กรมศิลปากร เดินหน้าดำเนินคดีวัดกัลยาณมิตร ทำลายโบราณสถาน ระบุช่วง 12 ปี ถูกทุบทิ้งไปแล้วกว่า 22 รายการ ด้านประธานชุมชน ชี้ปัญหาเรื้อรังมานาน วัดไม่เคยฟังเสียงคัดค้าน ขณะที่ที่ปรึกษาวัด ยันดำเนินถูกต้องตาม ก.ม. จ่อฟ้องศาลปกครอง ให้พิจารณาคดีใหม่...

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึง การแจ้งความดำเนินคดีกับผู้สั่งการและทำลายโบราณสถานสำคัญ ภายในวัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร ถนนอรุณอมรินทร์ตัดใหม่ เขตธนบุรี ว่า คดีการรื้อถอนทำลายดัดแปลงแก้ไขโบราณสถานวัดกัลยาณมิตร เป็นปัญหาต่อเนื่องยาวนานมาถึง 12 ปี ที่ผ่านมากรมศิลปากรได้แจ้งดำเนินคดีอาญากับวัดกัลยาณมิตร โดยก่อนหน้านี้ ได้ดำเนินคดีทั้งหมด 15 คดี ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยสรุปอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง 10 คดี คงเหลือ 5 คดี ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของ สน.บุปผาราม

...

พร้อมแจงว่า ตลอดระยะเวลา 12 ปี มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ได้รับความเสียหายรื้อทำลายไปแล้วจำนวน 22 รายการ อาทิ หอระฆัง อาคารเสวิกุล ศาลาทรงปั้นหยา หอกลอง หอสวดมนต์กัลยาณาลัย ศาลาปากสระ กุฏิเก่าคณะ 7 จำนวน 3 หลัง รื้อราวระเบียงหิน พื้นหิน ตุ๊กตาหินอับเฉา กุฏิสงฆ์คณะ 4 และการถมสระน้ำภายในกุฏิสงฆ์คณะ 4 และถมสระน้ำภายในกุฏิสงฆ์คณะ 2 นอกจากการรื้อถอนทำลายโบราณสถาน ยังมีการก่อสร้างอาคารในเขตโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรด้วย

ขณะที่นายชัยสิทธิ์ กิตติวณิชพันธุ์ ประธานกลุ่มองค์กรชุมชนรักษ์กัลยาณ์ เปิดเผยว่า กรณีปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างชาวชุมชนและทางวัดกัลยาณมิตร เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน มีการทำลายโบราณสถานที่อยู่ในวัดอย่างต่อเนื่อง โดยให้เหตุผลว่ามีความชำรุดทรุดโทรมต้องการบูรณะใหม่ โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากทางชาวบ้านที่อาศัยในชุมชนแต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมาเจรจาทำความเข้าใจกับชุมชน และไม่เปิดโอกาสให้ตัวแทนชาวบ้านเข้าไปเจรจาด้วยเช่นกัน โดยชุมชนได้แสดงการคัดค้านเชิงสัญลักษณ์ผ่านป้ายขนาดใหญ่รอบบริเวณวัด เพื่อให้รับฟังความคิดเห็นจากชุมชน แต่ก็ไม่เป็นผล

ด้านนายวัชรา พรหมเจริญ ประธานที่ปรึกษาวัดกัลยาณมิตร ได้ชี้แจงว่า สิ่งที่วัดดำเนินการทำถูกต้องตามกฎหมาย โดยอ้างอิงประกาศการขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร วันที่ 22 พ.ย. 2492 เรื่องขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัด 28 แห่ง โดยในส่วนของวัดกัลยาณมิตร ระบุเพียงขึ้นทะเบียนโบราณสถาน วัดจึงไม่ทราบว่า ขึ้นทะเบียนอะไร และกรมศิลปากร ก็ไม่มีหนังสือแจ้งให้วัดทราบ วัดจึงดำเนินการพัฒนาวัดเรื่อยๆ มา

“การที่กรมศิลปากรระบุว่า เป็นศาลารายสมัยรัชกาลที่ 3 ทางวัดมีหลักฐานว่าได้พังหมดแล้ว มีการบันทึกภาพถ่ายทั้งหมดว่า พังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 เหลือเพียง 2 หลัง และมีภาพถ่ายชัดเจน ว่าศาลาราย สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นศาลากระเบื้องเกร็ดเล็กเรียงเป็นแถว แต่ในปัจจุบันเป็นเก๋งจีน เข้าใจว่าทำในสมัยรัชกาลที่ 9 ในระหว่างที่รื้อถอนยังเจอเหล็กเส้นครบถ้วน

...

ทั้งนี้ หากศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดีดังกล่าว ทางวัดจะไปฟ้องที่ศาลปกครอง ขอพิจารณาคดีใหม่ หากมีคำตัดสินว่าเป็นโบราณสถานก็ถือว่าเป็นศูนย์ พร้อมที่จะเริ่มใหม่ให้กรมศิลปากร มากำหนดว่าตรงไหนเป็นโบราณสถานบ้าง อย่างไรก็ตาม ในเมื่อยังไม่มีคำตัดสิน จะยังคงยืนยันดำเนินการต่อไป แม้คดียังอยู่ในการพิจารณาชั้นศาล เนื่องจากวัดจะมีการจัดงานเฉลิมฉลอง ครบรอบ 190 ปีในอีก 2 ปีข้างหน้า จึงอยากให้แล้วเสร็จทัน และขณะนี้อยู่ระหว่างการบูรณะเก๋งจีน ปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าน้ำให้สวยงาม.