ครับ! ก็มาถึงบทส่งท้ายของมินิซีรีส์ชุด “เมืองน่าน” กันเสียที ทั้งๆที่ความจริงยังมีเรื่องราวให้เขียนถึงอีกมาก...แต่ตามหลักการเขียนบทความประจำวันนั้น คุณครูท่านสอนว่าอย่าเขียนเรื่องเดียวติดต่อกันหลายวัน เดี๋ยวคนจะเบื่อ

ผมเขียนถึงเมืองน่านมา 5 วันเต็มๆ คงจะได้เวลาจบกันเสียทีละ

และเพื่อให้การจบสารคดีชุดนี้มีประโยชน์ต่อจังหวัดน่านบ้างไม่มากก็น้อย ผมก็ขอทำหน้าที่แทน สำนักงานจังหวัดน่าน และสำนักงาน ททท. แพร่ที่รับผิดชอบการท่องเที่ยวใน 3 จังหวัด แพร่ น่าน อุตรดิตถ์...แนะนำแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆของเมืองน่านก็แล้วกัน

เผื่อจะช่วยให้ท่านที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะไปไหนดีในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาพักร้อนของคนไทยจำนวนไม่น้อยเลือกตัดสินใจไปเที่ยวน่านสักครั้งหนึ่งในชีวิต

นอกจาก วัดภูมินทร์ วัดหนึ่งเดียวในเมืองไทยที่มีพระวิหาร พระอุโบสถและเจดีย์ทรงจัตุรมุขอยู่ในที่เดียวกันเทินไว้กลางลำตัวพญานาคคู่ พร้อมด้วยมีภาพจิตรกรรม “กระซิบรักบันลือโลก” ในพระอุโบสถดังที่ผมเขียนไว้ก่อนแล้ว

ยังมี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ที่เก็บรวบรวมเรื่องราวของเมืองน่านไว้ครบถ้วนอยู่ในอำเภอเมือง, มี วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดเก่าจากสุโขทัยไปถึงน่าน อยู่ในอำเภอเมือง, มี หอศิลป์ริมน่าน อยู่ห่างจากตัวเมืองราว 20 กิโลเมตรเท่านั้น

ที่สำคัญก็คือ พระธาตุแช่แห้ง ที่พี่น้องชาวไทยรู้จักทั่วประเทศในฐานะวัดเก่าแก่คู่เมืองน่าน ตั้งอยู่ที่อำเภอภูเพียง ห่างจากเมืองน่านแค่นั่งรถยนต์ 15-20 นาทีเท่านั้นเอง

ส่วนนอกตัวเมืองก็จะมี ดอยเสมอดาว ที่ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน อ.นาน้อย ที่ร่ำลือกันว่าโรแมนติกมาก หรือที่ อุทยานแห่งชาติขุนสถาน ซึ่งจะมีสีชมพูบานสะพรั่งระบายไปทั่วทิวเขา นี่ก็อยู่ที่ อ.นาน้อยเช่นกัน

...

ในขณะที่ เส้นทาง 1148 จาก อ.ท่าวังผา จ.น่าน ไปสู่อำเภอเชียงคำ จ.พะเยา นั้น ก็ร่ำลือกันว่าเป็นถนนที่สวยที่สุดและโรแมนติกอีกสายหนึ่งของประเทศ

ยังมี บ่อเกลือ สืบสานตำนานต้มเกลือสินเธาว์บนภูเขาที่ อ.บ่อเกลือ ซึ่งอยู่ไกลหน่อยจากตัวเมืองน่านประมาณ 133 กิโลเมตร และอำเภอที่นิตยสาร อสท. ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฉบับล่าสุดแนะนำไว้ ได้แก่ อำเภอปัว หรือเมืองปัว ห่างจากอำเภอเมืองเท่าไรจำไม่ได้แล้ว จำได้แต่ว่า เป็นอำเภอเล็กๆเงียบๆ มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ลองไปน่านดูบ้างนะครับ ขับรถไปเองเลยก็ได้ จากกรุงเทพฯใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ไปนครสวรรค์ จากนครสวรรค์ใช้ทางหลวงหมายเลข 117 ไปถึงพิษณุโลก จากนั้นก็ใช้ทางหลวงหมายเลข 11 ผ่านอุตรดิตถ์ไปจนถึงแพร่ แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ไปถึงน่านได้เลย

รวมระยะทางทั้งหมด 668 กิโลเมตรพอดีเป๊ะ ขับรถกันไปเรื่อยๆ

ไม่ต้องเหยียบคันเร่งมากนัก ประมาณ 7-8 ชั่วโมง ไปเช้าถึงเย็นๆก่อนคํ่าสบายๆ

ส่วนจะไปรถทัวร์หรือรถ บขส. ก็มีบริการเช่นกัน จากสถานีขนส่งสายเหนือหมอชิต 2 มีรถออกทุกวัน โปรดสอบถามหาข้อมูลได้ตามสะดวก

หรือถ้าจะไปเครื่องบินก็มีทั้งของสายการบิน แอร์เอเชีย และ นกแอร์ เข้าใจว่าวันหนึ่งๆมีหลายเที่ยว

สำหรับ นกแอร์ ที่มีข่าวว่าประตูปิดไม่ได้ เมื่อวันรุ่งขึ้นหลังจากงานเฉลิมฉลอง 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนผู้ใหญ่หลายท่านต้องนั่งรออยู่หลายชั่วโมงนั้น ทราบว่าทุกอย่างลงตัวเข้าที่แล้วครับ

วันก่อนที่ประตูปิดไม่ได้ เพราะเครื่องใหม่เกินไป คนใช้ยังไม่คล่อง ล่าสุด สมใจนึก เองตระกูล บอร์ดนกแอร์ แวะมางานทำบุญครบรอบวันอนิจกรรม ผอ.กำพล วัชรพล ที่โรงพิมพ์ไทยรัฐ กระซิบผมว่าขณะนี้ใช้คล่องแล้วกดปุ่มโน่นปุ่มนี่โดยไม่มีติดขัด

ครับ! ก็ถือโอกาสฝากจังหวัดน่านไว้ในเป้าหมายการท่องเที่ยวของท่านด้วย นอกจากจะไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแบบบรรยากาศชิลๆ

สงบเงียบแล้ว ก็ไปให้กำลังใจคนน่านที่กำลังรณรงค์และดำเนินงานตามโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” เสียด้วยพร้อมๆกัน
ป่าน่านจะได้กลับมาเจริญงอกงาม เป็นแหล่งนํ้าของแม่นํ้าเจ้าพระยาของเรา ผ่านลำนํ้ายม ลำนํ้าน่าน ทำให้พวกเราที่อยู่ในภาค กลางและ กทม. ริมฝั่งเจ้าพระยามีนํ้าดื่มนํ้ากินไปโดยไม่ขาดแคลนในอนาคตตราบกาลนาน ว่างั้นเถอะครับ.

“ซูม”