ทริป อย. แอ่วน่านม่วนใจ๋ คราวนี้ คนจัดเขาพยายามให้มีหลากรส ทั้งไหว้พระ ทำบุญ เข้าหมู่บ้านดูโครงการดีๆ รวมถึงไปเที่ยวชมเสน่ห์แห่งเกลือตำนานที่เป็นไฮไลต์อันพลาดไม่ได้ในการเยือนเมืองน่าน
วันที่สองของการเดินทาง ไหว้พระเอาฤกษ์ เอาชัยกันเสียก่อน ที่ วัดพระบรมธาตุแช่แห้ง พระธาตุคู่บ้านคู่เมือง ที่อยู่ห่างตัวเมืองน่านไปแค่ 2 กิโลเมตร ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามประวัติบอกว่าสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.1896 หรือราว 600 ปีเศษ องค์พระธาตุตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส บุด้วยแผ่นทองเหลือง ทำให้ดูเหลืองอร่ามยามต้องกับแสงแดดจ้า
สาเหตุที่เรียกว่า พระธาตุแช่แห้ง เพราะองค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยชื่อว่า ภูเพียงแช่แห้ง ถือเป็นโบราณสถานที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของอาณาจักรล้านนา
มีตำนานเล่าสืบต่อกันมามากสำหรับพระบรมธาตุองค์นี้ แต่ที่เกิดเหตุเป็นอัศจรรย์ เห็นจะเป็นช่วงปี พ.ศ.2331 เจ้าหลวงอัตถวรปัญโญได้ครองเมืองน่าน ขณะนั้นเมืองน่านรกร้างว่างเปล่า ไม่มีชาวบ้านอยู่เลย ยอดพระเจดีย์แช่แห้งก็ถูกโจรมาหักเอายอดเกิ้ง (ฉัตร) ลงไปเสีย ศาสนาดูมัวหมอง เจ้าหลวงอัตถวรปัญโญจึงพาเจ้านายท้าวขุนและรัฐบาลไปร่วมกันแผ้วถางวัดหลวงแช่แห้ง บริเวณลานมหาธาตุ โดยเริ่มต้นก่อสร้างประตูโขงขึ้นก่อนและตั้งนั่งร้านมหาธาตุ เอาแกนเหล็กอันเก่าลงมาทำใหม่ ต่อแกนเหล็กเพิ่มขึ้น เพิ่มฉัตร จาก 7 ชั้น เป็น 9 ชั้น แล้วสร้างรูปหงส์ตัวหนึ่งให้คาบฉัตรขึ้น ว่ากันว่าในวันที่ยกฉัตรขึ้นนั้น ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น 7 อย่างคือ
1.มีคชฌราชา (พระยาแร้ง) 4 ตัว มาร่อนอยู่ที่พระธาตุเจ้า 2.ได้ยินเสียงเหมือนเสียงนกยูงบินมาแต่ทางทิศใต้ แต่เมื่อเล็งดูก็ไม่เห็น 3.มีงูตัวหนึ่งตามเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญเข้าไปในบริเวณมหาธาตุเจ้าแล้วกลับหายไป 4.ขณะเมื่อชักรูปหงส์คาบเกิ้งขึ้นนั้น อันว่ากลีบเมฆทั้งหลายก็กลับหายไปหมด ใต้พื้นฟ้าอากาศเบื้องบนก็สว่างสุกใสบริสุทธิ์มาก 5.ดาวยังท้องฟ้าก็ปรากฏให้เห็นเมื่อเที่ยงวันนั้นเอง 6.ฝนก็ตกลงมาเห็นเม็ดอยู่ แต่ก็ไม่ถูกคนทั้งหลายสักคน จะจับเม็ดฝนก็ไม่ได้ 7.ฝนตกนาน 2 วัน จึงหายไป
...
ชาวบ้านชาวเมืองเล่าเรื่องนี้สืบต่อกันมา แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระธาตุ นอกจากนี้ พระธาตุแช่แห้งยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีเถาะด้วย ทุกๆปีระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งในประเพณีล้านนาจะไม่เหมือนที่อื่นเดือน 6 ของล้านนา จะอยู่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นมีนาคมของทุกปี จะมีงานนมัสการพระธาตุแช่แห้งเป็นงานใหญ่ ใครไม่ติดอะไรก็วางแผนไปเที่ยวเมืองน่านช่วงนี้ จะได้มีโอกาสร่วมงานนมัสการพระธาตุแช่แห้งด้วย และยังได้มีโอกาสสัมผัสงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมสกุลช่างน่าน และบางส่วนก็ได้อิทธิพลมาจากศิลปะพม่าที่บอกได้คำเดียวว่า แตกต่างจากช่างเชียงใหม่แน่นอน
ภายในวัดพระบรมธาตุแช่แห้ง ยังมีวิหารพระนอนอยู่ทางด้านหน้านอกกำแพงแก้วขององค์พระธาตุ พระนอนองค์นี้เป็นพระปางปรินิพพาน ไม่ใช่ไสยาสน์ ดูจากพระบาทสองข้างที่เทียบเสมอกัน มีโอกาสควรแวะเข้าไปกราบไหว้เป็นสิริมงคลให้เห็นสัจธรรมชีวิตของการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดของพระพุทธองค์ด้วย
ออกจากพระธาตุแช่แห้ง เป้าหมายต่อไปคือ ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา โครงการตามพระราชดำริของสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งที่เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรและทอดพระเนตรบ่อเกลือ สินเธาว์ ที่บ้านบ่อหลวง เมืองน่าน เมื่อประมาณปี 2538 ทรงเห็นสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรที่มีความด้อยโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม จึงมีพระราชดำริให้สำนักงานโครงการส่วนพระองค์ฯดำเนินการช่วยเหลือ พัฒนาพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ โปรดฯให้จัดตั้งศูนย์ภูฟ้าพัฒนาขึ้นเมื่อเดือน พ.ย.2542 เพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้การพัฒนาไปสู่พื้นที่และราษฎรในพื้นที่เป้าหมาย
ที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาแห่งนี้ นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่ช่วยเหลือชุมชนแล้ว บรรยากาศยังโรแมนติก สวยงาม เคยเป็นที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Yes or No ภาค 2 มาแล้วด้วย
ช่วงที่เราไปถึงนั้น หมอกเริ่มจางลงแล้ว ท้องฟ้าบนดอยเป็นสีฟ้าสด สวยงามมากๆ อุณหภูมิน่าจะอยู่ที่ประมาณ 20 องศานิดๆ กำลังเย็นสบายเลยทีเดียว แถมยังเป็นอากาศบริสุทธิ์ไม่เจือเปื้อนมลพิษ ทั้งผู้บริหาร อย. สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ ถ่ายภาพกันจนอิ่ม เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯบอกว่า สมเด็จพระเทพฯทรงโปรดที่นี่มาก จะเสด็จมาทุกปี บางปีเสด็จหลายครั้ง
ที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาแห่งนี้ นอกจากจะเป็นต้นแบบของแปลงเกษตร การปลูกไม้ดอกไม้ผลแล้ว ยังมีที่พักสำหรับบริการนักท่องเที่ยวด้วย ใครที่ชอบการเที่ยวเมืองเล็กๆ น่ารักๆ อยู่อย่างสงบแนะนำเลยที่นี่ ห้องพักมีหลายแบบ ราคาก็ถูกมาก ห้องพักแบบรวมมีทั้งหมด 4 ห้อง พักได้ห้องละ 18 คน ราคาคนละ 100 บาทต่อคืน ส่วนห้องพักแบบเดี่ยว เป็นห้องพักเตียงเดี่ยวและเตียงคู่ ห้องพัก VIP คืนละ 500 บาท พักได้ 2 คน ห้องพักธรรมดา คืนละ 900 บาท พักได้ 4 คน ราคานี้ไม่รวมอาหารเช้านะคะ...
...
