ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผยกำลังพิจารณาเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 3 เส้น ยํ้ารัฐปรับลดเงื่อนไข-ลงทุน พร้อมสนับสนุน โดยจะให้เอกชนเข้ามาร่วมทุนในลักษณะ PPP ไม่ใช่การให้สัมปทานทั้งหมด...
วันที่ 26 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ "ธุรกิจไทยขับเคลื่อนสู่ความมั่งคั่งยั่งยืนด้วยมาตรฐานสากล" ว่า รู้สึกดีใจที่การขับเคลื่อนธุรกิจตรงกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ 2010 -2015 ในเรื่องของความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เพราะเมื่อมีความมั่นคงในทุกมิติ ทั้งการเมือง การทหาร และประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จะนำไปสู่ความมั่งคั่งในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน พร้อมทั้งต้องมีมาตรการป้องกันเสี่ยงที่ดีพอเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป
สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลจะดำเนินการคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะแผนพัฒนารถไฟประเทศไทย ซึ่งจะมีการทำรถไฟทางคู่ระยะทางกว่า 900 กม. แต่ในระยะแรกจะทำก่อน 600 กว่า กม. ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็ต้องมีการปรับปรุง และพัฒนา
โดยนายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่ากำลังพิจารณาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงใน 3 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-หัวหิน กรุงเทพฯ-พัทยา หรือกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่มีนักธุรกิจไทยบางรายให้ความสนใจและเสนอการร่วมลงทุนแล้ว ในลักษณะการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ผลประโยชน์เท่าเทียมกัน
"กระทรวงคมนาคมกำลังเชิญภาคเอกชนเข้ามาเจรจา ซึ่งมีหลายบริษัทรวมตัวกัน โดยจะเข้ามาร่วมทุนในลักษณะ PPP ไม่ใช่การให้สัมปทานทั้งหมด"
ส่วนการอนุมัติงบประมาณ 4 หมื่นล้านบาทให้กรมทางหลวงชนบทก่อสร้างโครงข่ายถนนเชื่อมโยง โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจทั่วประเทศ หากเราไม่มองภาพทั้งระบบคงไปไม่ได้ ดังนั้น การจะขยายการค้าการลงทุนสร้างความเข้มแข็ง ต้องพร้อมทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของสาธารณูปโภค
...
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า รัฐบาลพยายามปรับลดเงื่อนไข การลงทุน ลดขั้นตอนการดำเนินการ และรัฐบาลพร้อมสนับสนุนงานของภาคเอกชน เพื่อกระจายรายได้ให้กับคนจน ขณะนี้ ด้านการท่องเที่ยวไทยกำลังดีขึ้น เพราะเห็นภาพจากสนามบินที่ต่อคิวกันยาว ซึ่งคิดว่ามีนักท่องเที่ยวต้องการมาเที่ยวในบ้านเมืองที่มีกฎหมายพิเศษ เพราะคงคิดว่าปลอดภัยดี
ส่วนเรื่องการบินไทยนั้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างของการบินไทย โดยไม่อยากให้โทษว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากใคร ขณะที่ด้านการผลิต สินค้าทางการเกษตรได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ไปดูแลในเรื่องของรายได้เกษตรกร ต้นทุนการผลิต รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต เพื่อจะได้เสริมสร้างการค้าการลงทุนขนาดใหญ่
โดยจะมีการตั้งโรงงานทั้งในและนอกประเทศ เพื่อใช้สิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ซึ่งคาดหวังว่านอกจากงบประมาณ 4 หมื่นล้านบาทที่อนุมัติไปแล้ว ก็จะมีเรื่องของการลงทุนเพิ่มเติมอีก ทั้งในด้านของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมดำเนินนโยบายเพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนสู่สังคมสีเขียวและเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ส่วนภาคประชาสังคม ต้องมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้น
