วันเสาร์สบายๆวันนี้ ผมขอพาท่านผู้อ่านไปเที่ยว “เชียงตุง” นครแห่งความหลังในเมียนมาร์กันสักวันนะครับ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา คุณสาระ ลํ่าซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมืองไทยประกันชีวิต ชวนผมไปเที่ยวเชียงตุงด้วยกัน มี ท่านทูตพิษณุ สุวรรณะชฎ ทูตไทยประจำเมียนมาร์ และ คุณตุ่น-ทิพยสุดา ภริยาท่านทูตไปร่วมด้วย ทั้งสองท่านมีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องราวของเมียนมาร์ และสถานที่ท่องเที่ยวในเชียงตุงและเมียนมาร์เป็นอย่างยิ่ง

เราไปกันเป็นกลุ่มเล็กสามสี่ครอบครัว มี อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ เป็นไกด์กิตติมศักดิ์

ใครที่เคยอ่านนวนิยายเรื่อง “บ่วงบรรจถรณ์” ของ คุณกีรติ ชนา มาแล้ว จะต้องรู้สึกอยากไปเที่ยวเชียงตุงสักครั้งในชีวิต บ่วงบรรจถรณ์เป็นเรื่องราวของสาวไทยที่หนีสามีเจ้าชู้กลับไปอยู่บ้านเชียงรายของบิดา ไปพบเตียงไม้สมัยเชียงตุงอยู่ในห้องเก็บของ แล้วเตียงไม้หลังนี้ก็ได้นำเธอย้อนกลับไปสู่อดีตอันรุ่งเรืองของเชียงตุง เขมรัฐตุงคบุรี พบรักกับหนุ่มไทเขิน สถานที่ เหตุการณ์ ตัวบุคคลในนิยาย ผู้เขียนได้เชื่อมโยงกับตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้อ่านสนใจที่จะไปดูสถานที่จริงในปัจจุบัน

ก็ไม่ผิดหวังครับ เชียงตุง เป็นที่อยู่ของ ชาวไทเขิน และ ชาวไทใหญ่ ตั้งอยู่ท่ามกลางเทือกเขาที่โอบล้อม อากาศต้นเดือนมีนาคมยังเย็นสบาย เคยตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ เป็นเมืองที่เคยเจริญรุ่งเรืองทางการค้า วันนี้ก็ยังเหลือร่องรอยความเจริญให้เห็น บ้านสไตล์อังกฤษอันสวยงามทิ้งร้างไว้มากมาย แต่ไม่มีใครกล้าอยู่ เพราะเล่ากันว่าผีดุมาก

ขนาด โรงแรมนิวเชียงตุง โรงแรมใหญ่ที่สุด ทันสมัยที่สุดมีกว่าร้อยห้อง แต่ไม่มีคนพัก ลือกันว่าผีดุ อดีตเคยเป็นที่ตั้งของ หอหลวงแห่งเขมรัฐ-ตุงคบุรี ที่ทำงานของ เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง ผู้ครองนคร ก่อนถูกรัฐบาลทุบทิ้ง สร้างเป็นโรงแรม พวกเราก็ไม่กล้าไปพัก ยอมไปนอนโรงแรมเล็กๆในเมืองแทน

...

การไปเชียงตุงครั้งนี้ เราบินไปลงที่เชียงราย แล้วข้ามด่าน แม่สาย ไป ท่าขี้เหล็ก แล้วนั่งเครื่องใบพัดของ แอร์บากัน ที่มีอยู่เพียงสายการบินเดียว บินไปลงที่ เชียงตุง โดยใช้เวลาบินราวสี่สิบนาที เป็น แอร์หวานเย็น เพราะจะบินวนรับผู้โดยสารเป็นวงกลม จากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่งเหมือนรถเมล์ ถึงเมื่อไรก็เมื่อนั้น

เชียงตุง อยู่ใน รัฐฉาน เป็นเมืองสำคัญในอดีตรุ่นเดียวกับ เชียงใหม่ และ เชียงรุ้ง เคยมีเจ้าฟ้าปกครองถึง 33 พระองค์ องค์สุดท้ายคือ เจ้ารัตนะ-ก้อนแก้วอินแถลง ทุกวันนี้ก็ยังมีลูกหลานสกุล “ณ เชียงตุง” อาศัยอยู่ในเมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้จัดตั้ง กองทัพพายัพ ให้ พล.ต.ผิน ชุณหะวัณ เป็นแม่ทัพยกไปยึดครอง เมืองเชียงตุง ในปี 2485 และยึดเมืองพานจากอังกฤษ จัดตั้งเป็น สหรัฐไทยเดิม ขึ้นกับเมืองไทย และทูลเชิญ เจ้าเมืองเหล็กพรหมลือ โอรสของ เจ้าก้อนอินแถลง มาเป็น เจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยศพรหมลือ ครองเมืองเชียงตุง โดยมี พล.ต.ผิน ชุณหะวัณ เป็นข้าหลวงใหญ่

แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยก็คืนดินแดนสหรัฐไทยเดิมให้แก่อังกฤษ เจ้าฟ้าพรหมลือและครอบครัว ก็อพยพมาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่

ไม่น่าเชื่อว่า กองทัพไทย จะสามารถเดินทัพไปยึด เมืองเชียงตุง ได้ เพราะเส้นทางจากแม่สายไปยังเมืองเชียงตุงโหดเหลือเกิน เต็มไปด้วยภูเขาสูงตํ่ามากมาย ขากลับจากเชียงตุง พวกผมนั่งรถตู้ล่องมาตามถนนสายเชียงตุง-ท่าขี้เหล็ก ถนนคดเคี้ยวไปตามภูเขาสูงตํ่า แต่สวยงามเหมือนอยู่ในยุโรปยังไงยังงั้น ข้างทางมีลำธารเล็กๆไหลคู่กันไป แล้วใหญ่ขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็น แม่นํ้าหลวง ไหลลงสู่ แม่นํ้าโขง ที่สามเหลี่ยมทองคำ ระยะทาง 160 กว่า กม. พวกเราใช้เวลาเดินทางกว่าสี่ชั่วโมง

ชีวิตผู้คนในเชียงตุงเรียบง่ายมาก Slow Life จริงๆ กลางวันไม่มีไฟฟ้าใช้ กลางคืนไฟดับ 2-3 หน การพัฒนายังไปไม่ถึง สินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ไปจากไทย

ไปเชียงตุงครั้งนี้ ท่านทูตพิษณุ ยังจัดให้มีพิธีบายศรีสู่ขวัญที่ วัดเชียงยืน ไปไหว้พระปิดทองที่ วัดพระเจ้าหลวง วัดนี้ตั้งอยู่กลาง
สี่แยกเมืองเชียงตุง อิ่มบุญกลับมาด้วยกันทุกคน ขอขอบคุณ คุณสาระ
และ ท่านทูตพิษณุ ไว้ตรงนี้ด้วยครับ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”