ถ้ามาพักที่นี่ ตื่นมาตอนเช้าอาจได้ชมการเก็บใบชาภายในไร่ชาของศูนย์ฯหรือจะไปเที่ยวเล่นไร่มัลเบอร์รี่และผลไม้ ดอกไม้เมืองหนาวอื่นๆก็สามารถทำได้ เป็นความสุขอีกแบบที่หาไม่ได้แน่ๆในเมืองใหญ่
ออกจากศูนย์ภูฟ้าพัฒนา แวะรับประทานอาหารกลางวันรองท้องกันก่อนที่รีสอร์ตซึ่งทำเป็นร้านอาหารอยู่ด้วย ดูเหมือนจะมีอยู่ที่เดียวที่นี่ ที่สามารถรองรับคนได้มากหน่อย ก่อนเดินทางต่อไปยังบ่อเกลือสินเธาว์ หนึ่งในซิกเนเจอร์ของเมืองน่าน นอกจากภาพปู่ย่ากระซิบรักบันลือโลกที่วัดภูมินทร์
บ่อเกลือสินเธาว์ที่น่าน เป็นบ่อเกลือโบราณที่ทำให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองว่า เมืองน่านเป็นแหล่งเกลือขนาดใหญ่ ขนาดที่ส่งเกลือเป็นสินค้าออกในภาคเหนือ และแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่ชุมชนผลิตไม่ได้ โดยส่งไปกับกองคาราวานจีนฮ่อจากยูนนาน กวางสี และมณฑลอื่นๆในจีน โดยใช้เส้นทางสิบสองปันนา รัฐฉาน สู่เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เมืองสา (อำเภอเวียงสาในปัจจุบัน) และแพร่ รวมทั้งพ่อค้าไทเขินจากเชียงตุง และพ่อค้าวัวชาวไทลื้อจากอำเภอท่าวังผา
ในประวัติศาสตร์เขียนไว้ว่า พระยาติโลกราชแห่งเชียงใหม่ยกทัพมาตีน่านก็มุ่งหวังครอบครองบ่อเกลือซึ่งถือเป็นยุทธปัจจัยสำคัญสมัยนั้น และท้าวพญาในยุคนั้นก็ได้รับส่วนแบ่งจากส่วยเกลือนอกจากค่าธรรมเนียมและค่าปรับอื่นๆแล้ว
...
บ่อเกลือสำคัญในน่านมี 2 แห่งคือ บริเวณต้นน้ำว้า เป็นบ่อใหญ่ 2 บ่อ อีกแห่งคือบริเวณต้นน้ำน่าน มีบ่อใหญ่ 5 บ่อ และมีบ่อเล็กบ่อน้อยอีกจำนวนมาก ปัจจุบันชาวบ้านยังคงต้มเกลือด้วยวิธีแบบดั้งเดิม โดยตักน้ำเกลือจากบ่อส่งผ่านมาตามลำไม้ไผ่สู่บ่อพัก ก่อนจะนำน้ำเกลือมาต้มในกระทะใบบัวขนาดใหญ่ เคี่ยวจนน้ำงวดแห้ง ใส่ถุงวางขายกันหน้าบ้าน
เกลือเมืองน่านไม่มีไอโอดีนเหมือนเกลือทะเล ทางราชการ โดยกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง กรมอนามัย และ อย. ได้ส่งเสริมให้มีการเติมสารไอโอดีนก่อนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งนอกจากชาวบ่อเกลือจะมีอาชีพทำนาทำไร่แล้ว ยังมีรายได้จากเกลือสินเธาว์ และปัจจุบันอาจมีรายได้เพิ่มจากนักท่องเที่ยวที่พากันไปเที่ยวดูบ่อเกลือที่เมืองน่านกันไม่เว้นแต่ละวันเลยทีเดียว
ใครที่ยังไม่เคยไปเที่ยวเมืองน่าน แนะนำว่าให้รีบไป ก่อนเมืองเล็กๆน่ารักแห่งนี้ จะชอกช้ำด้วยน้ำมือมนุษย์ เหมือนเมืองปาย หรือแม้แต่เชียงคาน ที่กำลังจะกลายเป็นเมืองประดิษฐ์ ขาดความมีชีวิตไปอีกแห่ง...