อีกทั้งให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านพลังงาน ด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันด้วย นายกรัฐมนตรี ได้แนะนำให้ทุกบริษัทสร้างวัฒนธรรมองค์กรของตัวเองให้ได้บุคลกรที่มีคุณธรรม และจริยธรรมจะนำไปสู่องค์กรที่ดีและอยู่ด้วยกันอย่างมีธรรมาภิบาล แต่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ดูแลซึ่งกันและกันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า ไม่ต้องการเป็นศัตรูกับใคร แต่ต้องแก้ปัญหาและต้องการให้ทุกคนยอมรับการเข้ามา เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในองค์กร โดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้เขียนปณิธานทำความดีว่าจะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ทุกวัน ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ต้องทำเพื่อยุติปัญหาที่ผ่านมา ซึ่งอยากให้ผู้ประกอบการในที่นี้ได้เข้าใจถึงเหตุผลที่ตนเองเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้
"ไทยพร้อมร่วมมือทุกประการกับต่างประเทศที่มีความร่วมมือทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งมีอยู่หลายฉบับ แต่พบว่าที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินการ เมื่อถึงวันนี้ตนรับปากจะดำเนินการ ก็นำมาศึกษาและดำเนินการต่อได้จนสำเร็จไปหลายเรื่อง"
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกบริษัทต้องดูแลสังคมร่วมกับรัฐบาล เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือกัน พร้อมหยอกล้อผู้ประกอบการ ว่าจะให้รัฐบาลใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อให้มาทำงานร่วมกับรัฐบาลดีหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าทุกวันนี้คิดจนปวดหัว โดยเฉพาะเรื่องของแม่น้ำ 5 สายของรัฐบาลที่ยังออกนอกเส้นทาง แต่ต้องพยายามรวบรวมให้ไหลลงในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อดำเนินไปสู่การปฏิรูป พร้อมย้ำทุกอย่างต้องว่าไปตามกระบวนการกฎหมาย และสร้างความเป็นธรรมต่อกัน ซึ่งหากทุกคนเข้าสู่กระบวนยุติธรรมทุกอย่างสามารถหาข้อยุติได้
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าจนส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวนั้นว่า การเบิกจ่ายงบประมาณที่ผ่านมาของรัฐบาลเป็นปกติ มีขั้นตอน กว่าจะเบิกจ่ายได้ต้องผ่าน 6 ขั้นตอน เพราะเป็นเรื่องของการตรวจสอบ วันนี้จึงได้สั่งการให้มีการลดขั้นตอน ทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด กระทรวงมหาดไทยเข้าไปดูแลบูรณาการให้ได้
"การเบิกจ่ายงบอย่างรวดเร็วที่ผ่านมาผ่านไปได้อย่างไร เพราะต้องย้อนดู แต่ไม่อยากว่าใครทุจริต ถึงอย่างไรวันนี้ก็ต้องสร้างใหม่ให้เร็วขึ้นลดขั้นตอนต้องน้อยลง โดยสอนการเรียนรู้การบริหารราชการแผ่นดินสมัยใหม่ให้กับองค์กรการบริหารส่วน ท้องถิ่น รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในระดับล่างให้เข้าใจตรงกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ขณะนี้โครงการต่างๆ มีการทำสัญญาไปแล้วร้อยละ 20 ทั้งนี้เชื่อว่าการเบิกจ่ายจะเร็วขึ้นในช่วงไตรมาส 2 โดยไตรมาสแรกควรจะออกให้ได้ร้อยละ 30 ดังนั้นในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวต้องเพิ่มการลงทุนของรัฐ เอาเงินของรัฐลงมาให้มาก เพราะฉะนั้นในไตรมาสที่ 1 และ 2 จะมีการอนุมัติงบประมาณมากขึ้น
"ข้าราชการไม่มีปัญหาเรื่องเกียร์ว่าง เพราะมีทั้ง คสช. และกระทรวง ช่วยกันลงไปในพื้นที่ ประกอบกับต้องรายงานให้ตนเองทราบทุกเดือน ถ้าทำตามกติกาและตั้งใจทำก็ไม่ต้องกลัวเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว.