เมื่อสัปดาห์ที่แล้วในการประชุมระดับโลก “วอร์ตัน โกบอล ฟอรั่ม ครั้งที่ 47” ที่โรงแรมแชงกรี-ลา จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับเดอะ วอร์ตันสกูล มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้รับเชิญไปกล่าวปาฐกถาพิเศษ ได้กล่าวกระทบชิ่งไปถึงสหรัฐอเมริกาว่า...ในการตัดเสื้อนั้นจะตัดตัวเดียวให้ทุกคนใส่ไม่ได้ ต้องมีหลายขนาดตามความเหมาะสม
จึงต้องมีช่างตัดให้ จะตัดเสื้อตัวเดียวให้คนทั้งโลกใส่ไม่ได้ เพราะแต่ละประเทศมีปัญหาต่างกัน
กลายเป็นประเด็นฮือฮาพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ และนำไปถกกันต่อใน “สภาออนไลน์” (สมัยนี้ไม่ค่อยมีสภากาแฟแล้ว) อย่างกว้างขวาง
บิ๊กตู่คงหมายถึงความพยายามทั้งทางตรง ทางอ้อม เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาสวมเสื้อประชาธิปไตยที่สหรัฐฯมักทำตัวเป็นนายช่างใหญ่ตัดเสื้อประเภทนี้ส่งไปให้ประเทศต่างๆทั่วโลกสวมใส่
วันนี้ผมขออนุญาตร่วมวงถกด้วยคนนะครับ ในฐานะที่คุ้นเคยกับคำอุปมาอุปไมย “เสื้อไซส์เดียวบังคับทุกคนใส่” มาพอสมควร
สำนวนนี้มาจากภาษาอังกฤษที่ว่า “One Size fits all” หรือ ไซส์เดียว ขนาดเดียว เบอร์เดียว ใส่ได้หมดทุกคนนั่นแหละครับ
ผมได้ยินคนพูดและทราบความหมายเป็นครั้งแรก ในช่วงจัดทำแผนพัฒนาฉบับที่ 3 พ.ศ.2515-2519
ช่วงนั้นผมยังเป็นเจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆทำหน้าที่จดบันทึกการประชุมสัมมนา ได้ยินข้าราชการนักพัฒนารุ่นพี่ กับอาจารย์มหาวิทยาลัยถกเถียงกันเรื่อง “เสื้อขนาดเดียวใส่ทั่วประเทศไทย” อย่างดุเดือด
อาจารย์มหาวิทยาลัยบอกว่า การพัฒนาประเทศใน 2 แผนที่
ผ่านมา รัฐบาลโดยกระทรวงต่างๆนั่งคิดโครงการไปจากกรุงเทพฯ แล้วก็สรุปว่า จะต้องมีโครงการประเภทนั้นประเภทนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย
...
เสร็จแล้วก็ส่งไปให้ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกตำบล และทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ดำเนินการพัฒนาตามโครงการนั้นๆ
สถานการณ์จึงเหมือนกับว่ารัฐบาลส่ง “เสื้อโหล” แบบเดียวกันไซส์เดียวกันไปให้ชาวบ้านใส่ทั้งประเทศ ทั้งๆที่บางพื้นที่มีแต่คนอ้วนและบางพื้นที่มีแต่คนผอม หรือบางพื้นที่ก็ไม่ต้องการเสื้อตัวนั้นเลย ส่งลงไปก็แขวนไว้ไม่มีใครใส่ เป็นการสิ้นเปลืองสูญเปล่า
วิธีนี้เรียกอีกอย่างว่า Top Down หรือการพัฒนาแบบชี้นิ้ว หรือสั่งการไปจากข้างบนหรือจากกรุงเทพฯ นั่นเอง
ทำให้การพัฒนาไม่ตรงจุด ไม่ได้ผลเต็มที่ เพราะมีการรั่วไหลและเบี่ยงเบนและส่วนมากก็สูญเปล่าเพราะเป็นเสื้อที่ไม่ตรงกับขนาดของชาวบ้านดังที่กล่าวไว้
บางท่านก็ยกตัวอย่างเพลง “ผู้ใหญ่ลี” มาล้อนักวางแผนเพราะเพลงลูกทุ่งเพลงนี้ซึ่งฮิตมากในยุคโน้น มีเนื้อร้องว่า “พ.ศ.2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม” เพื่อสั่งการให้ชาวบ้านไปเลี้ยงเป็ดและสุกรตามนโยบายของทางราชการที่สั่งการมาจากกรุงเทพฯ
ตาสีหัวคลอนราษฎรคนหนึ่งไม่เคยได้ยินคำว่า สุกร จึงถามผู้ใหญ่ลีว่าเจ้าตัวนี้คืออะไร? ซึ่งผู้ใหญ่ลีก็ตอบขึ้นทันใดว่า “สุกรนั้นไซร้คือหมาน้อยธรรมดาๆ” เรียกเสียงเฮฮาไปทั่วประเทศ
ไม่เพียงแต่จะเป็นเพลงขำๆเท่านั้น เพลงนี้ยังสะท้อนถึงการเบี่ยงเบนของการพัฒนาที่สั่งลงมาจากข้างบนอีกด้วย เพราะถ้าหากชาวบ้านเชื่อผู้ใหญ่ลีก็จะไปเลี้ยงหมาน้อยแทนหมูหรือสุกรกันหมดทั้งหมู่บ้าน
นอกจากนี้ยังเป็นการสะท้อนถึงการส่ง “เสื้อโหล” ที่อาจไม่ตรงขนาดลงไปยังหมู่บ้านด้วย เพราะบางหมู่บ้านอาจไม่เหมาะเลยกับการเลี้ยงสัตว์ แต่กลับจำต้องมาเลี้ยงหมู เลี้ยงสัตว์โดยไม่จำเป็น
เผอิญเพลงนี้ขึ้นต้นด้วย “พ.ศ.2504” ซึ่งเป็นปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ที่ประกาศใช้ โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงกลายเป็นตัวอย่างที่หยิบยกมาอ้างอิงเสมอ เวลาพูดถึงปัญหาการพัฒนาประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา
เรื่องนี้ทำท่าจะยาวเสียแล้วแฮะ...พรุ่งนี้ค่อยอ่านต่อละกันว่า นักวางแผนพัฒนารุ่นพี่ของผม (ป่านนี้คงขึ้นไปวางแผนพัฒนาสวรรค์ ฉบับที่เท่าไรก็ไม่รู้ เป็นส่วนใหญ่แล้ว) เขาโต้ตอบนักวิจารณ์ว่าอย่างไร
รวมทั้งจะวกกลับมาสู่ประเด็นที่บิ๊กตู่วิพากษ์สหรัฐอเมริกา กรณีจะให้สวมเสื้อประชาธิปไตยขนาดเดียวกันด้วยครับ เพราะวันนี้ยังไม่ทันเขียนถึงเลยเนื้อที่หมดซะแล้ว!
“ซูม”