เมื่อแบงก์ชาติประกาศลดดอกเบี้ย ตามภาษาทางการว่า 0.25 บาท ภาษาชาวบ้าน 1 สลึง กูรูด้านนี้ มีเรื่องให้พูดถึงข้อดีข้อไม่ดี... มากมาย เสียงใหญ่ฟังได้ว่า วิกฤติปัญหาเงินไม่เฟ้อ จนเป็นเงินฝืด... ผ่านเลยไปแล้ว ลดดอกเบี้ยตอนนี้ ก็ไม่ช่วยให้ดีขึ้น

คำ “1 สลึง” ชวนให้เด็กรุ่นผม...นึกถึงกลอนในปกหนังสือจักรๆวงศ์ๆ ที่แม่ซื้อมาอ่าน... “สลึงพึงรู้ท่านผู้ซื้อ หนังสือหน้าวัดเกาะเพราะนักหนา...” 1 สลึง ราคาตอนแม่ผมยังรุ่นสาว ตอนแม่แก่ ราคาเป็น “บาทขาดราคาเชิญมาซื้อ” ไปเสียแล้ว

เด็กวัดความรู้แบบงูๆปลาๆ พยายามคิดเท่าไหร่...ก็วนเวียนอยู่ได้แค่นี้

เปิดหนังสือ “ปรัชญาไส้ ฉบับสมบูรณ์” (สำนักพิมพ์มติชน 2557) ผมอยากรู้ นักเขียนรุ่นครู อย่าง อาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่เคยว่า ถ้าเขียนอะไรไม่ดี ไม่เหนือกว่าใคร ก็อย่าเขียน เขียนถึงเงิน “1 สลึง” ไว้บ้างหรือไม่

“พี่จินต์” เขียนไว้ เท่าที่ผมอ่านเจอ 2 เรื่อง

ขออนุญาตคัดย่อบางตอน เศรษฐศาสตร์ 1 สลึง (ฟ้าเมืองไทย ก.ค.2512)...เกียรติกินไม่ได้ แต่คนมีเกียรติกินอาหารเลวๆก็อิ่มได้ คน

มีเกียรติอาจจะผอม แต่จิตใจของเขาอ้วน

สลึงหนึ่งซื้อข้าวสารได้ 150 เม็ด แต่ก็ไม่สามารถจะหุงได้ เพราะตำราทำกับข้าวทุกเล่ม บังคับไว้ว่า จะหุงข้าวนั้น ให้นับตวงด้วยกระป๋อง มิให้นับเป็นเม็ด

เราเอาเหรียญสลึงนั้นมากินเข้าไปเลยดีกว่า...ถึงมันจะสกปรกก็ไม่ตาย แต่มันไม่ยักหายหิว

เพราะฉะนั้นคนฟุ่มเฟือยบางคน จึงซื้อของแล้วไม่รอเอาสลึงเดียว ที่เป็นเงินทอน

สุนทรภู่เขียนว่า มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท

นักคิดบอกว่า สะกดรอยให้ดีเถิด จะเห็นเหรียญสลึงทุกอัน เดินทางอย่างอดทนไปสู่อุ้งมือคนจน...แต่เขาก็รักษามันไว้ไม่ได้นาน ทั้งๆที่มันอันเล็กนิดเดียว

...

เรื่องที่ 2 (ฟ้าเมืองไทย ธ.ค.2515) อาจินต์ ปัญจพรรค์ เขียน “ความหมายหลบหนีของเหรียญสลึง”

เรามีความกล้าหาญเพียงแต่ขอดูหลักฐานปลอม ของคนที่ได้รับอนุญาตให้เรี่ยไรไปสร้างวัด สร้างโบสถ์ สร้างโรงเรียน แล้วเราก็ให้เขาไป 5 บาท 10 บาท ใส่ในซองกระดาษราคา 5 สตางค์ เพื่อที่จะตามไปทวงหนี้ เขาในนรก....

แต่เขาผู้กระทำการนั้น มีอยู่ในชีวิตจริง ชีวิตทุกวันนี้ต่อหน้าแดดและฝน มิใช่ชีวิตสวรรค์หรือนรกที่เขาไม่เคยเชื่อถือ เขาต้องการเงินแม้เพียง 10 สตางค์ 25 สตางค์ ไปเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัว

แม้ว่าใครก็ตามไปจับผิดเขา และฟ้องถึงมาตราประหารชีวิต ก็เถิด

แต่ว่าทุกวินาทีเขาจะต้องมีชีวิตอยู่ให้ได้ ก่อนเดินทางไปเป็นจำเลยของศาล

25 สตางค์ 1 สลึง เมื่อสมัยปู่ย่าของเรา มีความหมายหนักหนา จน กระทั่งเข้าไปอยู่ในบรรทัดของกวีว่า-เงินสลึงควรขอดผ้าติดกายสมัยเรามันก็ยังซื้อไม้ขีดไฟได้หนึ่งกลัก แต่มีเส้นตายเพียงเมื่อวานนี้ เดี๋ยวนี้ 1 สลึงจะทำอะไรได้

แม้ให้ขอทาน ก็ยังถูกขอทานดุ ให้ลูก–ลูกมันก็เบ้หน้า

มันมีความหมายอย่างเดียว คือกวักมือท้าให้นักสืบเดินตามสะกดรอยไปที่ที่หมายของมัน และเก้อ

อ่านเรื่อง “1 สลึง” ของอาจินต์ ปัญจพรรค์แล้ว ผมก็ซึม เซ่อ ไปเลย สารภาพว่าไม่มีทางที่จะคิดเขียนเรื่อง 1 สลึง ได้ลึกซึ้ง คมคาย เสียดแทงหัวใจ ได้เท่าพี่เขาเลย

เคราะห์ดีที่ยังคิดได้บ้างเล็กน้อย...ดอกเบี้ย 1 สลึง ที่ลดครั้งนี้...มีผลให้ดอกเบี้ยแบงก์ ของ ผู้เฒ่าสองคน หมาสองตัว แมว 3 ตัวที่แม่กลอง...ลดลง ถ้ามันน้อย จนไม่พอยาไส้...ก็คงต้องแบ่งปัน กินใช้ให้น้อยลง

คนแก่ที่กำลังเป็นคนส่วนมาก เป็นภาระให้สังคมอีก 10 ปีข้างหน้า...นอกจากเบี้ยเลี้ยง 500–700 บาท จากรัฐบาล...และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินดอกเบี้ยแบงก์ น่าจะพอมีชีวิตอยู่ได้

ยกเว้นคนแก่ที่เอาเงินไปฝากสหกรณ์ ที่ผู้บริหารสุมหัวกันกับวัดดัง เฉไฉไขว้เขว...โกงเอาเงินไป...

คนแก่พวกนี้ ถ้ารัฐไม่ช่วย ก็จะยิ่งขัดสน และคับแค้น...ทั้งพระทั้งคฤหัสถ์ขี้โกง ทำไมจึงลอยหน้าลอยตาอยู่ได้...ในบ้านเมืองที่ว่ามีขื่อมีแป.

กิเลน ประลองเชิง