตอย่าง โดราเอมอน และดราก้อนบอล เป็นหัวหอก พอเข้าสู่ช่วงปี 2526-2536 การ์ตูนญี่ปุ่นแปลไทยก็ครองตลาดการ์ตูนในไทยอย่างไร้ข้อกังขา เหลือเพียงการ์ตูนเล่มละบาทและขายหัวเราะกับมหาสนุกเท่านั้นที่ยืนยงอยู่ได้ นับว่ายังดีที่นิตยสาร Animate Out ของวิบูลย์กิจ ยังมีพื้นที่ให้กับการ์ตูนฝีมือคนไทย จนพัฒนาไปเป็นนิตยสารลายเส้นในเวลาต่อมา ซึ่งก็เป็นต้นแบบให้นิตยสารไทคอมิกหลังจากนี้หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นในไทยเริ่มทยอยกันขอลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องนักเขียนชาวไทยมีโอกาสได้แสดงผลงานผ่านนิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นอย่าง BOOM, C-KIDS และนิตยสารอื่นๆอีกหลายเล่ม

...

ตำนานการ์ตูนไทย กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

นิตยสารอีกเล่มที่นักอ่านยุคนั้นคงจำได้ดีก็คือ Katch นิตยสารวัยรุ่นที่เปิดตัวในปี 2541 โดยมีผลงานการ์ตูนไทยให้อ่านกันด้วย ในปีถัดมาก็มีนิตยสาร Manga Katch และนิตยสาร Neutron ออกตามมาติดๆ หลังจากนั้นการ์ตูนชุด พระเจ้าเป็นหมาก็สร้างความฮือฮาด้วยรูปแบบที่แปลกใหม่ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

พ.ศ.2547 นิตยสาร SEED! ออกสู่ตลาดด้วยการนำของ พีทรัฐ พรสุทธิรัตน์ หรือ บก. หมี อนาคิน จากนิตยสาร Weekly Online Magazine โดยเน้นไปที่การ์ตูนจากเกมออนไลน์ชื่อดังที่วาดโดยคนไทยทั้งหมด นับเป็นอีกหนึ่งยุคทองของการ์ตูนไทย แม้ว่ายุคทองในครั้งนี้จะไม่ยาวนานนัก แต่ก็สร้างชื่อให้นักเขียนการ์ตูนไทยหลายคนได้แจ้งเกิดจนถึงทุกวันนี้

ตำนานการ์ตูนไทย กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

...

หลังจากช่วงเวลานั้นนิตยสารการ์ตูนไทยก็แทบสาบสูญไปจากแผงหนังสือ มาเริ่มฟื้นฟูกันได้ในปี 2550 เมื่อนิตยสาร Manga Bash และ Let’s Comic ออกสู่ตลาด จนย่างเข้าสู่ช่วง พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน ยุคนี้การ์ตูนไทยในรูปเล่มพ็อกเกตบุ๊กได้รับความนิยมมากขึ้น มีนักเขียนการ์ตูนสร้างชื่อขึ้นมามากมายหลายท่าน

ไม่ใช่เพียงแค่การ์ตูนในหน้าหนังสือเท่านั้น ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นฝีมือคนไทยก็มีประวัติศาสตร์และพัฒนาการมาอย่างยาวนาน เริ่มจากตัวการ์ตูน “หนูหล่อ” ที่ปรากฏโฉมในโฆษณาทางทีวีเมื่อประมาณ 70 ปีก่อน โดยการสร้างของสรรพสิริ วิรยสิริ ต่อมาในปี 2498 ปยุต เงากระจ่าง ก็สร้างภาพยนตร์สั้นแอนิเมชั่น ชื่อเรื่องเหตุมหัศจรรย์ ได้สำเร็จเป็นเรื่องแรกของ
ไทย และท่านยังเป็นผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง สุดสาคร ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกของไทยอีกด้วย ผ่านมาจนปี 2549 ก้านกล้วย แอนิเมชั่นอิงประวัติศาสตร์ของกันตนา ก็สร้างความตื่นตะลึงให้ผู้ชมจนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ก่อกระแสตื่นตัวให้กับวงการนี้ขนาดใหญ่ ทำให้มีภาพยนตร์แอนิเมชั่นของไทยมาเข้าโรงฉายต่อจากนั้นมาหลายเรื่อง เช่น ตำนานพระพุทธเจ้า, นาค, ก้านกล้วย 2, เอคโค่ จิ๋วก้องโลก และยักษ์ ซึ่งแต่ละเรื่องก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ตำนานการ์ตูนไทย กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

...

แอนิเมชั่นในวงการโทรทัศน์ ที่เรียกกันว่า แอนิเมชั่น ทีวี ซีรีส์ ก็มีความก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะการ์ตูนเรื่องเชลล์ดอน นั้นโด่งดังในระดับสากล นำออกฉายไปกว่า 180 ประเทศทั่วโลก การ์ตูนยอดฮิตจากหนังสืออย่าง ปังปอนด์ ก็ได้รับการสร้างเป็นแอนิเมชั่น บางเรื่องก็นำเอาบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริงๆมาเป็นต้นแบบให้ตัวละคร เช่น เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ หรือชุมชนนิมนต์ยิ้ม ที่มีการสอดแทรกคติธรรมเข้าไปในเนื้อเรื่องด้วย หรือเดอะ สลัด การ์ตูนแอนิเมชั่น มีตัวละครน่ารักแปลกตา ซึ่งดีไซน์ดัดแปลงมาจากรูปลักษณ์ของผักและผลไม้ต่างๆ

ตัวละครจากการ์ตูนดังหลายๆเรื่องนั้น ไม่ได้หยุดอยู่แค่หน้ากระดาษหรือจอภาพยนตร์ แต่ยังกลายไปเป็นของเล่น, ตุ๊กตา, ของที่ระลึก, เกม, เสื้อผ้า,ของใช้ และสินค้าลิขสิทธิ์ต่างๆ ตัวการ์ตูนที่ครองใจผู้คนได้นั้นจะไม่มีวันตาย แม้เวลาจะผ่านไปนานแสนนานตัวการ์ตูนก็ยังมีคุณค่าในใจแฟนๆอยู่เสมอ

ตำนานการ์ตูนไทย กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

ก็มีข่าวดีสำหรับท่านที่สนใจในวงการสื่อบันเทิง ดิจิตอลคอนเทนต์ และการ์ตูน คือเร็วๆนี้จะมีงานใหญ่จัดขึ้นในบ้านเราได้แก่ Bangkok Entertainment Week ซึ่งจัดโดย 7 องค์กรภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงไอซีที, กระทรวงวัฒนธรรม, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กรุงเทพมหานคร และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชน จัดงานใหญ่ถึง 4 งาน คือ Bangkok
Comic Con 2015 x Anime Festival Asia Thailand 2015, Bangkok International Digital Content Festival 2015 (Bangkok DC 2015), Thailand Toy Expo 2015 และ Thailand Comic Con 2015 ท่านที่สนใจก็ลองติดตามกันดูนะครับ

และก่อนหน้าที่งานใหญ่จะมาวันเสาร์ที่ 4 เมษายนนี้ ก็มีงานกิจกรรมสำหรับน้องๆเยาวชน ที่พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร ในงานมีทั้งกิจกรรมวาดรูป ระบายสี สอนวาดการ์ตูน, ทำแอนิเมชั่น และการสร้างสรรค์ศิลปะในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย งานนี้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้าร่วมได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายครับ.

โดย :รายทาง
ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน